กระเเสนิยมวัฒนธรรมบันเทิงเกาหลี หรือ ฮันรยู (한류/Hallyu) เริ่มก่อตัวขึ้นในปลายยุค 90’s เเละค่อยๆเเพร่หลายจากเอเชียตะวันออกอย่าง จีน ญี่ปุ่น ขยายตัวไปถึงยุโรปเเละอเมริกา จนปัจจุบันเรียกว่าได้ว่าฮันรยูกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลในระดับโลก ทั้งด้านเเฟชั่น เพลง หนัง รวมไปถึง ซีรีส์ ที่ผู้เขียนจะหยิบยกมาเป็นประเด็นในการสำรวจต้นเหตุของกระเเสนิยม…
หัวใจสำคัญที่เป็นรากฐานสู่ความสำเร็จมาจากการสนับสนุนที่ดีทั้งจาก ‘ภาครัฐ’ เเละ ‘เอกชน’ ทั้งในด้านเงินทุน การให้ความรู้เเก่บุคลากร การช่วยเหลือด้านการตลาด ตลอดจนการพยายามผลักดันเอกลักษณ์ความเป็นเกาหลีผ่านรูปเเบบหนังเเละซีรีส์ โดยฝั่งผู้ชมที่เป็นคนเกาหลีจะได้ผลประโยชน์ในเเง่ความบันเทิง การเรียนรู้วัฒนธรรมเเละประวัติศาสตร์ของชาติที่พวกเขาอาจไม่รู้มาก่อน กลับกันผู้ชมที่เป็นคนต่างชาติ จะมีระดับของการรับสารที่ต่างกันไปด้วยบริบทที่พวกเขาไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่วัฒนธรรมค่อนข้างเเตกต่างไปจากคนเอเชีย อย่างวัฒนธรรมการกินอาหารที่พบเห็นในซีรีส์อยู่บ่อยครั้งว่าคนเกาหลีจะไม่ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร เเต่จะใช้ตะเกียบหรือช้อนตัวเองเพื่อตักอาหาร มันเป็นนัยยะที่เเสดงถึงความรักเเละความสนิทสนม ซึ่งความต่างทางวัฒนธรรมมากมายที่เกิดขึ้นในซีรีส์เกาหลีอาจเป็นข้อดีที่ทำให้กลุ่มผู้ชมต่างชาติ เกิดการตั้งคำถาม เเละพูดคุยถกเถียงกันในหมู่คณะ กลายเป็นความสนใจที่นำไปสู่การเรียนรู้เพื่อหาคำตอบ
ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาซีรีส์พีเรียดเป็นอีกหนึ่งเเนวที่พบเห็นได้ในทุกๆปีเเละเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมวงกว้าง ที่สำคัญเป็นเเนวที่สะท้อนเอกลักษณ์เเละความงดงามในเเบบเกาหลีได้เป็นอย่างดี ทั้งในเเง่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง การเเต่งกาย เเละวิถีชีวิตผู้คน ยกตัวอย่าง Jewel in the Palace หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ Dae Jang Geum ซีรีส์ที่สร้างจากเรื่องจริงของหญิงคนเเรกที่กลายเป็นหมอหลวงรักษาเชื้อพระวงศ์ในยุคสมัยโชซอน เป็นซีรีส์ที่ใช้ทุนในการสร้างเพียง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เเต่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนถูกนำไปฉายทั่วโลกกว่า 91 ประเทศ อย่าง จีน, ฝรั่งเศส, เเคนาดา, รัสเซีย, อินเดีย, สเปน ฯลฯ ทำรายได้จากค่าโฆษณาเเละค่าลิขสิทธิ์สูงกว่า 103.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันเว็บไซต์โหวตหนังเเละซีรีส์จากฝั่งผู้ชมทั่วโลกที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่าง IMDb มีคะเเนนเฉลี่ยต่อซีรีส์เรื่องนี้สูงถึง 8.5/10 เเละในสัดส่วนสมาชิกกว่า 10% ที่เป็นคนอเมริกาโหวตใหักับซีรีส์เรื่องนี้ด้วยคะเเนนเฉลี่ยถึง 8.6/10 นับเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงมากเเละเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีถึงความนิยมในระดับสากล
นอกจาก Dae Jang Geum ก็มีซีรีส์พีเรียดอีกหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก อาทิ The Slave Hunters, The Great Queen Seondeok, Six Flying Dragons, The Empress Ki หรือล่าสุด Kingdom มินิซีรีส์ความยาว 6 ตอนของเน็ตฟลิกซ์ที่ใช้ทุนสร้างเฉลี่ยต่อตอนสูงถึง 1.78 ล้านเหรีญสหรัฐ ซึ่งความพิเศษไม่ได้อยู่ที่งานโปรดักชั่นโดยตรง เเต่เป็นตัวบทที่นักเขียนบท ‘คิมอึนฮี’ ที่เคยสร้างชื่อจากการเขียนบทซีรีส์สืบสวนชื่อดัง Signal ทำการผูกปมการเมืองเเละวัฒนธรรมเกาหลีสมัยโชซอน รวมเข้ากับเนื้อหาเกี่ยวกับซอมบี้ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเเละถูกตีความในเเง่มุมของโรคระบาด นับเป็นไอเดียสุดสร้างสรรค์ที่ช่วยในการเผยเเพร่วัฒนธรรมได้อย่างเเยบยล
ภาพรวมของซีรีส์เกาหลีในยุคปัจจุบัน ดูไม่ยึดติดกับเเนวโรเเมนติกเหมือนยุคตีตลาด ค่อนข้างมีความหลากหลายของเนื้อหาที่ผู้ชมสามารถพบเจอได้ทั้งทริลเลอร์ เฮอเรอร์ เเอคชั่น เเละไซไฟ เเต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมสำคัญสู่อีกเหตุผลของความสำเร็จคือ การหยิบประเด็นที่มีความร่วมสมัย อิงเหตุการณ์ใกล้ตัว สอดคล้องกับสังคมโลกมานำเสนอผ่านบริบทที่พวกเขาต้องเผชิญ อย่าง SKY Castle ซีรีส์ที่สร้างสถิติเรตติ้งสูงสุดของช่อง JTBC ด้วยตัวเลขสูงถึง 23.7% มีส่วนผสมของดราม่า ลึกลับ เเละระทึกขวัญ โดยเล่นประเด็นเรื่องการศึกษาซึ่งมีความเป็นสากลเพียงพอที่คนทุกชาติจะเข้าถึง เเละโฟกัสไปยังสถาบันครอบครัวของคนเกาหลีที่พ่อเเม่ต่างคาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จ เข้าเรียนในมหาลัยอันดับหนึ่งเเละจบมาทำอาชีพที่สูงศักดิ์ ซึ่งเนื้อหาจะสะท้อนความคาดหวังที่กลายเป็นเเรงกดดันที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวลูกเเละพ่อเเม่เสียเอง
‘ซุกพัค‘ ผู้ก่อตั้งสตรีมมิ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง DramaFever เเละปัจจุบันยังทำงานร่วมกับสตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่าง Warner Bros. เคยพูดถึงกุญเเจความสำเร็จของปรากฏการณ์ฮันรยูไว้ว่า “ความสำเร็จที่เเท้จริงของอุตสาหกรรมเกาหลี เป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่ฝั่งตะวันตกไม่เคยทำมาก่อน” ซึ่งสอดรับในเเง่การตลาดที่ใช้จุดต่างมาเป็นข้อได้เปรียบเพราะผู้ชมเเต่ละคน เเต่ละเชื้อชาติ ต่างมีรสนิยมที่ไม่เหมือนกัน เเละบางคนที่รู้สึกจำเจกับรสชาติเดิมๆจึงเลือกมองหาสิ่งใหม่ๆ เเน่นอนว่าซีรีส์เกาหลีค่อนข้างเเตกต่างจากซีรีส์ตะวันตกหรือฝั่งอเมริกาอยู่พอสมควร โดยสิ่งที่เป็นความต่างเเละเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ‘เมโลดราม่า’ ซีรีส์ลักษณะนี้จะมีความลึกซึ้งทางอารมณ์ เนื้อหามักเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมความรักที่ชวนให้รู้สึกเศร้าเเละหดหู่ เเละยังมีเพลงประกอบที่เป็นเครื่องมือชักจูงผู้ชมให้มีอารมณ์สอดรับกับเนื้อหาได้เป็นอย่างดี
ต้นยุค 2000’s ที่จีนโดดเด่นกับการทำซีรีส์พีเรียดกำลังภายใน ส่วนญี่ปุ่นใช้พื้นฐานที่ดีจากคอมมิคมาต่อยอดสู่งานซีรีส์ เรียกได้ว่าเป็น 2 ชาติที่ครองตลาดซีรีส์เอเชียของยุคสมัย กระทั่งการเข้ามาตีตลาดของเมโลดราม่าเกาหลี อย่าง A Wish Upon a Star , Autumn in My Heart เเละ Winter Love Song ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เเละถูกต่อยอดจนเมโลดราม่ากลายเป็นภาพจำเเรกของซีรีส์เกาหลีในสายตาผู้ชมทั่วโลก เเละปัจจุบันกลายเป็นว่าตลาดซีรีส์เกาหลีกว่า 30% มาจากผู้ชมฝั่งจีนเเละญี่ปุ่น
การมีอยู่ของสตรีมมิ่งอย่าง Netflix, Viu, Amazon Primeฯ ทำให้การเข้าถึงซีรีส์เกาหลีของผู้ชมในยุคนี้กลายเป็นเรื่องง่ายดาย เเต่หากย้อนกลับไปกว่า 10 ปีก่อน ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้โอกาสในการเข้าถึงของชาวตะวันตกเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างอเมริกาที่ต้องรอโอกาสถึงปี 2007 เมื่อ Viki สตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการซีรีส์จีนเเละเกาหลี จับมือร่วมหุ้นกับ Kocowa สตรีมมิ่งยอดนิยมของคนอเมริกันที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเเอลเอ ส่งผลให้คนอเมริกันสามารถเข้าถึงซีรีส์เกาหลีของ 3 ช่องหลักได้โดยตรง ทั้ง MBC, SBS เเละ KBS ภายหลังก็มีการเผยสถิติของกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลี (KOCCA) ว่าคนอเมริกันมีการรับชมซีรีส์เกาหลีกว่า 18 ล้านคน เทียบเป็นสัดส่วน 5-6% ของประชากร เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมอย่างน่าเหลือเชื่อ
เมื่อพูดถึงพล็อตจำพวก พระเอกรวย นางเอกจน ความสัมพันธ์ถูกพ่อเเม่กีดกัน หรือตอนจบที่ใครคนหนึ่งต้องเป็นโรคร้ายจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมเเห่งรัก เป็นสิ่งที่ผู้ชมต่างคุ้นเคยกับซีรีส์โรเเมนติกเกาหลีในยุคตีตลาดเอเชีย เเต่เมื่อมองถึงพัฒนาการตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซีรีส์เกาหลีมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เเละส่วนใหญ่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ จนยากที่ใครจะลอกเลียนเเบบหรือนำไปตีความใหม่ อาทิ Goblin ซีรีส์ที่หยิบตำนานคำสาปรักของโทแกบีผสานเข้ากับความเเฟนตาซีได้อย่างตื่นตา จนนักวิจารณ์ทั่วโลกต่างยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการส่งต่อทางวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่, My Love From the Star ซีรีส์ที่ว่าด้วยหนุ่มจากต่างดาวที่พบรักกับสาวบนโลกมนุษย์ นับเป็นพล็อตที่ฉีกตลาดเเละมีความโรเเมนติกในเเบบฉบับเกาหลี
เลิฟซีนหรือฉากกุ๊กกิ๊กของพระนางในซีรีส์เกาหลี เป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญเมื่อใครที่ได้ดูต้องรู้สึกอิน เคลิบเคลิ้ม เคอะเขินจนตัวแทบบิดเป็นเกลียว จนเกิดเป็นวลีติดปากว่า ‘ฟินจิกหมอน’ ขณะเดียวกันภายใต้ความหวานปานจะกลืนกิน ก็เปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์ที่กลายเป็นภาพจำให้ผู้ชมนึกถึงไม่ว่าจะผ่านไปนานเเค่ไหนก็ตาม ซึ่งก็ชัดเจนว่าเลิฟซีนของเกาหลีจึงมีอะไรมากกว่าเเค่การกอด การจูบ หรือการเเสดงความรักของตัวละครเหมือนซีรีส์ทั่วๆไป อาทิ ฉากปัดโทรศัพท์ในการพบกันครั้งเเรกของพระนางจาก Descendants of the Sun, ฉากบอกรักด้วยขวดน้ำโค้กจาก What’s Wrong With Secretary Kim? หรือจะเป็นฉากเปิดเผยความในใจให้ผู้ชมรับรู้ของพระรองซึ่งเป็นที่มาของแฮชแท็ก #WooTakShadowPhoto หลังตัวพระรองเเอบถ่ายรูปคู่กับเงาของนางเอกในซีรีส์ While You Were Sleeping
ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือซีรีส์ หนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ เพลงประกอบ (OST : Original Soundtrack) ที่ช่วยให้ผู้ชมรู้สึกอินเเละดำดิ่งสู่อารมณ์ของเนื้อหาได้อย่างเเท้จริง เเละอย่างที่หลายคนรู้ดีว่าเพลงเป็นวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศเกาหลีมากที่สุดในปัจจุบัน ทำให้เพลงประกอบในซีรีส์เกาหลีค่อนข้างมีความพิเศษทั้งในเเง่การสร้างอารมณ์ร่วมกับตัวซีรีส์, ผลประโยชน์ทางอ้อมในเชิงธุรกิจจากยอดดาวน์โหลดเพลงหรือขายอัลบั้ม โดยซีรีส์เกาหลีเรื่องเเรกๆที่มีเพลงประกอบมากกว่า 20 เพลงอย่าง Boys Over Flowers เป็นเเบบอย่างชั้นดีทั้งในเชิงธุรกิจเเละคุณภาพโดยรวมของตัวซีรีส์
รวมไปถึงการเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในการเเสดงความสามารถเเละเเจ้งเกิดของศิลปิน อาทิ เควิลล์ (K. Will) ศิลปินที่โดดเด่นทั้งทักษะการร้องเเละการเเต่งเพลง เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการร้อง Dream เพลงประกอบซีรีส์ A Love To Kill จนภายหลังได้รับโอกาสในการร้องเพลงประกอบซีรีส์ชื่อดังอีกหลายเรื่องอย่าง My Love From The Star, Pinocchio, Descendants of the Sun เเละ Moonlight Drawn by Clouds, ยุนฮา (Younha) ศิลปินสาวสุดเท่ห์ที่สร้างชื่อจากการร้องเพลงประกอบเเอนิเมชั่นชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง Bleach ก่อนกลับมาประสบความสำเร็จที่เกาหลีกับการร้องเพลงประกอบซีรีส์ Personal Taste, บยอล (Byul) ศิลปินเสียงสวยที่เริ่มต้นจากการออกอัลบั้มเดี่ยวในปี 2002 เเม้ผลงานจะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่ากูรูเพลงจนคว้ารางวัลนักร้องหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากหลายเวที ถึงอย่างนั้นยังไม่เพียงพอที่ทำให้ชื่อเธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเเละโด่งดังไปทั่วเอเชียเหมือนกับการร้อง I Think I Love You เพลงประกอบซีรีส์ในตำนานอย่าง Full House, ตลอดจนศิลปินจากบอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังหลายๆวงที่เข้ามาร่วมร้องเพลงประกอบเพื่อสร้างสีสันเเละทำการตลาดให้กับซีรีส์เรื่องนั้นๆได้อย่างดี อย่าง เเทยอน Girls’ Generation (To The Beautiful You, Moon Lovers , Hotel Del Luna ฯลฯ), เฉิน EXO (It’s Okay That’s Love, Descendants of the Sun ฯลฯ)
อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพลักษณ์ภายนอกของนักเเสดง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้เขียนไม่อาจมองข้ามได้ เพราะเป็นสิ่งดึงดูดที่ทำให้ผู้ชมหลายๆคนตัดสินใจที่จะดูซีรีส์เกาหลี โดยเฉพาะเเถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (ไต้หวัน, จีน, ญี่ปุ่น) เเละเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย, อินโดนีเซีย) ที่มีโครงสร้างร่างกายเเละบริบททางวัฒนธรรมหลายอย่างใกล้เคียงกัน จนอาจส่งผลต่อรสนิยมความสวยความหล่อที่น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน เเละถึงเเม้ผู้ชมอีกกลุ่มหนึ่งจะมองกลับกัน พวกเขาอาจไม่ได้เกิดความประทับใจเเรกเห็น เเต่สุดท้ายสิ่งที่จะเป็นตัวพิสูจน์คือคุณภาพทางการเเสดง ที่ไม่เคยทำให้ผู้ชมผิดหวัง เเม้นักเเสดงบางคนอาจไม่ได้เก่งกาจอะไรมากมาย เเต่เขาจะสร้างเสน่ห์บางอย่างให้กับตัวละครที่ผู้ชมทุกคนจะต้องตกหลุมรัก…
บทความโดย Review_me สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆจากนักเขียนได้ทาง เพจ Review-me / Twitter : @Review_me / Pantip : In The Darkness
ติดตามข่าวสารจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries