แฟนซีรีส์ Mr. Queen คงจะทราบดีว่า “พระมเหสีโซยง” นางเอกของเรา แท้จริงแล้วมีวิญญาณของ “เชฟจางบงฮวาน” เพลย์บอยหนุ่มจากโลกปัจจุบันสิงอยู่ บางทีก็ทำตัวห้าวๆ แมนๆ บางทีก็ใช้ภาษาแปลกๆ จนพระเจ้าชอลจงคนคลั่งรัก ต้องทรงพระราชนิพนธ์ “พจนานุกรมฉบับพระมเหสี” ขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจเมียสุดที่รัก จนแล้วจนรอดก็ยังเดาทางไม่ถูกซักที จึงเลือกที่จะ “ยอมรับ” แทนที่จะ “เข้าใจ” การใช้โค้ดลับที่ไม่ตรงกันของคู่นี้นั่นแหละ เลยเป็นที่มาของบทความหวานๆ (?) ต้อนรับวาเลนไทน์นี้ค่ะ จะเห็นว่า เวลาทั้งคู่อยากจะชวนอีกฝ่ายไปกุ๊กกิ๊กมีอะไรกัน พระมเหสีโซยงจะใช้โค้ดลับว่า “ไปกินรามยอนกันมั้ย?” ซึ่งเป็นแสลงฮิตของหนุ่มสาวยุคนี้ เวลาจะชวนแฟนมาทำอะไรแซ่บๆ ร้อนๆ ด้วยกันที่บ้าน ส่วนพระเจ้าชอลจงใช้โค้ดลับ 어흥 “ออฮึง” หรือ “โฮก” เสียงเสือคำราม บรรยายถึงซีนรักสุดเร่าร้อนของตนกับพระมเหสี ช่วงแรกดูเหมือนคู่นี้จะจูนไม่ตรงกันนะคะ ทั้งที่มีความปรารถนาร้อนแรงทั้งคู่ แต่ก็ผิดแผนบ่อยๆ แต่พักหลังดูจะเข้าขากันโดยไม่แคร์คำแปล ถ้าอย่างนั้น แล้วคนเกาหลีเขามี “โค้ดลับ-โค้ดรัก” ที่ใช้ส่งซิกระหว่างสามีภรรยายังไง ตามมาแซ่บกันค่า
รับฟัง Korseries Podcast EP.7 Mr. Queen ฝ่าบาท ‘โฮก’ มเหสี ‘กินรามยอน’ ว่าด้วย ‘เซ็กส์’ และ ‘โค้ดรัก’ ในยุคโชซอน (18+) ได้ทาง Spotify , Apple Podcasts , Google Podcasts
บทรักชาวโชซอน ไม่ง่ายอย่างที่คิด
ไม่รู้ว่าจะดับความฟินผู้อ่านตั้งแต่ต้นหรือเปล่านะคะ ถ้าจะบอกว่า “ชีวิตรักและเซ็กส์ของชนชั้นสูงยุคโชซอนนั้น ไม่โรแมนติกเอาเสียเลย” แต่ก็ขอปลอบใจล่วงหน้าไว้ค่ะว่า ความที่พระเจ้าชอลจง เคยใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนที่เกาะคังฮวา และเชฟจางบงฮวาน ที่มาจากโลกยุคปัจจุบัน ความโรแมนติก & อีโรติก ที่เราเห็นกันในซีรีส์ Mr. Queen นั้น อาจเกิดขึ้นก็ได้
ก่อนอื่นเคยสังเกตมั้ยคะว่า ซีรีส์พีเรียดเกี่ยวกับความรักของพระราชายุคโชซอน ส่วนใหญ่เป็นเลิฟสตอรี่ของพระราชากับสนม (หรือหญิงอื่นๆ ที่ไม่ใช่พระมเหสี) นอกจากนี้พระนางซีรีส์พีเรียดมักเจอกันปิ๊งกันตั้งแต่วัยเด็ก ที่เป็นอย่างนี้ก็มีเหตุผลนะคะ โชซอนเป็นสังคมที่สมาทานแนวคิดขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ที่แบ่งแยกหน้าที่ชายหญิงชัดเจน ผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า เลี้ยงดูครอบครัวและบริวารด้วยคุณธรรม ส่วนผู้หญิงจะบรรลุหน้าที่ความเป็นมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อ ได้เป็นแม่ของลูกชายที่ประสบความสำเร็จ สอบควากอ (จอหงวน) เข้ารับราชการได้ยิ่งดี แทบจะเรียกได้ว่า ผู้หญิงยุคโชซอนนั้น ถูกคาดหวังให้เป็นเพียง “เมีย” ,“แม่” , “ลูกสะใภ้” ที่ดี หากแตกแถวไปจากนี้ ก็ถือว่าประพฤติผิดกฎ ชิลกอ จีอัก 칠거 지악 (บาป 7 ประการ) อันประกอบไปด้วย ไม่เชื่อฟังพ่อแม่สามี , ไม่มีบุตรชาย , คบชู้ , อิจฉาริษยา , เป็นโรคทางพันธุกรรม , พูดมาก , ลักขโมย บ้านสามีสามารถขับไล่เธอให้พ้น และตัวเธอก็ไม่อาจกลับมาสู้หน้าครอบครัวตัวเอง เพราะพ่อแม่อับอายที่จะอ้าแขนต้อนรับบุตรสาวที่มีพฤติกรรมชั่วช้า
เด็กหญิงเด็กชายชนชั้นสูงในยุคโชซอนจะถูกจับแยกเมื่อตอนอายุ 7 ปี (5-6 ปีนับตามสากล) ค่ะ ถ้าเป็นพี่น้องหญิงชาย ยังสามารถเล่นและรับประทานอาหารร่วมกันในบ้านได้ แต่จะไปสุงสิงกับเด็กเพศตรงข้ามคนอื่นไม่ได้ ในขณะที่เด็กชายสามารถออกมาเรือนรับรองด้านนอก (사랑방 ซารังบัง) และออกไปเรียนโรงเรียนขงจื๊อ เข้าสอบรับราชการเป็นบัณฑิต เด็กผู้หญิงกลับอยู่ได้เพียงเรือนด้านใน (안방 อันบัง) เรียนหนังสือและเย็บปักถักร้อยอยู่ที่บ้าน นี่เป็นกฎของทางการเลยนะคะ เรียกว่า นัมจนยอบี 남존여비 (ชายมีสถานะเหนือหญิง) นอกจากนี้ผู้หญิงชนชั้นสูง ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้าน ยกเว้นหลังพระอาทิตย์ตกดิน แต่เธอต้องสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า 장옷 “ชังอด/จางอด” ด้วย ตามธรรมเนียมขงจื๊อที่ว่า สตรีชั้นสูงต้องไม่เปิดเผยร่างกายให้บุรุษเห็น และแม้อาณาจักรโชซอนจบไปตั้งแต่ปี 1910 แต่เชื่อมั้ยคะ ว่ากระทั่งปี 1950 ยังมีผู้หญิงเกาหลีบางคนที่ยังยึดหลักขงจื๊อหนักแน่น ไม่เคยออกจากบ้านตอนกลางวันเลย และบางคนที่ทั้งชีวิตไม่เคยออกไปไหน ไปได้ไกลสุดเพียงสวนหลังบ้าน
พระราชาโชซอน ไม่ถึง 10 ขวบก็แต่งงานแล้ว
ถ้าอย่างนั้น หญิงชายไม่เคยเจอกัน แล้วจะแต่งงานกันได้อย่างไรล่ะ? ก็ต้องบอกว่า ถ้าเป็นลูกขุนนางระดับกลางๆ ก็อาจจะใช้บริการ 중매 “ชุงแม/จุงแม” หรือ “แม่สื่อ” หาคู่ที่เหมาะสมให้ลูกตัวเอง แต่ถ้าเป็นพระราชา/รัชทายาทนั้น ไม่พ้นต้องถูกจับคลุมถุงชนกับลูกสาวขุนนางใหญ่ที่มีอิทธิพลการเมือง อย่างเช่น (พระมเหสีคิมโซยง จากตระกูลคิมเมืองอันดง , พระมเหสีมินอินฮยอน จากตระกูลมินเมืองยอฮึง) พ่อและญาติๆของพระมเหสีก็คือคนที่ชอบขัดใจพระราชาตอนประชุม
นอกจากนี้ฉากคัดตัวพระมเหสีที่เราเห็นบ่อยๆ ในซีรีส์ ความจริงคัดมาเฉพาะลูกสาวขุนนางอายุ 13-17 ปีเท่านั้นนะคะ พระราชา/รัชทายาทโชซอนแต่งงานไวกว่าที่คิด จะมีก็แค่พระเจ้าชอลจงของเรานี่ล่ะค่ะ ที่เข้าพิธีอภิเษกตอนอายุ 20 ปี (นับแบบสากล) นั่นก็เพราะกว่าจะพาพระองค์มาจากเกาะคังฮวา ก็อายุปาเข้าไป 18 ปีแล้ว จริงๆ ตอนมาถึงวังหลวงใหม่ๆ พระเจ้าชอลจงก็ถูกจับหมั้นหมายกับ คิมโซยง เลย และเข้าพิธีอภิเษกในอีก 2 ปีให้หลัง ส่วนพระราชาพระองค์อื่น ที่เราเห็นในซีรีส์ว่าแต่งงานตอนโตแล้ว ก็คิดว่าเกาหลีคงไม่อยากผลิตแนวคิด Underage Marriage หรือการแต่งงานในผู้เยาว์ให้เห็นกันบ่อยๆ จึงเลือกใช้วิธีพระนางปิ๊งกันตอนเด็กแทน สื่อถึงความรักอันบริสุทธิ์ก่อนจะเข้าพิธีกรรมที่โดนบังคับ ดังนั้นก็ไม่แปลกใช้มั้ยคะ ว่าทำไมพระราชาในซีรีส์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยโรแมนติกกับพระมเหสี นอกจากเป็นลูกคนที่ไม่ชอบ ก็ยังต้องมาแต่งงานตั้งแต่วัยยังไม่ประสา พระราชาชอบมีเลิฟสตอรี่กับนางสนมมากกว่า อย่างน้อยก็เป็นคนที่ตัวเองได้เลือกเอง เมื่อโตแล้ว
ทีนี้มาดูกันค่ะ ว่ารัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าชอลจง แต่งงานตอนอายุเท่าไหร่ (นับอายุแบบสากลนะคะ)
เป็นผู้หญิงโชซอน ห้าม “ฟิน”
นอกจากบังคับให้แต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก ชนชั้นสูงในโชซอนยังต้องระวังตัวเองไม่ให้พึงใจในกิจกรรมทางเพศ ใช่แล้วค่ะ การบอกว่ามีเซ็กส์แล้วสนุก มันส์สุดเหวี่ยงอะไรแบบนี้ ถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรม เป็นสาเหตุของโรคร้าย และอาจอายุสั้น ยิ่งถ้าแสดงออกถึงอารมณ์ในที่สาธารณะ ไปเม้าท์ให้เพื่อนสาวฟังเป็นฉากๆ แบบพระมเหสีโซยงด้วยแล้วละก็ ผู้นั้นจะถูกต้องโทษอย่างรุนแรงค่ะ หลักขงจื๊อได้ระบุไว้ว่า การไม่แสดงออกถึงความรู้สึก คือคุณธรรมประการหนึ่ง เป็นความสง่างามในแบบเกาหลี เหล่าชนชั้นสูงทั้งหลายจึงพยายามข่มใจไม่แสดงมันออกมา คุณ Charles Osgood นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ได้บอกว่า ผู้ชายโชซอนนั้นเย็นชาต่อผู้หญิงที่สุดแล้ว เนื่องจากถูกสอนให้เก็บงำความรู้สึกทางเพศเอาไว้ แต่ก็มิอาจต้านแรงกระตุ้นที่มีตามธรรมชาติได้ ส่งผลให้ผู้ชายเกาหลีอารมณ์แปรปรวนไม่มั่นคง โมโหร้าย ภายนอกเหมือนหมีจำศีล แต่ภายในกลับเป็นเสือ
แต่กระนั้นผู้ชายชั้นสูงก็ได้รับอภิสิทธิ์เหนือผู้หญิงเยอะค่ะ ในขณะที่เขามิอาจแชร์ความรู้สึกสุขสมกับภรรยาได้ ก็ใช่ว่าเขาจะไม่สามารถ “ปลดปล่อย” ที่อื่นสักหน่อย เขายังคงเสพความสำราญผ่านกิแซง (หญิงคณิกา) , หญิงโสเภณี หรือแม้แต่ลอบลักพาตัวแม่ม่ายใส่ถุงกระสอบ นำมาเลี้ยงดูในฐานะ “เมียลับ” ได้อีกด้วย อย่างที่บอกไปค่ะ ผู้หญิงโชซอนที่เป็นม่ายสามีตาย หรือถูกขับไล่จากบ้านสามี เธอจะแต่งงานใหม่หรือกลับบ้านตัวเองไม่ได้ หากฆ่าตัวตายตามสามีถือว่ามีคุณธรรม แต่ถ้าหากคิดมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่มีขุนนางสักคนรับเลี้ยงเป็นเมียน้อย ก็อาจจะจบชีวิตด้วยการเป็นโสเภณีข้างถนน ความ “โรแมนติก” เพิ่งส่งตรงมาถึงเกาหลี หลังปี 1950 นี่เองค่ะ ในรูปแบบหนังรักฮอลลีวู้ด จากนั้นเมื่อเกาหลีมีวงการบันเทิงของตัวเอง ก็ค่อยๆ ใช้สื่อบันเทิง ปรับอุปนิสัยผู้ชายเกาหลีให้มีความโรแมนติก เป็นสุภาพบุรุษมากขึ้น
ทำไมพระเจ้าชอลจง คลั่งรักพระมเหสี
ในขณะที่พระราชาเรื่องอื่นมีเลิฟสตอรี่กับสนม แต่ทำไมพระเจ้าชอลจงในเรื่องนี้ (ย้ำว่าในเรื่องนะคะ ไม่ใช่ในประวัติศาสตร์) ถึงได้คลั่งรักพระมเหสีเสียเหลือเกิน ถึงขนาดวิ่งตามเมียทั่ววังเบอร์นั้น ข้อแรกก็เพราะ พระมเหสีโซยง (ซึ่งจริงๆ ก็คือ เชฟจางบงฮวาน) ทลายกฎขงจื๊อซะเกลี้ยง เธอไม่ใช่ช้างเท้าหลังที่คอยแต่เชื่อฟังสามี แต่คือเพื่อนคู่คิด ความที่มาจากโลกสมัยใหม่ แถมยังนามสกุล “จาง” เธอก็เลยไม่แคร์ที่จะต้องทำสิ่งที่รักษาเกียรติยศให้กับตระกูลคิมแห่งอันดง นอกจากนี้ในซีรีส์จะเห็นว่ามีหลายฉากที่ทั้งฝ่าบาทและพระมเหสีแข่งกันขิงว่า เซ็กส์ของใครแซ่บกว่ากัน นั่นเพราะทั้งคู่มองเห็นกิจกรรมทางเพศเป็นเรื่องพึงใจ ไม่ใช่เพียงภารกิจ “ผลิตรัชทายาท” จะเห็นได้ว่าแม้พระมเหสีทรงครรภ์คู่นี้ก็ยังจู๋จี๋กันต่อ
ข้อสอง ความที่พระเจ้าชอลจงเคยใช้ชีวิตเป็นสามัญชนทำไร่ทำนาอยู่นอกวังนั่นแหละ ก็เลยไม่เคร่งเรื่องพิธีรีตอง พวกกฎขงจื๊อที่เล่ามาข้างต้นน่ะ เอาจริงๆ แล้วชาวบ้านเค้าไม่ถือกันหรอกนะคะ แต่อาการเขินๆ จนต้องสร้าง “โค้ดรัก” มาเชื้อเชิญอีกฝ่าย มันก็มีอยู่บ้าง รู้จักคำว่า 여보 (ยอโบ) ที่คนเกาหลีเค้าใช้เรียกสามีภรรยาตัวเอง แทนคำว่า “ที่รัก” ใช่มั้ยคะ คำนี้น่ะมีที่มาจากความเขินของคนสมัยก่อน ผัวเมียยุคโชซอนพอมีลูกเล็ก คนเป็นแม่ก็มักแยกห้องไปนอนดูแลลูก ทีนี้พอลูกหลับ คุณพ่อก็อยากสะกิดคุณแม่มากุ๊กกิ๊ก เลยทำเป็นตะโกนเรียกว่า 여기 보오 (ยอกี โบโอ) แปลว่า “มาดูนี่หน่อย” พอเมียออกมา ก็เข้าทางเขาละค่ะ จะกินรามยอนหรือจะโฮก ก็ตามนั้นเลย คำนี้พอแพร่หลายเข้า ย่อไปย่อมาก็เลยเหลือ ยอโบ
ดังนั้นถ้าเขาจะวางคาแรกเตอร์ให้พระเจ้าชอลจง (ย้ำอีกทีว่าในเรื่องนี้) เป็นผู้ชายชิลๆ ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ พระเจ้าชอลจงคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์นั้น ลือกันว่าตอนไปรับตัวมาจากเกาะคังฮวา ยังมีจริยวัตรเหมือนชาวนา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่พระเจ้าชอลจงในเรื่องนี้เขียนอักษรจีน (ฮันจา) เก่ง แต่ก็ยังเขียนบันทึกว่าคุณพ่อโดยใช้ตัวอักษรเกาหลี (ฮันกึล) ทั้งที่ชนชั้นสูงไม่ทำกัน แต่คนนี้เค้าทำเพราะเมียเค้าอ่านออกแค่ฮันกึลค่ะ การเรียนรู้ที่จะเคารพความเท่าเทียมในสังคมตามแนวคิด “ทงฮัก” ก็ยิ่งทำให้พระเจ้าชอลจงของเรา ทรงมองโลกและชีวิตรักอย่างมีมนุษยธรรมยิ่งขึ้น
ชินยุนบก กับภาพเขียนปลุกใจเสือป่า
จะว่าไปช่วงที่อาณาจักรโชซอนก่อตั้งใหม่ๆ ผู้คนก็ไม่ได้มองความพึงใจในกามารมณ์เป็นเรื่องผิดบาปหรอกนะคะ กลับกันช่วงนั้นบางคนนับถือลัทธิเต๋า ที่มีหลักความเชื่อว่า ผู้ชายคือหยาง ผู้หญิงคือหยิน ต้องอยู่คู่กันและถ่ายทอดพลังงานให้ไหลเวียนผ่านกัน ก่อให้เกิดลมปราณที่เรียกว่า “ชี่” ซึ่งก็คือการมีเซ็กส์นั่นเอง แต่ต้องไม่ใช้พร่ำเพรื่อ ต้องรู้จักบังคับกำหนัด หากทำได้จะมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว ซึ่งแตกต่างจากลัทธิขงจื๊อที่ต้องเก็บงำทุกความรู้สึกไว้ ถึงกระนั้น ความสุขสมทางเพศมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติอ่ะเนอะ แต่เมื่อขงจื๊อห้ามอย่างเด็ดขาด จึงแทบไม่มีผลงานทางวรรณกรรมหรือศิลปกรรมที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราว “เซ็กส์” ในสมัยโชซอน
เตชะบุญว่ายังมี “ชินยุนบก” หรือนามปากกา “ฮเยวอน” ช่างเขียนที่เราเคยแนะนำไปในบทความ True Beauty ว่า เป็นเจ้าของผลงานภาพวาด 미인도 “มีอินโด” มาตรฐานหญิงงามโชซอนนั่นเอง ชินยุนบกเป็นช่างเขียนหลวง ในรัชสมัยพระเจ้าจองจง (อีซาน) เขาได้ทำงานในวังเพราะมีพ่อและปู่เป็นช่างเขียน ทว่าชินยุนบกกลับสนุกกับการวาดภาพแนวทะลึ่งตึงตัง เรื่องราวของขุนนาง บัณฑิต ที่ลอบมีความสัมพันธ์กับกิแซง แม่ม่าย หรือสาวใช้ในบ้าน บางภาพก็จะมีขุนนางออกไปท่องเที่ยวเป็นกลุ่มๆ แล้วมีผู้หญิงกึ่งแก้ผ้าเล่นน้ำในลำธาร บางทีก็วาดภาพ 춘화 “ชุนฮวา” (แปลตรงตัวว่า ภาพวาดฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งก็คือ ภาพโป๊นั่นเอง) จริงๆ ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นและจีนก็มีภาพชุนฮวา บรรยายการมีเพศสัมพันธ์กันอย่างโจ่งครึ่ม แต่ ชุนฮวา ของชินยุนบก ไปไกลกว่านั้น ในความทะลึ่งตึงตัง เขาสามารถสอดแทรกอารมณ์ขัน และประเด็นดราม่า ชวนให้ขบคิดว่าเรื่องราวต่อไปในภาพจะเป็นเช่นไร พอคิดว่าเป็นผลงานเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ยุคที่เซ็กส์เป็นเรื่องต้องห้าม ยิ่งน่าทึ่ง
ตัวอย่างภาพเขียนแนวอีโรติกอันเลื่องชื่อของ ชินยุนบก Secret Meeting (ลอบพบ) บรรยายถึงการลอบพบกันของหนุ่มสาวท่ามกลางแสงจันทร์ ชายหนุ่มยังอยู่ในชุดทหารเต็มยศ ยืนอยู่ที่มุมกำแพงบ้านใครก็ไม่รู้ มือขวาตระกองกอดสาวใช้ ด้านฝ่ายหญิงเบี่ยงกายพร้อมสัมผัสโลมไล้หน้าอกตัวเองสร้างอารมณ์ นักวิจารณ์ศิลปะบอกว่า ภาพนี้ถ่ายทอดความปรารถนาและความกระสั่นซ่านสู่สายตาผู้ชม โดยที่ไม่ต้องวาดให้โป๊ด้วยซ้ำ อีกความน่าสนใจของภาพนี้คือ มีผู้หญิงอีกคนหลบมุมอยู่ด้านหลัง เฝ้ามองอย่างอิจฉา จากทรงผมและชุดที่สวมใส่เป็นของชนชั้นสูง แต่เธอปลดผ้าคลุมที่เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงออกเสีย ภาพไม่ได้เฉลยว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงออกมาเดินริมถนนคนเดียวโดยไม่มีบ่าวไพร่ แต่ก็ได้ส่งสารสำคัญว่ากำลังพูดถึงสตรีที่ถูกกดขี่ภายใต้แนวคิดขงจื๊อ ความที่วาดถึงโลกของสตรีที่ถูกม่านคุณธรรมขงจื๊อกดทับไว้อย่างเข้าอกเข้าใจ จึงมีข่าวลือว่า ชินยุนบกอาจเป็นผู้หญิงปลอมตัวมาก็ได้ (อย่างเช่นซีรีส์ Painter of the Wind ก็วางพล็อตให้ชินยุนบกเป็นผู้หญิง)
เมื่อความรักเป็นเรื่องต้องห้าม เกาหลีจึงไม่มีเทพแห่งความรัก แต่ก็มีคนเกาหลีบางคนที่ยกย่อง ชินยุนบกเป็นสัญลักษณ์ของความรัก อีกผลงานสุดคลาสสิกของเขา Lovers Under Moonlight (คู่รักใต้แสงจันทร์) ที่พรรณนาถึงความรักต้องห้ามใต้แสงจันทร์ระหว่างบัณฑิตหนุ่มกับแม่ม่าย ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นภาพโฆษณา “เลิฟโมเต็ล” ติดอยู่ในสถานีรถใต้ดินย่านมหาวิทยาลัย พร้อมคำโปรยว่า “ค่ำคืนหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง คู่รักพบกัน มีเพียงแค่ทั้งคู่ที่รู้ความในใจอีกฝ่าย”
ชินยุนบก ถนัดเรื่องวางพล็อตสุดตื่นเต้น ภาพเขียน A Scene From Gisaeng Room (ไม่มีอะไรในหอกิแซง) ว่าด้วยขุนนางคนนึงกำลังบรรเลงรักกับกิแซงวัยกระเตาะอย่างเมามัน ทว่าด้านนอกมีกิแซงอีกคนกำลังเดินกลับเข้ามา ชวนให้ขบคิดว่า หากเธอเข้ามาแล้วจะดึงความสนใจไปจากคู่รัก หรือเกมรักของทั้งคู่จะสนุกสุดเหวี่ยงจะลืมทุกสิ่งภายนอก เป็นการวางพล็อตเรื่อง คล้ายกับภาพยนตร์
นอกจากกิแซง ชินยุนบกก็ยังชอบวาดภาพแม่ม่าย ภาพนี้ชื่อ A Widow’s Lust in Spring (แรงปรารถนาของแม่ม่ายในฤดูใบไม้ผลิ) ผู้หญิงด้านซ้ายในภาพ เป็นหญิงชนชั้นสูง เธอยังสวมเสื้อปอสีขาว แสดงว่าสามีเพิ่งตายไม่นาน ยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ เพื่อไม่ให้จิตใจหดหู่ สาวใช้จึงพาเธอมาชมดอกไม้ในสวนหลังบ้าน ทว่าสายตาเธอกลับสนใจสุนัขติดสัดด้านหน้ามากกว่าดอกไม้ที่ผลิบาน จะเห็นว่ามือสาวใช้แอบหยิกขานายหญิง เป็นการเรียกสติว่า คุณผู้ชายของเราเพิ่งจากไปหลัดๆ เองนะเจ้าคะ หยุดคิดเรื่องสัปดี้สัปดนแป๊บ
ชินยุนบก สร้างผลงานภาพอีโรติกท้าทายคำสอนขงจื๊อไว้มากมาย อย่างเช่นภาพนี้ Nipple Addiction (เสพติดปทุมถัน) ที่สื่อถึงการร่วมรักกับภรรยาตั้งครรภ์ เพื่อสะท้อนว่า ผู้หญิงมิได้เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ “แม่” แต่เพียงเท่านั้น กิจกรรมรักก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อ “ผลิตทายาท” อย่างเดียว แต่ยังเป็นสิ่งที่ใช้สร้างความสุขสมร่วมกัน ความ “นอกกรอบ” ของเขา ทำให้ราชสำนักไม่พอใจ และปลดจากตำแหน่งช่างเขียนหลวง แทบไม่มีรายละเอียดชีวิตบั้นปลายของชินยุนบก เป็นไปได้ว่า ช่วงนั้นระบบขุนนางฉ้อราษฎร์กำลังเสื่อมถอย คริสตศาสนานิกายคาทอลิกเข้ามา คนหัวก้าวหน้าอย่างเขา อาจไปในสายนั้นก็เป็นได้
เป็นอีกบทความที่ตั้งใจรวบรวมมาจริงๆ นะ ชอบหรือไม่ชอบยังไง คอมเมนต์มาได้ที่ทวิตเตอร์ @bluesherbet_ เหมือนเดิมค่า
บทความที่เกี่ยวข้อง
ด้เวลาจัดสำรับ Mr.Queen รู้หรือไม่ พระมเหสีกินอะไรตอนท้อง?
เปิดเกร็ดหลังวัง Mr.Queen อลังการงานชุดมเหสีโชซอน เครื่องแต่งกายพิธีใหญ่ที่จัดเต็มได้อีก
True Beauty ถอดรหัสความสวยแบบเกาหลีผ่านประวัติศาสตร์
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡