สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านค่า ช่วงนี้อาจจะเซอร์ไพรส์ที่ได้เห็นหน้าค่าตา Korseries ในรายการ “เมาท์เกาเมาท์กัน” ผ่านช่องทางยูทูป Netflix Thailand หวังว่าโปรเจ็กต์ใหม่ของเราจะทำให้คุณมีความสุข และสนุกกับการรับชมซีรีส์เกาหลีของ Netflix มากขึ้นนะคะ สำหรับ Episode แรก เราได้พาท่านผู้ชมไปสำรวจ “จักรวาล ชินวอนโฮ” ผู้กำกับฯ เจ้าของผลงานซีรีส์ที่ชวนให้คิดถึงอดีตฝันวัยหวาน Reply 1997 (ย้อนรอยรัก 1997) , Reply 1994 (คิดถึงเธอ 1994) , Reply 1988 (วันวาน 1988) รวมไปถึงเซ็ตซีรีส์หย่อนใจวัยทำงาน Prison Playbook (ฟ้าพลิก ชีวิตยังต้องสู้) และที่เพิ่งลาจอไปหมาดๆ อย่าง Hospital Playlist 1-2 (เพลย์ลิสต์ชุดกาวน์) น่าทึ่งมั้ยละคะ ว่าทำซีรีส์เรื่องไหนก็ดังเปรี้ยงปร้าง ในรายการ “เมาท์เกาเมาท์กัน” เราได้ย้อนรอยความประทับใจผลงานของคุณชินวอนโฮไปแล้ว แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้ อาจยังไม่จุใจ วันนี้เราเลยจัดบทความ Spin Off ทำความรู้จักจักรวาลผู้กำกับคนเก่งท่านนี้ พร้อมด้วย Easter Eggs สนุกๆ ที่ซ่อนอยู่ในซีรีส์ของเขากันค่ะ
ชินวอนโฮ คือใครกันนะ? :
ลายเซ็นอันโดดเด่นของซีรีส์คุณชินวอนโฮก็คือ บรรยากาศ Nostalgia ที่ทำให้คนคิดถึงอดีตอันแสนหวาน ซึ่งแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีเรื่องราวและเสน่ห์ต่างกัน จะเห็นได้จากซีรีส์ Reply ภาคต่างๆ นอกจากนี้คุณชินวอนโฮยังมักจะใช้ “เพลง” เป็นตัวปลุกความทรงจำวันวานที่หลับใหลอยู่ในตัวผู้คนให้ตื่นขึ้นมามีสีสันแจ่มชัดอีกครั้ง ดังนั้นก่อนจะเจาะลึกผลงานซีรีส์แต่ละเรื่อง เรามาเจาะลึกหีบสมบัติแห่งความทรงจำของคุณ ชินวอนโฮ กันก่อนค่ะ
ชินวอนโฮ เกิดปี 1975 ในยุคเผด็จการทหาร ประธานาธิบดี พัคจองฮี ที่มีทั้งกฎอัยการศึก ประกาศเคอร์ฟิวสารพัด แต่นั่นก็คงเป็นยุคที่ยัง “ไม่อิน” เพราะตัวเขาก็ยังเป็นเด็กเล็กๆ ส่วนปี 1988 ที่ถูกหยิบมาสร้างซีรีส์ Reply 1988 คุณชินวอนโฮ อายุ 13 ปี (นับตามอายุสากล) เป็นช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ แถวบ้านตามสไตล์วัยรุ่นยุคอนาล็อก ชินวอนโฮอายุน้อยกว่าแก๊ง ด็อกซอน , จองฮวาน , แทค , ซองอู , ดงรยง แต่ก็โตพอที่จะซึมซับกับความเจริญล็อตใหญ่ ที่พุ่งเข้าสู่เกาหลีพร้อมกับประชาธิปไตย ไม่ว่าจะการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก หรือวงแดนซ์กรุ๊ป โซบังชา
ปี 1994 ชินวอนโฮ สอบเข้าเป็นนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยโซล แม้จะอยู่กันคนละมหา’ลัย กับแก๊งชาวหอชินชน (ที่เรียนมหาวิทยาลัยยอนเซ) แต่ก็ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ นาจอง , ชิลบง , ยูจิน , แฮแท , ซัมชอนโพ และบิงกือแร ใน Reply 1994 ดังนั้นช่วงปีนี้ ชินวอนโฮจะมีความทรงจำเกี่ยวกับเพื่อน และกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยมากที่สุด และถึงแม้ชินวอนโฮ จะเป็นเด็กวิศวกรรมศาสตร์ แต่ด้วยความสนใจงานเบื้องหลังรายการโทรทัศน์ ช่วงปี 1997 เขาก็ได้เข้าไปฝึกงานในสถานี KBS ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคทองของไอดอล Gen1 ทั้ง H.O.T , SechSkies , S.E.S , Fin KL การที่วางพล็อตให้ ชีวอน-ยูจอง สาวสองซี้ใน Reply 1997 เป็น “ติ่งไอดอลยุคบุกเบิก” ก็เป็นสิ่งที่ถูกรื้อมาจากความทรงจำช่วงฝึกงานของเขานั่นเองค่ะ
ในซีรีส์ทุกเรื่องของ ชินวอนโฮ โดยเฉพาะ 2 เรื่องหลัง Prison Playbook และ Hospital Playlist มักใช้ “เพลง” บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในแต่ละช่วงตอน ชินวอนโฮเป็นนักฟังเพลงตัวยงคนนึงค่ะ ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนสายมาเป็นผู้กำกับซีรีส์ เขาเคยเป็นโปรดิวเซอร์รายการวาไรตี้ให้สถานี KBS อยู่หลายปี หนึ่งในนั้นคือรายการ Immortal Songs ที่เชิญนักร้องรุ่นใหม่ มาร้องเพลงเพราะจากวันวาน , นอกจากนี้ก็ยังทำรายการ Star Golden Bell อีกด้วย เกมที่นักโทษตอบคำถามชิงรางวัลบะหมี่สำเร็จรูปห้าลัง ใน Prison Playbook ก็มีแรงบันดาลใจมาจากรายการนี้นั่นเอง แล้วก็มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ ชินวอนโฮ ติดการ “ตบมุก” สไตล์วาไรตี้ ในซีรีส์ Reply ทุกภาค จึงมี “เสียงแพะ แบ๊ะๆๆ” เปิดประกอบตลอดเลย
เบสบอลก็ต้องมา ชาวตจว.ก็ต้องมี :
อีกสิ่งที่เห็นได้แจ่มชัดคือความคลั่งไคล้ “กีฬาเบสบอล” ของผู้กำกับฯ คนนี้ ซีรีส์ Reply ทุกภาคจะต้องมี คุณซองดงอิล (คุณพ่อนางเอก) เป็นโค้ชเบสบอล (ใน Reply 1994 มีตัวละคร ชิลบง ที่เป็นนักเบสบอลมหาลัยด้วย) , Prison Playbook พระเอก คิมเจฮยอก เป็นนักเบสบอลอาชีพ ส่วน Hospital Playlist ดูๆ ไปเป็นซีรีส์หมอ ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับเบสบอลตรงไหน แต่ก็เกี่ยวจนได้ เพราะชื่อหมอพยาบาลแต่ละแผนก ก็เอามาจากชื่อนักเบสบอลแต่ละทีม แผนกศัลยกรรมทั่วไป (จางคยออุล , จงเจฮยอก , ซงซูบิน , อียองฮา , คิมแจฮวาน , กุกแฮซอง , ฮัมด็อกจู) คือชื่อนักเบสบอลสโมสร ดูซาน แบร์ (Doosan Bears) , แผนกประสาทศัลยศาสตร์ (ยงซอกมิน , อันชีฮง , ฮาซอนบิน , มินกีจุน , ฮวังแจชิน) คือชื่อนักเบสบอลสโมสร เกีย ไทเกอร์ส (Kia Tigers) , หมอโดแจฮัก มาจากชื่อผู้เล่นทีม เอ็นซี ไดนอส (NC Dinos) , แผนกสูตินารีเวช (ชูมินฮา , มยองอึนวอน , ฮันซึงจู , อึนซอนจิน , ฮันฮยอนฮี) คือชื่อนักเบสบอลสโมสร คิอุมฮีโร่ส์ (Kiwoom Heroes) สุดท้ายคือแผนกฉุกเฉิน (บงกวังฮยอน , แบจุนฮี , ซอนอูฮีซู) คนเหล่านี้ได้ชื่อมาจากสโมสร เอสเอสจี แลนเดอร์ส (SSG Landers) ค่ะ
ลายเซ็นอีกอันโดดเด่นก็คือ สำเนียงพูดท้องถิ่น หรือที่คนเกาหลีเรียกว่า “ซาทูรี” หลายคนเห็นประวัติคุณชินวอนโฮแล้วอาจแปลกใจ ว่าเอ๊ะเป็นคนโซลแต่กำเนิด ทำไมถึงสนใจเรื่องราวของเด็กต่างจังหวัด ก็ต้องบอกว่ากิมมิคนี้มาจากคุณ อีอูจอง นักเขียนบทคู่บุญของคุณชินวอนโฮนั่นเองค่ะ คู่บุญระดับที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยทำรายการวาไรตี้เลย มีแค่เรื่อง Prison Playbook เรื่องเดียวที่ไม่ได้เขียนบท แต่ก็ยังดูแลในฐานะ Creator นักเขียนอีอูจอง อายุไล่เลี่ยกับผู้กำกับฯ ชินวอนโฮ แต่เธอเป็นสาวจากเมืองจินจู จังหวัดคยองซังนัมโด (บ้านเดียวกับ โกอารา นางเอก Reply 1994 เลยค่ะ) เมืองนี้ไม่ห่างจากปูซานและชางวอน ในซีรีส์ Reply 1997 ก็เลยเป็นเรื่องของวัยรุ่นในปูซาน , Reply 1994 รวมมิตรแก๊งเด็กต่างจังหวัดจากทุกถิ่น แม้แต่ Hospital Playlist ก็ยังมีเพื่อนซี้ อิกจุน และจุนวาน ที่บ้านเกิดอยู่เมืองชางวอน
Reply 1997 : เพื่อนก็ห้ามทิ้ง ติ่งก็ห้ามพลาด
ถ้าบทความทั้งหมดนี้คือ “จักรวาลชินวอนโฮ” จากนี้ไปเรามาจอดยาน ลงสำรวจ “ดาว” แต่ละดวงของเขากันค่ะ ไล่เรียงกันจากซีรีส์เรื่องแรก Reply 1997 เรื่องนี้ฉายในปี 2012 ช่วงที่ tvN เพิ่งเปิดสถานีใหม่ได้ไม่นาน จำได้ว่าช่วงแรกสล็อตเวลาออกอากาศก็ยังงงๆ ครึ่งชั่วโมง แต่พอดังไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ช่องก็อนุมัติเพิ่มเวลาฉาย ตอนสุดท้ายได้ไปเลย 1 ชั่วโมงกว่า จุกๆ พระนาง ซออินกุก-จองอึนจี ที่คนรู้จักว่าเป็นนักร้อง+ไอดอล ก็แจ้งเกิดสายการแสดงอย่างสง่างาม ไร้ข้อกังขา
ในโปสเตอร์ซีรีส์ Reply 1997 มีคำโปรยว่า 열여덟, 오빠들은 내 삶의 전부였다 (ตอนอายุ 18 พวกโอป้าก็คือทุกสิ่งในชีวิตของฉันแล้ว) “พวกโอป้า” ที่หมายถึง ก็คือไอดอลวง H.O.T นั่นเองค่ะ ซีรีส์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องในเมืองปูซาน ภาคใต้ของเกาหลี ซองชีวาน นางเอกเป็นนักเรียน ม.ปลาย เรื่องการเรียนของเธอไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่เรื่องติ่งโอป้าวง H.O.T ละก็ถึงไหนถึงกัน ข้างบ้านมีนักเรียนชายห้องเดียวกัน ชื่อ ยูนยุนแจ ที่เรียนเก่งตรงข้ามกับเธอทุกอย่าง แต่ก็ยังอาศัยช่วยเรื่องการบ้าน ช่วยอัดวิดีโอรายการเพลงวันที่ชีวอนออกไปติ่งข้างนอก ส่วนที่โรงเรียน ชีวอนมีเพื่อนซี้ชื่อ โมยูจอง รักกันทุกอย่างจนกระทั่งวันหนึ่ง ชีวอนมารู้ความลับว่าเพื่อนซี้เป็นติ่งวง SechSkies ที่เป็นคู่แข่งวงโอป้าของเธอ
ชื่อซีรีส์ Reply ในภาษาเกาหลีคือ 응답하라 (อึงดับฮารา) ซึ่งมีความหมายว่า “ตอบสนองฉันหน่อย” เป็นข้อความที่เราจะพบได้เวลาต่ออินเตอร์เน็ตจากสายแลนค่ะ ที่มันมีเสียงจู๊ดๆๆ ตามด้วยต๊อดๆ นั่นแหละ (บางคนเกิดไม่ทันอ่ะจิ 555) ถ้าไม่มีสัญญาณตอบรับ ก็จะขึ้นว่า 응답이 없음 (อึงดาบี อ็อบซึม) ซึ่งนี่แหละค่ะคือคอนเซ็ปต์หลักของซีรีส์ Reply ทุกภาค เมื่อตัวละครโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ การจะตัดสินใจอะไรก็ยากเย็น อยากจะสนุกอะไรแต่ไฟก็มอดไปตามอายุ ไม่เหมือนกับตอนเราเป็นวัยรุ่นที่เราเคยเป็นสุขกับเรื่องง่ายๆ ได้ติ่งไอดอลที่ชอบ หาพร็อบสวยๆ ไปคอนเสิร์ต แต่งฟิคแลกกันอ่าน หรือแม้แต่หลายเรื่องที่ผู้ใหญ่มองว่าจิ๊บจ๊อย ในวันนั้นเรากลับจริงจังเหลือเกิน จะร้องไห้ไปทำไมกะอีแค่ไอดอลยุบวง แค่พ่อฉีกโปสเตอร์ในห้องนอนถึงกับจะเป็นจะตายเลยเหรอ ฯลฯ ความรู้สึกที่ “เอ่อล้น” ขนาดนั้น ทำไมมันถึง “แห้งขอด” ในวันนี้นะ ซองชีวอน ในวัย 33 ปี (ปี 2012) เธอทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการวาไรตี้ไอดอล ที่กำลังหมดไฟค่ะ แต่การกลับไปเจอเพื่อนเก่าสมัยมัธยมในงานเลี้ยงรุ่น ได้คุยกันในเรื่องเก่าๆ วันวาน เธอก็พบว่า ตอนเธอเด็กกว่านี้ เธอเคยมีความสุขกับอะไรที่แสนเรียบง่าย
Writer’s Pick ใน Reply 1997 :
ฉากที่ผู้เขียนชอบ ซองชีวอนทะเลาะกับยูจอง เพราะติ่งไอดอลคนละวง พอกลับมาบ้านก็ทะเลาะกับพ่ออีก ถูกพ่อทำโทษจับตัดผมสั้นเต่อ แต่พอไปโรงเรียนก็พบว่า ยูจองตัดหน้าม้าเต่อเป็นเพื่อนกัน … ถึงจะติ่งคนละด้อม ก็เพื่อนแกนะ
Reply 1994 : ได้เวลาพี่บ่าวป่วนเมือง
เป็นซีรีส์ที่ผู้เขียนบอกไว้ในรายการ “เมาท์เกาเมาท์กัน” ว่าดูแล้วคิดถึงตัวเองมากที่สุด เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดัง ใจกลางกรุงเทพ เอ็นท์ติดตอนนั้นเป็นเหมือนความหวังของหมู่บ้านเลย แต่ตัดภาพมาที่เมืองหลวงอีกที เด๋อด๋าชะมัด จะขึ้นรถเมล์หรือไปไหนก็ไม่ถูก ซึ่งก็คล้ายกับชีวิตของแก๊ง “เด็กหอชินชน” ในซีรีส์เรื่อง Reply 1994 ที่เฟี้ยวเงาะตั้งแต่คำโปรยบนโปสเตอร์เลยค่ะ 촌놈들의 전성시대 (ยุคเหล่าพี่บ่าวบ้านนอกครองเมือง) ซึ่งเป็นสำนวนปูซาน เลียนแบบมาจากชื่อหนัง Nameless Gangster : Rules of the Time เล่าถึงแก๊งสเตอร์ปูซานยุค 80 ที่สุดแสนจะเฟี้ยวฟ้าว ส่วนแก๊งไอ้หนุ่มจากหอพักชินชน แลดูเหมือนจะเฟี้ยว แต่คนเมืองหลวงเห็นแล้วว่าไงไม่รู้นะ
Reply 1994 เป็นเรื่องราวของโค้ชเบสบอลปูซาน ที่ย้ายครอบครัวอยู่ที่โซล พร้อมกับให้ภรรยาเปิดหอพัก “ฮาสุกจิบ” รับเด็กๆ มหาวิทยาลัยยอนเซ เข้ามาอยู่อาศัย เด็กๆ พวกนี้อายุเท่ากับ นาจอง ลูกสาวของบ้านที่เรียนปี 1 ม.ยอนเซ เหมือนกัน ความที่พวกเขามาจากหลากหลายจังหวัด และเจ้าของบ้านอย่างคุณพ่อ ก็ติ่งเบสบอลทุกลมหายใจเข้าออก ชื่อของเด็กๆ บางคนจึงถูกตั้งจาก “สปอนเซอร์สโมสรเบสบอลประจำจังหวัด ณ ตอนนั้น” อย่างเช่น แฮแท มาจากสโมสร Haitai Tigers เมืองกวังจู (ปัจจุบันชื่อสโมสร Kia Tiger) , หนุ่มจากจังหวัด คยองซังบุก ที่ได้ชื่อ บิงกือแร ก็มาจากชื่อสโมสร Binggrae Eagle เป็นต้น หรือจะเป็นหนุ่มมาดซื่อ ซัมชอนโพ ก็มีที่มาจากบ้านเกิดที่เป็นเมืองเล็กๆ ในจังหวัดคยองซังนัม ที่เล็กจนโดนควบรวมไปกับเมืองซาชอน ในปี 1994 ดังนั้นคนยุคหลังๆ ก็จะไม่มีใครรู้จักเมืองซัมชอนโพ อีกแล้ว คุณชินวอนโฮได้ใส่กิมมิคทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไว้อย่างแยบยลจริงๆ ค่ะ
อีกกิมมิคในเรื่องก็คือ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในหอพัก ที่คนเกาหลีเรียกว่า “ฮาสุกจิบ” ซึ่งเด็กๆ ผู้อยู่อาศัยจะอยู่ร่วมกันประหนึ่งลูกหลานเจ้าของหอ มีอาหารให้กินวันละ 2 มื้อ เผลอๆ บางหออาจุมม่าก็จะซักผ้า รีดผ้า กวาดบ้านให้ด้วย หอพักแบบนี้มีจริงๆ นะคะ ว่ากันว่า หลังจากเกาหลีสิ้นสุดภาวะสงคราม พ่อแม่เด็กๆ ก็ไม่อยากให้ลูกตกระกำลำบากเหมือนยุคตัวเอง ให้ก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสือให้เก่งที่สุด (สไตล์ครอบครัวเอเชียทั่วไป) ปรากฎเด็กพวกนี้สอบติดมหาวิทยาลัยดังไกลบ้าน แต่เรียนหนังสือเป็นอย่างเดียวจนทำอะไรไม่เป็น ฮาสุกจิบก็เลยถือกำเนิดขึ้นค่ะ ยุคแรกๆ มันก็แนวฝากลูกหลานให้ญาติดูแล บ้านละคนสองคนนั่นแหละ แต่ไปๆ มาก็ฝากกันจนบ้านใหญ่ขึ้น ปัจจุบันฮาสุกจิบก็ยังมีนะคะ แต่มักจะเป็นธุรกิจ หอพักที่จ้างแม่บ้านข้างนอกมาดูแล ทำอาหาร ทำความสะอาด บรรยากาศฮาสุกจิบสไตล์ครอบครัวอย่างในซีรีส์ Reply 1994 จึงเป็นอะไรที่คนเกาหลีคิดถึง โดยเฉพาะการนั่งล้อมวงกันกินอาหาร “รสมือแม่”
Writer’s Pick ใน Reply 1994 :
ความที่ชอบเพลงบัลลาดเกาหลียุคต้น 90 มาก จึงรักทุกฉากที่ผู้กำกับฯ ชินวอนโฮ ใส่เพลงเหล่านี้เอาไว้ ตั้งแต่ฉากไฟดับในหน้าร้อน สมาชิกหอพักออกมานอนรวมกัน ฟังรายการวิทยุคุณ อีมุนเซ , ฉากพี่ขยะติดฝนกับบิงกือแร แล้วคุยกันเรื่องวง พูฮวัล หรือจะเป็นฉากเศร้าที่เล่าถึงคอนเสิร์ตสุดท้ายของราชาเพลงบัลลาด คิมกวังซอก
Reply 1988 : สายใยรักแห่งซอย ซังมุนดง
ผู้เขียนเกิดปลายปี 1984 ดังนั้นความทรงจำปี 1988 ก็ยังเลือนรางอยู่ดีค่ะ มีแค่หลักฐานเป็นภาพถ่าย ที่บอกว่าเราบ้านางงามมากๆๆ เพราะเป็นปีที่พี่ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ ได้นางงามจักรวาลพอดี ส่วนของเล่นก็มีเสือมาสคอตโอลิมปิก 1988 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพด้วยนะ (เป็นติ่งเกาหลีตั้งแต่เล็กๆ เลย) เป็นยุคที่คนดูทีวีสีแพร่หลายแล้ว แต่ก็ยังเจอคนใช้ทีวีขาวดำได้ไม่ยาก ทีวีก็ไม่ได้ชัดทุกช่อง โดยเฉพาะต่างจังหวัดไกลๆ บ้านไหนมีเสาหนวดกุ้งปังกว่า ก็คือบ้านที่ทีวีชัดกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น “ร้านโอเลี้ยงปากซอย” เวลาเขาทราย กาแล็กซี่ ขึ้นสังเวียนป้องกันแชมป์ซักทีนึง คนทั้งหมู่บ้านก็แทบจะมารวมตัวกันที่ร้าน จ้องจอทีวีเล็กๆ แล้วเชียร์ด้วยกัน ในยุคนี้การเลือกดูทีวีอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัว ย้อนไปอีกยุคอาจเป็นความอบอุ่นของคนในบ้าน แต่คนในยุค 1988 นั้น การดูทีวีแทบจะเป็นมหรสพชุมชนเลยด้วยซ้ำ เป็นยุคที่ผู้คนมีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านแนบแน่น
ดังนั้นก็เลยไม่แปลกที่คอนเซ็ปต์ซีรีส์ Reply 1988 จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาววัยรุ่นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องราวชีวิตของผู้คนในซอย ซังมุนดง ย่านชานเมืองที่ไม่ไกลจากใจกลางกรุงโซลเท่าไหร่ บ้านหลักคือครอบครัวของซองดงอิล กับอีอิลฮวา มีลูก 3 คน นางเอกของเรื่อง ซองด็อกซอน ประสบปัญหาน้อยใจที่เกิดมาเป็นลูกคนกลาง นอกจากนี้ก็ยังมีเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันอย่าง บ้านคิมซาจังกับคุณนายเสือชีต้าร์ , บ้านเฮียร้านนาฬิกาที่มีลูกชายเป็นนักหมากล้อมระดับโลก , บ้านคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และบ้านครูฝ่ายปกครอง น่าแปลกที่เรื่องราวหลักๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวันทั่วไป แต่บรรยากาศและความสัมพันธ์ของตัวละคร กลับสร้างความอบอุ่นหัวใจในความธรรมดา ซีรีส์ Reply 1988 ต่างจากภาคอื่นๆ คือ มีคำโปรยซีรีส์ออกมาถึง 2 เวอร์ชั่น คือ 내 끝사랑은 가족입니다 (รักของฉันหยุดที่ครอบครัว) กับ 이골목은 그대로입니다 (ซอยนี้ยังคงเหมือนเก่าก่อน)
ดูเหมือนปี 1988 จะเป็นปีอันแสนสุข แต่ในอีกมุมนึงก็เป็นปีที่ “ผู้ใหญ่” และ “เด็กวัยรุ่น” ของเกาหลี ปะทะความคิดกันหนักหนาเหลือเกิน ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังคงใช้ชีวิตตามวิถีสโลว์ไลฟ์เดิมๆ กับคนละแวกบ้าน ความศิวิไลซ์ของโลกสมัยใหม่ก็เข้ามาอย่างรวดเร็วเกินต้าน หลังการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1987 จบลงด้วยชัยชนะของประชาชน ปี 1988 ก็เปิดศักราชใหม่ด้วยการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน รุดหน้าก่อสร้าง สนามกีฬา สวนสาธารณะ และสิ่งปลูกสร้างมากมาย เพื่อรองรับนักกีฬาและนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ประกาศศักดาให้เห็นถึงความพร้อมจะเป็น “เสือตัวใหม่ของเอเชีย” ในซีรีส์ Reply 1988 ก็เก็บประวัติศาสตร์ส่วนนี้เอาไว้ โดยผูกเรื่องให้นางเอก ซองด็อกซอน เป็นตัวแทนถือป้ายนำทัพนักกีฬาประเทศ มาดากัสการ์ และสุดท้ายก็ต้องปิ๋ว เพราะในปีนั้นมาดากัสการ์ขอถอนตัว แต่สืบเนื่องจากความฮอตของซีรีส์เรื่องนี้ ทำให้ อีฮเยริ นางเอกของเราถูกเทียบเชิญให้ไปถือป้ายประเทศมาดากัสการ์อีกครั้ง ในงานโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 2018 ที่จัดขึ้น ณ เมืองพยองชาง เกาหลีใต้ เสียดายที่ตอนนั้น ฮเยริ คิวแน่นเหลือเกิน ไม่อย่างนั้นคงได้เห็น ด็อกซอน รีเทิร์น
Writer’s Pick ใน Reply 1988 :
ในเรื่องมีตัวละคร “น้องจินจู” เด็กหญิงตัวเล็ก ที่เป็นเสมือนขวัญใจคนทั้งซอย น้องจินจูอยากได้ตุ๊กตาหิมะเป็นของขวัญวันคริสต์มาส พวกผู้ใหญ่ก็รับปาก แต่เมื่อถึงคืนวันคริสต์มาสอีฟหิมะกลับไม่ตก ผู้เขียนรู้สึกอบอุ่นหัวใจ ที่ผู้ใหญ่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องความปรารถนาของเด็กคนหนึ่ง ไม่ได้เห็นความฝันเด็กเป็นเรื่องล้อเล่น
Prison Playbook : อุโมงค์นี้ เพียงพริบตาหรือชั่วนิรันดร์
ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นซีรีส์เรื่องเดียว ที่ชินวอนโฮวางคาแรกเตอร์ตัวเอกไว้เป็น “คนดัง” คิมเจฮยอก พระเอกเรื่องนี้เป็นนักเบสบอลเบอร์หนึ่งของเกาหลี ที่กำลังจะก้าวสู่สโมสรเมเจอร์ลีกระดับโลก แต่กลับมีเหตุให้ต้องติดคุกเพราะไปทำร้ายร่างกายผู้ชายที่จะมาข่มขืนน้องสาว ศาลลงความเห็นว่า “กระทำเกินกว่าเหตุ” ตัดสินให้จำคุก 1 ปี แต่กระนั้น ผู้คนก็ยังมองเห็นเขาเป็นซูเปอร์สตาร์อยู่ดี รู้สึกเหมือนเขาแค่ “เดินทาง” ผ่าน “อุโมงค์สั้นๆ” แต่สิ่งที่คนคิดไม่ถึงคือ ความมืดมนในอุโมงค์นั้นก็น่ากลัว คิมเจฮยอกถูกทำร้ายร่างกายในคุก อาจกลับไปเล่นเบสบอลไม่ได้ แต่ในระหว่างที่อยู่เรือนจำเขาก็ได้พบกับ ผู้คุมอีจุนโฮ เพื่อนเก่าที่เคยเล่นเบสบอลด้วยกันสมัยวัยรุ่น พร้อมผองเพื่อนและกิจกรรมสุดสนุกชาวเรือนจำ ที่จะมาเติมเต็มชีวิตให้มีสีสัน
ความจริงแล้ว ตัวเอกในซีรีส์ชินวอนโฮ เป็นคนดังเพียบเลยนะคะ ไหนจะ ชเวแทค Reply 1988 ที่เป็นนักหมากล้อมระดับโลก หรือจะเป็นชิลบง Reply 1994 นักเบสบอลมหาลัยเนื้อหอมสุดๆ แม้แต่แก๊งหมอพระนาง Hospital Playlist ก็ล้วนตำแหน่งใหญ่กันทั้งนั้น แต่ถูกคุณชินวอนโฮบอกเล่าในมุมคนธรรมด๊า ธรรมดา อารมณ์เรามีเพื่อนเป็นดาราที่จับต้องได้ แต่กับ คิมเจฮยอก ความคาดหวังที่เขาแบกไว้มันหนักหนา ดูจากคำ โปรยในโปสเตอร์ 여기가 인생의 끝은 아니… 겠죠? (ณ ที่แห่งนี้ ชีวิตจะจบลง…มั้ยนะ) ก็ได้ แต่อย่าเพิ่งคิดว่า Prison Playbook จะเป็นซีรีส์เมโลดราม่าค่ะ เรื่องนี้ตลกโบ๊ะบ๊ะ เล่าถึงกิจกรรมที่เหล่าบรรดาผู้คุม “หาทำ” ให้ชาวคุก มีตั้งแต่สารพัดการแข่งขัน ประกวดร้องเพลงโดยหลวงพ่อโบสถ์คริสต์ ประกวดตอบคำถามโดยหลวงพ่อวัดพุทธ ประกวดต่อเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ไปจนถึงการครีเอทเมนูอาหารและข้าวของเครื่องใช้สไตล์นักโทษ
หากชื่อซีรีส์เซ็ต Reply 응답하라 (อึงดับฮารา) เป็นการเล่นกับสัญญาณอินเตอร์เน็ตยุค Internet Dial Up 52K ซีรีส์เซ็ตคุก-หมอ ก็จะเป็นการแซวสังคมยุคปัจจุบัน ที่คนเกาหลีหาซื้อ “หนังสือฮาวทู” เป็นคัมภีร์ประจำชีพ Prison Playbook มีชื่อภาษาเกาหลีว่า 슬기로운 감빵생활 (ซึลกิโรอุน คัมปังแซงฮวัล) แปลตรงตัวก็คือ “การใช้ชีวิตในคุกอย่างชาญฉลาด” ว่ากันที่คำแรก 슬기로운 (ซึลกิโรอุน) กันก่อนค่ะ เป็นชื่อยอดฮิตของหนังสือฮาวทูเกาหลีเลย เช่น “การใช้ชีวิตในที่ทำงานอย่างชาญฉลาด” , “การอ่านหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างชาญฉลาด” , “การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างชาญฉลาด” ฯลฯ หน้าปกหนังสือพวกนี้มักจะมาแนวแฮปปี้ใสๆ แต่ตลกร้ายคือที่คนต้องหาหนังสือพวกนี้มาอ่านก็เพราะ มันคือสิ่งที่ชีวิตเรารับมือได้ยากเหลือเกิน ความหมายของอีกคำนึงในชื่อเรื่อง 감빵생활 (คัมปังแซงฮวัล) ก็น่าสนใจ เพราะจริงๆ แล้วคำว่า “ห้องขัง” ต้องสะกดว่า 감방 ไม่ใช่ 감빵 (แต่ออกเสียง “คัมปัง” เหมือนกันเลยค่ะ) คุณชินวอนโฮ ตั้งใจสะกดให้ผิด เพราะต้องการสื่อกลายๆ ว่า การติดคุกของพระเอก เป็นแค่ “ความผิดพลาด” แต่ถึงยังไงก็ต้องสู้ต่อไปให้ได้อย่างแฮปปี้
Writer’s Pick ใน Prison Playbook :
ในซีรีส์มีนักโทษชื่อ “ด็อกเตอร์โก” ชอบร้องเรียนทุกอย่าง และเป็นนักล่ารางวัลในทุกกิจกรรมของเรือนจำ ดูเผินๆ เหมือนเป็นลุงบ๊องๆ แต่พอเข้าใจเหตุผลก็สุดแสนซึ้งใจ “ด็อกเตอร์โก” ยังมีลูกสาวชื่อ “โกโซรา” ที่แปลว่า “ฟ้องร้องเลย” อีกด้วย
Hospital Playlist : พักใช้สมอง ลองมาใช้ฟิลลิ่ง
มาถึงซีรีส์เรื่องสุดท้าย ที่เชื่อว่าหลายๆ คนยังอินกันอยู่ Hospital Playlist ค่ะ อันนี้ก็อยู่ในหมวดตั้งชื่อล้อเลียนหนังสือฮาวทูเหมือนกันนะ 슬기로운 의사생활 (การใช้ชีวิตหมออย่างชาญฉลาด) เป็นเรื่องราวของ 1 สาว กับ 4 หนุ่ม ที่เคยเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซลด้วยกัน ผ่านช่วงเวลาชีวิตมามากมาย จากเด็กเด๋อๆ ที่เคยตั้งวงดนตรีด้วยกันเอาสนุก ก็กลายเป็นอาจารย์แพทย์ผ่าตัด และได้มารวมตัวกันอีกครั้งในรอบ 20 ปีที่โรงพยาบาลยุลเจ มีคนหนึ่งในแก๊งบอกว่า จะรับดีนี้ หากรวมตัวกันทำแบนด์ดนตรีเหมือนตอนมหาลัยอีกครั้ง “วงดนตรีสมัครเล่น” ของ “คุณหมอมืออาชีพ” จึงถือกำเนิดขึ้น
ก่อนที่จะดูซีรีส์เรื่องนี้ เดาว่าคงเป็นแนวหมอรวมตัวกันทำแบนด์ดนตรีเจ๋งๆ ปังๆ เป็นแน่ แต่ความจริงแล้วเป็นการทำแบนด์ดนตรีเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานนั่นเองค่ะ (แต่ความจริงในความจริงอีกทีก็คือ พี่โจจองซอกร้องเพลงเพราะมาก ติดชาร์ตตลอดเลย ส่วนคุณ จอนมีโด ตัวจริงก็เป็นนักแสดงมิวสิคอลดังมากก ร้องเพลงไม่เพี้ยน) เพลงที่เล่นส่วนใหญ่เป็นยุค 1990 – 2000 ช่วงที่ตัวละครยังเป็นวัยรุ่นมหาลัย ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกาหลีทำซีรีส์อาชีพหมอออกมาเยอะ ทุกเรื่องเผยให้เห็นความเก่งกาจ การทำงานในภาวะกดดัน หลายครั้งคนคาดหวังให้หมอเป็นเหมือนพระเจ้า แต่ชีวิตคนเราไม่ใช่เครื่องจักรค่ะ Hospital Playlist เผยให้เห็นว่า หมอก็เป็นคนเหมือนกัน มีเหนื่อย มีท้อ บางครั้งก็เผลอเอาใจไปผูกกับความเจ็บความตายของคนไข้ จนดึงตัวเองไม่ออก
บ้านเรา ถ้าลูกบ้านไหนสอบติดแพทย์ คงต้องปิดซอยฉลอง คนเกาหลีเองก็ยกให้หมอเป็นอาชีพที่น่าชื่นชมเช่นกันนะ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยถามกันหรอกค่ะ ว่าในมุมหมอ ยังแฮปปี้กับการเป็นหมออยู่หรือเปล่า อย่างในเรื่องเราก็จะเห็น จองวอน กุมารศัลยแพทย์ ที่ใจบางเมื่อเห็นเด็กบวช งอแงอยากลาไปบวชอยู่ตลอด , ซอกกยอง สูตินารีแพทย์ ที่สร้างความสุขในการต้อนรับชีวิตใหม่ให้กับคู่สามีภรรยามากมาย แต่ตัวเองกลับมีแผลเรื่องการสร้างครอบครัว , อิกจุน อดีตดาวไนต์คลับ เรียนดีแม้ไม่ค่อยรับผิดชอบ กลับต้องมาแบกความรับผิดชอบมากกว่าใคร เพราะตกที่นั่งพ่อเลี้ยงเดี่ยว , จุนวาน รักษาหัวใจใครตั้งมากมาย รักษาแผลใจแฟนไม่ได้ซักที หรือจะเป็นนางเอกของเรา ซงฮวา ผู้หญิงคนเดียวของทีมศัลยแพทย์สมอง ที่พุ่งชนงานหนักมาตลอด จนวันหนึ่งพบว่าตัวเองอาจเป็น “มะเร็ง” เป็นโอกาสที่ทำให้ได้หยุดและคิดทบทวนเรื่องตัวเอง
ซีรีส์ Hospital Playlist ทำออกมา 2 ซีซั่นแล้ว แต่ละซีซั่นมี 12 ตอน และฉายเพียงสัปดาห์ละตอน คุณชินวอนโฮกล่าวว่า เขาอยากสร้างวัฒนธรรมใหม่ ให้คนทำงานซีรีส์ไม่กดดันตัวเองเกินไป นักแสดงก็มีเวลาทำความเข้าใจบทตัวเองมากขึ้น เรียกว่าซีรีส์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่มอบ Empathy ให้กับวงการแพทย์ จนเกิดกระแสคนเกาหลีบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้น 11 เท่า ทว่ายังจุดประกายให้คนเบื้องหลังวงการบันเทิงได้ “หายใจหายคอ” อย่าทำงานหนักจนลืมที่จะรักตัวเอง ช่วงท้าย Hospital Playlist แต่ละสัปดาห์ จะมีเพลงโคฟเวอร์ยุค 1990 – 2000 ที่ตรงกับธีมในเรื่อง 1เพลง เรามองว่านี่แหละค่ะ คือ “กล่องความสุข” ที่ชินวอนโฮอยากมอบให้ผู้ชม เขาไม่ต้องการสร้างซีรีส์ที่ออนแอร์เยอะจนคนดูรู้สึกเป็นภาระ แต่อยากทำซีรีส์ที่ชุบชูจิตใจ ฝากเพลงที่เคยมอบความสุขวันวาน ให้คนเกาหลีรับไปเป็นการบ้าน แล้วฮัมเพลงที่คุ้นเคยนั้นติดปากไปทั้งสัปดาห์ จนกว่าจะมีตอนใหม่ เพลงใหม่
หมอเป็นอาชีพที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ การใช้สมองนำทางหัวใจตลอดเวลา อาจทำให้เราเจอคำตอบที่สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ แต่ก็ทำให้เราอ่อนล้าอยู่เสมอเช่นกัน Hospital Playlist คือการชวนหนุ่มสาวที่ทำงานหนัก ให้ลองวางสมอง แล้วใช้หัวใจนำทางดูบ้าง ไม่ต้องเลือกสิ่งที่ทำได้สมบูรณ์แบบที่สุด แต่เลือกสิ่งที่ฟิลลิ่งบอกว่ามันใช่บ้างก็ได้ เหมือนอย่าง แชซงฮวา หมอสมองที่เก่งสุดก็ยังร้องเพลงเพี้ยนได้ ทำตัวให้เหมือนเรากลับไปเป็นวัยรุ่น ได้เรียนรู้ ได้ลอง ได้เจอความผิดพลาด เพราะมันคือการกลับไปกระตุ้นเตือนว่า เรายังได้ใช้ชีวิตอยู่ ไม่ใช่เครื่องจักร
Writer’s Pick ใน Hospital Playlist :
ชาวหมอยุลเจกำลังนั่งทานข้าว แล้วมีคนถามขึ้นว่า “หมอคยออุล กับหมอมินฮา อยู่คนละแผนก อายุก็ต่างกัน แต่ทำไมสนิทกันจัง” สักคนนึงตอบ “อาร์มี่ค่ะ” หมอผู้ชายพากันงง ว่าเป็นผู้หญิงเจอกันในกรมทหารได้ไง แต่เฉลย อาร์มี่ คือชื่อแฟนคลับวง BTS (บังทันโซนยอนดัน) ทั้ง2คนซี้กันได้เพราะเป็นติ่งวงเดียวกัน เป็นบทสนทนาที่สะใจเราสุดๆ ค่ะ ปกติผู้ชายเกาหลีชอบโอ้อวดว่ามิตรภาพลูกผู้ชายเกิดขึ้นในกรมทหาร ส่วนมิตรภาพผู้หญิงไม่ยั่งยืนหรอก น้อยไปสิ เธอต้องมาเห็นความสัมพันธ์ของ ภาคีติ่งไอดอล
บทความที่เกี่ยวข้อง
ชินวอนโฮ ผู้กำกับ Hospital Playlist เผยความในใจถึง 5 นักแสดงนำอย่างอบอุ่น
ความเป็นไปได้ ของ ซีรีส์ “Reply” เรื่องต่อไป?
PD ชินวอนโฮ พูดถึงความเป็นไปได้ในการทำ “Prison Playbook” ซีซั่น 2
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡