ภาพยนต์แนว LGBTQ+ สัญชาติไต้หวัน Your Name Engraved Herein หรือในชื่อภาษาไทย ชื่อที่สลักไว้ใต้หัวใจ ภาพยนตร์ที่มาแรงแซงทางโค้งแบบหยุดไม่อยู่เพราะถึงแม้จะเข้าโรงฉายภายใต้วิกฤตโควิด 19 ทุกคนล้วนเว้นระยะห่างจนกลายเป็น new normal แต่ก็ยังสามารถกวาดรายได้ไปมากกว่า 100 ล้านเหรียญไต้หวัน จนคว้ารางวัลใหญ่อย่าง The Golden Horse Award 2020 มาได้สำเร็จ ขึ้นแท่นภาพยนตร์แนว LGBTQ+ ของไต้หวันที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล
Your Name Engraved Herein (刻在你心底的名字) เรื่องราวของ ‘ชางเจี่ยฮั่น/อาฮั่น’ เด็กหนุ่มมัธยมธรรมดาห้องวิทย์ และเด็กชายชื่อแปลกประหลาด ‘เบอร์ดี้’ จากการอยู่ในชมรมเดียวกันทำให้พวกเขาสนิทสนมกันมากขึ้นจนกลายเป็นเพื่อนสนิทและเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์จนก่อให้เกิดความรักที่มันมากกว่ามิตรภาพแบบเพื่อน แต่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่นี้กลับมาพร้อมความเจ็บปวดและการหลบซ่อน เรื่องราวภายในเรื่องถูกเล่าผ่านพื้นหลังในยุคหลังยกเลิกกฎอัยการศึกของไต้หวัน ที่คนในสังคมยังไม่ได้ให้การยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากเท่ากับปัจจุบัน
ภาพยนตร์ Your Name Engraved Herein สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดออกมาได้อย่างงดงามและตราตรึงตลอด 1 ชั่วโมง 54 นาที ความทรงพลังจากบทสนทนาที่พ่วงมาด้วยพื้นหลังหลักของภาพยนตร์มันพาเราให้ดำดิ่งไปกับอารมณ์ของตัวละครได้อย่างครบสมบูรณ์
ตัวละครเบอร์ดี้ มีลักษณะนิสัยที่เต็มไปด้วยแปลกและบ้าบิ่นอย่างชัดเจน เบอร์ดี้เป็นเด็กนักเรียนสายศิลป์ พูดประโยคจากหนัง มีอารมณ์ศิลปะ(ดูได้จากท่าเดินเวลาคุยกับอาฮั่น เขาจะชอบทำท่าเหมือนเต้นหรือซนๆไปทั่ว ไต่จับสิ่งของ วิ่งบนราวบันได คิดภาพไม่ออกให้นึกถึง La La Land เวลาร้องเพลงแบบนั้นแหละ) ชอบแอบขโมยของ สะสมโปสเตอร์หนังและอยากเป็นนักสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ในขณะที่อาฮั่น เป็นเด็กสายวิทย์มีเพื่อนร่วมห้องที่มีนิสัยต่อต้านรักร่วมเพศอย่างเปิดเผย ผนวกกับตัวยุคสมัยนั้นที่จะต้องเรียน ต้องทำ ต้องเป็น ตามแบบแผนของสังคมที่ผู้คนและครอบครัวคาดหวังให้เราจะเป็น
จุดเล็กๆนี้เราจะเห็นได้เลยว่าตัวภาพยนตร์เองก็จงใจนำเสนอนิสัยของเบอร์ดี้ให้มีความแปลกและมักจะทำในสิ่งที่ใครเขาไม่ทำกัน หรืออีกนัยยะ คือ เบอร์ดี้เป็น ‘เกย์’ มาตั้งแต่ต้นแต่กลับกลายเป็นคนปอดแหก เป็นคนใจร้ายที่ไม่กล้าบอกรักต่ออาฮั่น และเพราะเหตุใดเขาถึงปอดแหกและทำตัวใจร้ายจังละ? ก่อนอื่นเราจึงต้องไปดูกันที่ setting สำคัญที่เรื่องนี้หยิบยกขึ้นมาเล่าเรื่องราวกันก่อน
Setting ที่เรื่องนี้หยิบขึ้นมาเล่น เป็นสิ่งที่ดูแล้วรู้สึกว้าวและทึ่งกับความแยบคายในการหาวิธีการนำเสนอผลงานชิ้นโบว์แดงชิ้นนี้ออกมา ซีรีส์เลือกใช้ประเทศไต้หวัน ในช่วงเวลาที่เพิ่งจะผ่านพ้นการประกาศกฎอัยการศึก ยุคที่เกย์โดนกล่าวหาว่าเป็นเชื้อไวรัส ซึ่งก็ไม่ต่างจากสังคมไทยในสมัยก่อนเท่าไหร่นักที่ปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ความเชื่อที่บิดเบี้ยวว่า คนที่ผิดเพศนั้นเป็นโรคที่สมควรต้องได้รับการรักษา เป็นประโยคแสนโหดร้ายแต่ทว่ามีอยู่จริงบวกกับเราจะเห็นความโหดร้ายของยุคในแง่ของการถูกทำร้ายร่างกายหากออกมาเปิดเผยรสนิยมทางเพศ และใครที่ออกมาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมก็จะถูกตำรวจจับไปอย่างง่ายดาย เหมือนเป็นโจรที่กระทำผิดร้ายแรง
เพราะค่านิยม ความคิด ความเชื่อในสมัยนั้นมันเป็นตัวบีบให้พวกเขาทั้ง 2 คนจำเป็นต้อง ‘หลบซ่อน’ และ ‘หลีกหนี’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เบอร์ดี้จึงต้องทำตัวใจร้ายโดยการหลีกหนีหัวใจตัวเองโดยการเริ่มคบหากับ ปันปัน เพื่อนนักเรียนหญิงเพื่อหลบซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองที่มีให้กับอาฮั่นและเพื่อหลีกหนีความเป็นจริงที่สังคมไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นแล้วเบอร์ดี้ไม่ได้เป็นคนใจร้าย แต่เป็นโลกต่างหากที่ใจร้ายกับพวกเขา
เมื่อเดินทางมาถึงครึ่งหลังของภาพยนตร์ ที่พาเราเดินทางมาสู่สังคมไต้หวันในยุคปัจจุบันที่กลายเป็นประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องของ LGBTQ+ มากที่สุดในเอเชีย เป็นชาติแรกในเอเชียที่การแต่งงานระหว่างคู่รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ซึ่งมันแตกต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อนราวฟ้ากับเหว และบทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้เราได้รู้ว่า “รักแรกของทุกคนยิ่งใหญ่เหมือนหนังฟอร์มยักษ์ ที่เมื่อเลือกที่จะรักแล้วย่อมรักไปชั่วนิรันด์ ตราตรึงและฝังลึกเข้าไปในความทรงจำ และไม่ว่าใครก็ไม่อยากที่จะมีความรักที่ต้องหลบซ่อน“
“ใครจะรู้ว่าโลกในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร”
บทความโดย โชว์มีเดอะซีรีส์ สามารถติดตามการวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นต่างๆในซีรีส์และการวิเคราะห์ตอนต่อตอนได้ทางเพจ โชว์มีเดอะซีรีส์