ถึงแม้จะลาจอไปแล้วสำหรับซีรีส์ Our Blues : เวลาสีฟ้าหม่น (Netflix) กับการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผู้คนบนเกาะเชจูผ่านนักแสดงมากฝีมือถึง 14 ท่าน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านอกจากเรื่องราวเยียวยาจิตใจที่นักเขียนบทโนฮีคยองฝากไว้กับเหล่าผู้ชมแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังคงหยิบยกเรื่องราวและมุมมองใหม่ ๆ พร้อมทั้งนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจฝากเอาไว้หลังการรับชมอีกด้วย
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์*
ก่อนจะไปดูว่ามีอะไรบ้าง มาเท้าความกันก่อนสักหน่อยดีกว่า เรื่องราวทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น 8 เส้นเรื่องใหญ่ ที่โคจรอยู่ภายใต้จักรวาลเดียวกัน เหล่าตัวละครมากหน้าหลายตาจะสลับสับเปลี่ยน ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในพาร์ทของตน โดยเนื้อเรื่องแบ่งออกได้ดังนี้
- อึนฮี (รับบทโดย อีจองอึน) และฮันซู (รับบทโดย ชาซึงวอน) รักแรกตลอดกาล ความทรงจำที่สวยงามตลอดไป (?)
- ยองอ๊ก (รับบทโดย ฮันจีมิน) และจองจุน (รับบทโดย คิมอูบิน) กัปตันเรืออัธยาศัยดีกับแฮนยอคนใหม่ หญิงสาวที่ซ่อนความลับบางอย่างไว้
- ยองจู (รับบทโดย โนยุนซอ) และฮยอน (รับบทโดย แบฮยอนซอง) โรมิโอ-จูเลียตแห่งหมู่บ้านพูรึง ความรักและข่าวคราวที่คาดไม่ถึง
- ดงซอก (รับบทโดย อีบยองฮยอน) และซอนอา (รับบท โดยชินมินอา) ร่องรอยการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยบาดแผล ความสัมพันธ์ที่จะมาช่วยเยียวยาจิตใจ
- อินกวอน (รับบทโดย พัคจีฮวาน) และโฮชิก (รับบทโดย ชเวยองจุน) อดีตเพื่อนรักที่ผันตัวมาเป็นคู่อริแบบเต็มตัว
- มีรัน (รับบทโดย ออมจองฮวา) และอึนฮี นิยามของคำว่า “เพื่อนรักภักดี” เมื่อมิตรภาพที่ตั้งอยู่เริ่มสั่นคลอน
- ชุนฮี (รับบทโดย โกดูชิม) และอึนกี (รับบทโดย กีโซยู) คุณย่าผู้สิ้นหวังในโชคชะตากับหลานสาวตัวน้อยที่เฝ้ารอคอยคำอธิษฐาน
- อ๊กดง (รับบทโดย คิมฮเยจา) และดงซอก ความสัมพันธ์ไม่เผาผีของสองแม่ลูก คำขอสุดท้ายและการเดินทางครั้งสำคัญ
ตัวเอกในชีวิตของเราไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็น”ตัวเรา”
ตัวเอก คือบุคคลสำคัญอันเป็นจุดศูนย์กลางในการเล่าเรื่อง แน่นอนว่าเขาหรือเธอคนนั้นถูกมอบหมายให้เป็นผู้เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ปมปัญหาต่าง ๆ ถูกผูกเอาไว้โดยยึดจากเส้นเรื่องของตัวเอกเป็นหลัก แล้วจึงค่อย ๆ เผยให้เห็นเส้นเรื่องของผู้คนรอบข้าง แน่นอนว่านั่นคือหนึ่งในศิลปะการถ่ายทอด แต่โปรเจ็กต์ซีรีส์ครั้งนี้ของนักเขียนโนฮีคยอง ถูกถ่ายทอดออกมาแตกต่างจากรูปแบบที่เรามักจะคุ้นชิน การใช้ตัวละครดำเนินเรื่องแบบพระ – นาง ดูจะไม่ใช่จุดประสงค์ของการเล่าเรื่องในครั้งนี้สักเท่าไหร่ โครงเรื่องจึงถูกจัดวางให้ได้ลองลิ้มชิมรส แบ่งพาร์ทความหวานและขมของรสชาติชีวิตผ่านเส้นเรื่องถึง 8 เรื่องในคราวเดียวกัน ตัวละครหลักที่โคจรไปมาล้วนเป็นตัวเอกในเรื่องราวชีวิตของตนเอง เหตุที่นักเขียนโนฮีคยองวางรูปแบบการเล่าไว้เช่นนี้ เพราะเธอเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีเรื่องราวที่อยากบอกเล่า ในโรงละครชีวิตที่มีเราเป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดง ตัวเอกในเรื่องราวเหล่านั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากตัวเราเอง ดังนั้นซีรีส์ Our Blues จึงแต่งแต้มสีสันให้กับทุก ๆ ตัวละคร และพาเราไปสัมผัสพร้อมกับทำความเข้าใจเขาเหล่านั้น จนทำให้ตัวละครมากหน้าหลายตาเข้ามามีพื้นที่ในหัวใจของเหล่าคนดูได้อย่างง่ายดาย
นอกจากเส้นเรื่องที่ช่วยฉายสปอตไลท์ให้ตัวละครทุกท่าน สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างคือการเปิดพื้นที่ให้นักแสดงคนพิการ ได้มีส่วนร่วมในงานแสดงและมีโอกาสโชว์ศักยภาพอีกด้วย การที่ตัวซีรีส์พาเราไปเข้าใจโลกของคนพิการมากขึ้น บอกเล่าถึงสิ่งที่ผู้คนรอบข้างเผชิญ และทำให้เรียนรู้ในมุมมองที่เปิดกว้างขึ้น ถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงให้มีพื้นที่สำหรับนักแสดงหลาย ๆ ท่านบนโลกที่เต็มไปด้วยความหลายหลากเช่นนี้
ประเด็นที่ละเอียดอ่อน ถูกนำเสนอในมุมมองที่ลึกซึ้ง
เรามักจะเห็นเรื่องราวของผู้ที่เผชิญกับโรคซึมเศร้าถูกหยิบยกออกมาบอกเล่าอยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับการดำเนินเรื่องในซีรีส์เรื่องนี้เช่นกัน ประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้ายังคงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ซีรีส์ Our Blues ต้องการถ่ายทอดให้ผู้ชมได้เรียนรู้ แน่นอนว่าอาการเจ็บป่วยภายในอาจเป็นเรื่องที่เห็นภาพได้ยากและต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และแบบนั้นเองการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ที่เผชิญกับโรคซึมเศร้าในซีรีส์เรื่องนี้ จึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพแทนความรู้สึกของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ชมได้มองเห็นและเข้าใจสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการสื่อออกมามากขึ้น
เสน่ห์งานเขียนของนักเขียนบทโนฮีคยอง คือการหยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันออกมาเล่าและตีความในมุมมองที่เข้าใจได้ง่าย การดำเนินเรื่องที่ไม่ซับซ้อน ย่อมทำให้เหล่าคนดูสามารถทำความเข้าใจสถานการณ์ของเหล่าตัวละครได้กลาย ๆ ถึงแม้เราจะไม่ได้เจอกับเหตุการณ์นั้นโดยตรงก็ตาม ในผลงานครั้งนี้ก็เช่นกัน โจทย์ชีวิตที่ไกลตัวของสักคนอาจเป็นเรื่องราวใกล้ตัวของเพื่อนสนิท หรือใครสักคนในชีวิตเราก็เป็นได้ ทางออกของปัญหาหรือวิธีการเผชิญหน้ากับมันจึงเป็นเรื่องที่เราเองก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด เพราะปัจจัยในชีวิตของเพื่อนมนุษย์แต่ละคนย่อมแตกต่างกัน การเรียนรู้ข้อแตกต่างและโอบกอดความหลายหลากเหล่านั้น อาจจะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ช่วยส่งต่อให้ในวันที่พายุพัดผ่านเข้ามาในชีวิต
เชจูที่ไม่ได้มีแค่ทะเล มารู้จักกับ Soft Power ที่เผยให้เห็นวิถีชีวิตบนเกาะเชจู
หากพูดถึงเชจูขึ้นมาแล้ว เชื่อว่าสิ่งที่หลาย ๆ คนนึกถึงคงจะเป็นทะเลสีครามไกลสุดลูกหูลูกตา ภาพที่เห็นถัดมาคงเป็นโขดหินสีดำที่ถูกน้ำกัดเซาะ แสงแดดอ่อน ๆ พร้อมประภาคารสีแดงตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังเป็นแน่ แน่นอนว่านั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเชจูในซีรีส์ Our Blues เท่านั้น เพราะเกาะเชจูในครั้งนี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านวิถีชีวิตของผู้คน ผ่านเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ อาชีพ สถานที่ ผู้ที่เกิดและใช้ชีวิตมากับทะเล เราจึงได้เห็นมุมมองชีวิต ผ่านตัวละครหลายช่วงอายุ และซึมซับบรรยากาศเหล่านั้นไปพร้อม ๆ กับได้รับการปลอบโยนจากคลื่นลมพายุที่พัดผ่านเข้ามาอีกด้วย
อาชีพที่เราเห็นบ่อย ๆ ในซีรีส์คือ แฮนยอ (แฮ – นยอ) นั่นเอง แฮนยอคือชื่อเรียกของกลุ่มนักประดาน้ำหญิงที่ประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำบนเกาะเชจู เหล่าคุณป้าที่แข็งแรง (และแข็งแกร่ง) จะรวมตัวกันกันเป็นกลุ่ม พร้อมร่วมหัวจมท้ายแหวกว่ายไปในทะเลวันละ 7 – 8 ชั่วโมง โดยอาชีพนี้ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพสำคัญบนเกาะเชจูเลยก็ว่าได้
เล่าถึงประวัติความเป็นมากันบ้าง แฮนยอเป็นอาชีพเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยโชซอน ในยุคที่ผู้หญิงจำนวนมากถูกจำกัดสิทธิและบทบาททางสังคม แฮนยอเป็นหนึ่งในอาชีพที่ช่วยผลักดันบทบาทของผู้หญิง และช่วยทลายกำแพงบทบาททางเพศในสมัยก่อน ทำให้ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพและหาเลี้ยงตนได้ อีกทั้งยังเป็นเป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนเศรษฐกิจระดับประเทศอีกด้วย
แล้วการใส่บทบาทแฮนยอลงมาในซีรีส์มีอิทธิพลอย่างไร ถึงขนาดเป็นหนึ่งใน Soft Power ล่ะ ?
จริงอยู่ที่แฮนยอเป็นอาชีพที่สำคัญในเชจู และได้รับการแต่งตั้งจากองค์การ UNESCO ในปี 2016 ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบอาชีพแฮนยอลดน้อยลงอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ รวมไปถึงการฝึกทักษะต่าง ๆ ก็เริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้คนออกไปหางานบนฝั่งมากขึ้นทำให้จำนวนแฮนยอลดลงอย่างเห็นได้ชัด กลายเป็นความกังวลของทางภาครัฐที่กลัวจะอาชีพนี้จะสูญหายไป จะเห็นว่าตัวซีรีส์ได้ใส่เรื่องราวส่วนนี้ลงมาด้วย โดยเผยให้เห็นการรับสาวต่างถิ่นอย่าง ยองอ๊ก (รับบทโดย ฮันจีมิน) เข้ามาเป็นแฮนยอรุ่นใหม่ พร้อมกับแสดงความเห็นของแฮนยอรุ่นคุณป้า ดังคำพูดของน้าฮเยจา (รับบทโดย พัคจีอา) “ที่เราต้องรับคนจากฝั่งเข้ามา นั่นเป็นเพราะเรากลัวว่ามรดกภูมิปัญญาแฮนยอจะไม่มีผู้สืบทอด เราต้องมีแฮนยอรุ่นใหม่มาสานต่อ สำนักงานจังหวัดเชจูก็แนะนำมาอีกด้วย”
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทางภาครัฐดำเนินการสร้างโรงเรียนสำหรับแฮนยอ (Jeju Hansupul Haenyeo School ) ให้ผู้คนที่สนใจในอาชีพนี้ได้ทำความรู้จักและเรียนรู้การประกอบอาชีพนักประดาน้ำสุดแกร่งแห่งเชจู ข้อดีคือเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ถึงแม้อายุจะ 80 แถมแฮนยอยังไม่ใช่อาชีพที่จำกัดให้คนในท้องถิ่นทำได้อย่างเดียว ผู้คนจากเมืองอื่น หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่มีความสนใจในอาชีพนี้ ต่างสามารถสมัครเข้าในโรงเรียนได้ เห็นแบบนี้แล้วกลยุทธ์การใช้สื่อบันเทิงควบคู่ไปกับการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีความเป็นไปในสังคม ดูท่าจะเป็นไอเดียที่ดีไม่น้อย
ต้องขอชื่นชมการร้อยเรียงเรื่องราวของนักเขียนบทโนฮีคยอง ที่บอกเล่าเรื่องราวได้กลมกล่อมตลอด 20 ตอน จัดมาให้ทั้งอารมณ์สุข เศร้า และแง่คิดชีวิตที่สวยงามและตราตรึงใจ การร่วมงานกับผู้กำกับคิมคยูแท ผู้กำกับคนเก่งที่เคยฝากผลงานร่วมกันมาในซีรีส์ That Winter, The Wind Blows (2013), It’s Okay, That’s Love (2014) และ Live (2018) ยิ่งเป็นการการันตีทีมเวิร์คที่น่าชื่นชม เชจูที่ไม่ได้มีแค่ทะเลแต่เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คน ช่วงเวลาสีฟ้าหม่นที่ทำให้เราได้เรียนรู้บทเรียนแห่งชีวิต ถึงแม้คลื่นลมจะพัดผ่านเข้ามาจนทำให้เราท้อใจ แต่ไม่มีพายุลูกไหนอยู่กับเราไปตลอดกาล
“มีอยู่ภารกิจหนึ่งที่เราห้ามลืมเด็ดขาด คือเราไม่ได้เกิดมาบนโลกนี้เพื่อทุกข์ทรมาน แต่เพื่อมีความสุขต่างหาก”
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡