Juror 8 เป็นหนัง court room (ว่าความในศาล) ผสมดรามาเจือกลิ่นคอมมาดี้ ที่แต่งขึ้นโดยอิงเหตุการณ์จริงของประเทศที่มีการใช้ระบบลูกขุนซึ่งเป็นพลเมืองคนธรรมดาๆเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาคดีในศาล ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2008 ส่วนเรื่องราวความเป็นมาของคณะลูกขุนทั้งแปดกับรายละเอียดของคดีนั้นเป็นเรื่องแต่งขึ้นใหม่ พลอตและบทที่ดูเผินๆอาจใกล้เคียงกับภาพยนตร์ดังของฮอลลีวู้ด 12 Angry Men (1957) แต่คงไม่แน่นหรือเข้มเท่าเขา ถ้ามองเทียบในความเป็นงานบันเทิงสไตล์เกาหลีเอง แบบไม่สนใจว่าเคยชม 12 Angry Men มาก่อนหรือไม่ และมองแบบสายตาผู้ชมสายกลางๆ ไม่ใช่คอหนังตัวจริงขั้นฮาร์ดคอร์ ก็ถือว่า Juror 8 มีสาระและความสนุกชวนติดตามใช้ได้อยู่ค่ะ
(สำหรับผู้ที่อยากรู้จักระบบลูกขุนว่าก่อนการอ่านหรือชม สามารถข้ามลงไปอ่านจากเกร็ดเพิ่มเติมท้ายรีวิวก่อนได้นะ)
สามารถรับชมซับไทย Juror 8 ได้ที่ VIU <คลิก>
ณ ศาลแขวงกลาง กรุงโซล ปี 2008 ในวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ของระบบศาลยุติธรรม คือ เป็นวันที่ศาลมีลูกขุนเข้าร่วมพิจารณาคดีเป็นครั้งแรก สื่อมวลชนมารุมล้อมรอทำข่าวกันอย่างเนืองแน่น การพิจารณาคดีในวันนั้นจะอยู่ภายใต้การนำของหัวหน้าผู้พิพากษาคิมจุนคยอม (รับบทโดย มุนโซรี) เธอเป็นผู้พิพากษาหญิงที่มีบุคลิกอึด มั่น กร้าว ผ่านประสบการณ์พิจารณาคดีฆาตกรรมมาโชกโชนถึง 18 ปี ความคาดหวังของหัวหน้า (รับบทโดย ควอนแฮฮโย) ของเธอ ที่อยากใช้ผลงานวันนี้ดันเธอขึ้นไปนั่งศาลสูงซะก่อนจะถูกพวกรุ่นเด็กๆแซงหน้าไป ส่วนความคาดหวังจากประธานศาล คือคำสั้นๆว่า ต้องทำให้เกิดภาพบวก อาจดูกดดันไม่น้อย แต่เธอก็เชื่อมั่นว่าจะคุมมันออกมาได้ดี เพราะคดีวันนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน จำเลยรับสารภาพแล้ว ก็เหลือแค่มาสรุปบทโทษที่เหมาะสมเท่านั้นเอง
แต่ทว่า อุปสรรคแรกก็มาเยือนแต่เช้า ลูกขุนหมายเลข 8 ที่คัดเลือกไว้ไม่มาซะงั้น เพราะไปได้งานสื่อ เอาจริง การมี 7 คนก็ยังนับเป็นคณะลูกขุนได้ ไม่ผิดกติกาใด แต่ผู้พิพากษาคิมจุนคยอม ต้องการความสมบูรณ์แบบ จึงให้ตามผู้สมัครที่ไม่ได้มารายงานตัวคัดเลือก ให้มาสัมภาษณ์ด่วน ภายใน 1 ชม.ก่อนจะถึงเวลาพิจารณาคดี
ควอนนัมอู (รับบทโดย พัคฮยองชิก) หนุ่มซื่อใส จริงใจและจริงจัง มุ่งมั่นจะเป็นเถ้าแก่น้อย ผลิตสินค้าใหม่จากไอเดียตัวเองที่เพิ่งได้สิทธิบัตรมา เป็นเครื่องป้องกันตัวฉุกเฉิน กดได้ทั้งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ และเป็นสเปรย์พริกไทยในตัว แต่ประสบปัญหาล้มลุกคลุกคลานกับเงินทุน เขากำลังง่วนตื๊อเรื่องยื่นแผนธุรกิจขอพิจารณาฟื้นฟูกิจการอีกครั้งกับเจ้าหน้าที่ (บทรับเชิญโดย อีคยูฮยอง)
ควอนนัมอูคือหนึ่งในผู้สมัครลูกขุนที่ไม่ได้ไปรายงานตัว เพราะจดหมายนัดถูกสุมรวมไปกับใบทวงหนี้ต่างๆมากมาย เขาจึงถูกโทรตามไปสัมภาษณ์ที่ศาล ผลที่ได้ก็ไม่ได้ถูกใจคิมจุนคยอมเลย เพราะเขาไม่ได้มีความรู้ฉะฉาน แต่ก็ไม่มีทางเลือกทั้งคู่ เพราะเธอต้องการ 8 คนในเวลากระชั้นชิด และคนถัดไปก็มารายงานตัวไม่ทันแล้ว ส่วนเขาก็ไม่ต้องการถูกปรับฐานละเลยนัดโดยไม่บอกกล่าว
ควอนนัมอู จึงได้กลายเป็น ลูกขุนคนที่ 8 ตามชื่อเรื่อง Juror 8 นั่นเอง ส่วนลูกขุนอีก 7 คน ที่สุดหลากหลายและเป็นตัวแทนของคนธรรมดาๆในสังคมได้ดี คือ
ยุนกือริม (รับบทโดย แพคซูจาง) หมายเลข 1 เป็นอดีตนักเรียนกฎหมาย
ยางชุนอ๊ก (รับบทโดย คิมมีคยอง) หมายเลข 2 ดูแลสามีที่ป่วยอัมพาตมา 10 ปี ผู้ที่เคยคิดอยากให้สามีตายเป็นร้อยๆครั้ง แต่ก็ไม่เคยจะวางแผนจริงจังสักหน คือแค่บ่นไปงั้นแหละ
โจจินชิก (รับบทโดย ยุนกยองโฮ) หมายเลข 3 อาชีพรับจ้างขับรถ
บยอนซังมี (รับบทโดย ซอจองยอน) หมายเลข 4 อาชีพแม่บ้าน มีลูกสาวหนึ่งคน กำลังเรียนมัธยม
ชเวยองแจ (รับบทโดย โจฮันชอล) หมายเลข 5 อาชีพหัวหน้าเลขาขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ที่เวลามีค่ามากตามวิสัยคนในแวดวงงานธุรกิจ และมีอีโก้ค่อนข้างสูงจากตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดูจะเหนือกว่าลูกขุนคนอื่นๆ
จางกีแพค (รับบทโดย คิมฮงปา) หมายเลข 6 อดีตสัปเหร่อที่มีประสบการณ์มา 30 ปี เป็นคนกล้าและเชื่อมั่น
โอซูจอง (รับบทโดย โจซูฮยาง) หมายเลข 7 เป็นหญิงในวัย 20+ ที่ยังล่องลอย หางานทำอยู่
หลังจากได้รับการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับคดีเบื้องต้นและหลักการที่ต้องวางตัวคือ ให้สมมติไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์รอฟังเรื่องราวทั้งหมดให้ครบ แล้วจึงค่อยวินิจฉัยความผิดในท้ายการพิจารณา แม้ว่าจะรู้อยู่แล้วว่าปลายทางวันนี้ จะเป็นการตัดสินบทลงโทษ เพราะจำเลยได้ยอมรับสารภาพไปในขั้นตอนสอบสวนของตำรวจไปแล้ว
หลังจากนั้น คณะลูกขุนก็เข้าห้องพิจารณาคดี ประจำที่นั่งทรงเกียรติ Jury Box (คอกลูกขุน)
คดีในวันนั้นเป็นคดีฆาตกรรม จำเลยคือ คังดูชิก หนุ่มพิการมือกุดไร้นิ้ว จากเหตุไฟครอกในวัยเด็ก ต้องสวมถุงมือเทียมไว้ และมีลักษณะสภาพจิตใจไม่ค่อยมั่นคง การสืบความในศาลสรุปได้ว่า คืนนั้นฝนตก เขาทะเลาะกับแม่ เรื่องการเซ็นต์หนังสือรับรองการตัดญาติเพื่อการใช้สิทธิ์รับเงินสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐในฐานะคนพิการ -ประมาณสองหมื่นบาทต่อเดือน (ถ้ามีครอบครัว มีคนมีรายได้ จะไม่สามารถขอรับสิทธิ์ได้) เขาบันดาลโทสะใช้ฆ้อนทุบหัวแม่ และปล่อยแม่ตกระเบียงอพาร์ทเมนท์ลงมาถึงแก่ความตาย โดยมีพยาน คือ 1. ตำรวจที่รุดไปที่เกิดเหตุจากการโทรแจ้ง 911 ของเขา 2. ยามอพาร์ทเมนท์ที่ยืนอยู่ด้านล่าง อีกฟากของตึก 3. เจ้าหน้าที่ศูนย์ราชการ ที่เคยรับมือกับการอาละวาดอยากได้เงินสวัสดิการของคังดูชิก 4. หมอนิติเวช และผลการสอบปากคำจากตำรวจว่าเขายอมรับผิด
แต่ศาลเข้าสู่ความตึงเครียดเมื่อคังดูชิกเริ่มออกท่าทีว่า อันที่จริงเขาจำเหตุการณ์คืนนั้นไม่ได้ บวกกับเหตุการณ์ที่ลูกขุนหมายเลข 6 ลุกขึ้นแย้งหมอนิติเวช เดิมพันด้วยประสบการณ์สัปเหร่อทั้งชีวิต ยืนยันว่าแผลที่ศีรษะแบบนี้ไม่ได้เกิดจากฆ้อนแน่นอน แต่เขาก็ไม่มีวุฒิหรือศาสตร์ใดรองรับความน่าเชื่อถือนั้นได้ และการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติของศาล ทำให้เขาต้องถูกเชิญออกจากห้องพิจารณาคดีไป
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความเริ่มลังเลในใจลูกขุนบางคนว่า เขาผิดจริงหรือไม่ นำไปสู่ความยืดเยื้อถึงขั้นข้ามคืนกันเลยเชียว เพราะเต็มไปด้วยการถกเถียง โน้มน้าวเหตุผลกันบ้าง แสดงอารมณ์อคติบ้าง ย้ายข้างยืนบ้าง ซึ่งเกิดขึ้นต่อกันในหมู่คณะลูกขุน ถ้าเพียงหนึ่งคนไม่ลงมติก็ไม่สามารถเดินหน้าใดต่อได้ ซึ่งนิสัยและพื้นเพภูมิหลังของแต่ละคนที่ต่างกัน ก็มีผลต่อทัศนคติ และวิธีคิด วิจารณญาณ การแสดงความเห็น กระบวนการศาลวันนั้น จึงมีขั้นตอนที่งอกขึ้นมามากมายอย่างไม่คาดคิด เพื่อตอบสนองคำขอของคณะลูกขุน ทั้งการรื้อสำนวนคดีมาตรวจอ่านใหม่ การไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จำลองสถานการณ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นสุดท้ายเอกฉันท์ในการตัดสินคดี ที่พวกเขาจะมั่นใจได้ว่าได้ทำทุกอย่าง คิดไตร่ตรองทุกเม็ดแล้ว เพราะนี่คือการชี้เป็นชี้ตาย‘ชีวิต’คน ครั้งแรกของพวกเขา
ความสนุก ลุ้นๆชวนติดตามไปกับการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของคดี มีอะไรอยู่ในรายละเอียดของเรื่องราวที่มองข้ามไป หรือเห็นไม่ครบ คือสิ่งที่คณะลูกขุนอยากพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ เรื่องคาใจเพียงนิดก็ไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆได้ ไม่ด่วนสรุปชะตาคนๆหนึ่งในมือเร็วเกินไป บวกความเอาใจช่วยทีมลูกขุนที่มีความต่าง มาเจอกันครั้งแรก ทุกคนก็คือตัวแทนปุถุชนในสังคม ที่มีความเทาๆโดยธรรมชาติ อาจเห็นแก่ตัวบ้าง อาจมีอคติบ้าง ด่วนประเมินคนจากภายนอก ดื้อรั้นอีโก้บ้าง จุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน รวมตัวกันแล้วคือจะช่วยหรือจะรวน ก็เป็นไปได้ทั้งคู่ สีสันเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ชมจดจ่อติดตามเรื่องราวไปได้จนจบ โดยมีแซมด้วยอมยิ้มหน่อยๆ และน้ำตารื้นๆให้เปื้อนหน้า จุกหัวใจบ้าง เป็นสูตรเด็ดของหนังเกาหลีที่มักได้ใจผู้ชมไปเสมอ
ความขลังของระบบยุติธรรมที่ยังสร้างความเชื่อถือให้ได้ ทั้งแง่ของการพิจารณาตามตรรกะข้อเท็จจริง พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ การเคี่ยวพิสูจน์ข้อเท็จจริงจนหยดสุดท้าย การยึดมั่นในการใช้กฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรม ช่วยผู้บริสุทธิ์ ลงโทษผู้ผิดอย่างมีหลักการ ทั้งนี้ หลักการก็อยู่ในมือคนที่ใช้แหละว่าจะตั้งอยู่บนวิจารณญาณที่ดีอย่างไร
หนังได้ทิ้งท้ายข้อเท็จจริงไว้ว่า สถิติผลการวินิจฉัยคดีว่าไม่มีความผิด ในศาลระบบลูกขุนนั้น มีมากกว่าการพิจารณาคดีในศาลปกติที่ไม่มีระบบลูกขุน ถึง 3 เท่าเลยค่ะ ซึ่งอาจเป็นเพราะการใช้ใจมาช่วย ค่อยๆพินิจพิเคราะห์ร่วมกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
ส่วนตัวอาจจะขัดใจอยู่บ้างเล็กน้อยกับความพยายามโหมมู้ดในบางฉากให้กระหึ่มหรือประเจิดประเจ้อเว่อร์เกิน เลยดูเป็นการตั้งใจประดิษฐ์มากไปหน่อย คล้ายกับว่าอยากได้กลิ่นคอมมาดี้ แต่ก็ไปได้ไม่สุด (หรือผู้เขียนเส้นลึกไปเอง) คิดเองว่าถ้าหนังใช้สไตล์ที่เรียลกว่านี้อาจถูกใจผู้เขียนมากขึ้นก็ได้นะ
และออกจะงงๆที่เอา รยูด๊อกฮวาน มาแสดงรับเชิญแว้บเดียว ในบทที่ตลกแบบขำไม่ออก ดูประดักประเดิดไปหน่อย เสียดายทั้งบทและตัวนักแสดง แต่รวมๆทั้งเรื่องก็ถือว่าดูได้สนุกดีค่ะ แฟนคลับพัคฮยองชิกมาเชียร์กันได้เลย
สามารถรับชมซับไทย Juror 8 ได้ที่ VIU <คลิก>
เกร็ดความรู้ : ทำความรู้จัก ‘ลูกขุน’ ที่ไม่มีในระบบศาลยุติธรรมของประเทศไทย
ขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้มีความรู้ด้านกฎหมาย แต่อาศัยจากดูหนังมาหลากหลายชาติและไปหาอ่าน รวบรวมสรุปมาเล่าให้ฟัง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงไม่คุ้นเคยเรื่องของกฎหมาย และถ้าไทยก็ไม่ได้ใช้ระบบลูกขุน ก็คงยิ่งไม่เข้าใจ แต่ถ้ามีข้อผิดตกอะไรไป ก็ขออภัยไว้ล่วงหน้านะคะ
คณะลูกขุน เรียกว่า Jury ถ้าเป็นลูกขุนคนเดียวจะใช้คำว่า Juror ระบบลูกขุน คือ การคัดเลือกตัวแทนของประชาชน มานั่งพิจารณาคดีคู่กับผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น มีอำนาจนั่งฟังการสืบพยานและพิพากษาคดี เฉพาะข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงตามหลักฐานที่นำมาฟ้องหรือไม่ คณะลูกขุนเป็นผู้กำหนดคำวินิจฉัย ส่วนผู้พิพากษาเป็นผู้คุมการพิจารณาให้เป็นไปตามขั้นตอน ให้คำแนะนำลูกขุน และปรับบทกฎหมายว่า จะใช้กฎหมายใด มาตราใดเท่านั้น (ผู้พิพากษาในระบบนี้จะไม่มีอำนาจตัดสินว่าจำเลยผิดหรือไม่ผิด) ระบบลูกขุนจะนำมาใช้ในศาลคดีอาญาหรือแพ่งทั่วไป คณะลูกขุนอาจมีได้มากถึง 12 คน
ลูกขุน เป็นประชาชนคนธรรมดา ไม่ต้องมีความรู้กฎหมายก็ได้ จะคัดเลือกมาจากประชาชนที่มีภูมิลำเนาในเขตศาล โดยกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นให้เหมาะสมกับคดีนั้นๆ แล้วใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มเลือกขึ้นมา ลูกขุนจะถูกเก็บตัว ห้ามติดต่อกับคนอื่นๆ จนกว่าคดีจะเสร็จ และจะได้รับค่าตอบแทน
เมื่อคณะลูกขุนนั่งฟังการสืบพยานเสร็จทุกปาก จะออกไปประชุมกันในห้องพักพิเศษเพื่อลงคะแนนเสียงคำวินิจฉัย แล้วจึงกลับมาศาล ให้หัวหน้าของคณะลูกขุนอ่านคำวินิจฉัยว่า ลูกขุนเชื่อว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ การออกเสียงเพื่อตัดสินคดีของคณะลูกขุนใหญ่ (Grand Jury) ในการประชุมนั้น จะต้องได้คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 100% จึงจะตัดสินคดีได้ ถ้าคะแนนเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ เรียกว่า Hung Jury ศาลจะพิพากษาให้ปล่อยจำเลยไป แต่อัยการก็อาจฟ้องจำเลยใหม่อีกได้ ถ้ามีพยานหลักฐานใหม่
ดังนั้น ระบบลูกขุน จึงเป็นการสะท้อนภาพประชาธิปไตย เหมือนการเปิดโอกาสให้ประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงกฎหมาย สามารถเข้ามีส่วนร่วมกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง การเป็นตัวแทนของประชาชน ก็ทำให้เชื่อได้ว่าคำพิพากษาน่าจะตรงใจ สอดคล้องกับความเห็นของประชาชน และเป็นการเพิ่มมุมมองที่จะเข้าถึงและเห็นใจจำเลยมากขึ้น แต่ความไม่มีประสบการณ์ทางกฎหมายของคณะลูกขุน ก็อาจจะทำให้หลักการทางกฎหมายย่อหย่อนไปได้เช่นกัน
Trailer :