อีกหนึ่งเกียรติภูมิแห่งยุทธนาวีของวีรบุรุษขุนพล ‘อีซุนชิน’ และฮีโร่ ‘เรือเต่า’
อีกหน้าประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรของการรวมพลังต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ
Hansan : Rising Dragon เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์บางช่วงของ ‘เหตุการณ์สงครามเจ็ดปี’ หรือ ‘ศึกอิมจิน’ (ชื่อที่เรียกการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่นระหว่างปี 1592-1598) ในชุดไตรภาคของยุทธนาวีทื่ลือเลื่องในการปกป้องประเทศให้พ้นภัยรุกรานจากญี่ปุ่น ซึ่งนำทัพโดย พลเรือเอกอีซุนชิน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สองต่อจาก The Admiral : Roaring Currents (2014) และจะมีเรื่องที่สามปิดท้ายตามมา คือ Noryang: The Sea of Death ซึ่งถ่ายทำเสร็จแล้วแต่ยังอยู่ในขั้นตอนโพสโปรดักชั่น แต่โดยลำดับเวลาของเหตุการณ์จริงแล้ว เรื่องราวของ Hansan : Rising Dragon เกิดขึ้นเป็นลำดับแรก คือปี 1952 ตามมาด้วย The Admiral : Roaring Currents ที่ฉายไปก่อนหน้านั้น ซึ่งคือยุทธนาวีมยองนยังที่เกิดขึ้นในปี 1597 และ Noryang: The Sea of Death ซึ่งเกิดขึ้น ณ ช่องแคบโนรยังในปี 1598 และเป็นการรบที่ทำให้เกาหลีต้องสูญเสียขุนพลอีซุนชินไป
ใครที่เคยชม The Admiral : Roaring Currents หนังยอดขายตั๋วอันดับหนึ่งตลอดกาลมาแล้ว ขอแนะนำเลยว่าควรตามดูให้ครบชุด ใครที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์แบบเข้าใจง่ายควบบันเทิง ก็ไม่ควรพลาด หรือใครที่เพิ่งเข้ามาคลุกคลีบันเทิงเกาหลี เคยไปเที่ยวมาบ้างแล้วพบเห็นอนุสาวรีย์ขุนพลอีซุนชินตระหง่านเด่นอยู่ย่านจตุรัสควางฮวามุน หรือถูกกล่าวขานถึงบ่อย ๆ ในงานหนัง-ซีรีส์ ก็น่ามาติดตามดูนะ สำหรับเรื่อง Hansan : Rising Dragon นี้ทำรายได้ดีมาก (ณ ตอนที่เขียนรีวิวนี้มียอดตั๋ว 7 ล้านใบ) ขึ้นแท่นเป็นอันดับสอง Box Office ปีนี้ไปแล้ว
ทีมนักแสดงของทั้ง 3 เรื่องจะเป็นคนละชุดกันหมด สำหรับเรื่องนี้ ฟากโชซอนจะมีแม่ทัพหลายนายของจังหวัดจอลลาและคยองซัง ได้แก่ พัคแฮอิล รับบทเป็น นายพลเรืออีซุนชิน, อันซองกี รับบทเป็น ผบ.ออยองดัม, ซนฮยอนจู รับบทเป็น ผบ.วอนกยุน, กงมยอง รับบทเป็น ผบ.อีอ๊กกี, คิมแจยอง รับบทเป็น แม่ทัพเรือจองอุน, พัคฮุน รับบทเป็น ผบ.อีอันรยง ลูกศิษย์ของอ.ออยองดัม, พัคจีฮวาน รับบทเป็น นาแดยง ทหารช่างที่ดูแลเรือเต่า
และยังมี คิมซองกยู รับบทเป็น จุนซา ซามูไรทหารที่แปรพักตร์มาอยู่ฝ่ายโชซอน, อ๊กแทคยอน รับบทเป็น อิมจุนยอง พลเรือนที่คอยสอดแนมญี่ปุ่น, คิมฮยางกี รับบทเป็น จองโบรึม ผู้แฝงตัวเป็นหญิงบริการในค่ายทหารญี่ปุ่นเพื่อสืบข่าว สุดท้าย อีจุนฮยอก รับบทเป็น พัคฮวัง หัวหน้ากองกำลังอาสา
ส่วนฟากกองทัพเรือของญี่ปุ่นก็จะมี บยอนโยฮัน รับบทเป็น แม่ทัพวากิซากะ ยาสึฮารุ ไดเมียวแห่งเกาะอาวาจิ หรือตำแหน่งขุนนางศักดินาที่ทำหน้าที่รับใช้โชกุน, คิมซองคยุน รับบทเป็น โยชิอากิ คาโตะ แม่ทัพเรือที่แข่งดีแข่งเด่นกับวากิซากะ เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นไดเมียวในทีมเจ็ดขุนพลหอกผู้กล้าแห่งชิสุงาตาเกะ (Seven Spears of Shizugatake) ผู้ภักดีต่อ โทโมโทมิ ฮิเดโยชิ ไดเมียวที่เรืองอำนาจที่สุด เทียบโชกุนซึ่งเป็นผู้สั่งการศึกในครั้งนี้
นอกจากนี้ยังมี โจแจยุน รับบทเป็น แม่ทัพเรือซามาโนโสะ มานาเบะ, พัคแจมิน รับบทเป็น ชิจิเอมอน วาตานาเบะ นายทหารฝ่ายกลยุทธ, อีซอจุน รับบทเป็น วากิซากะ ซาเฮ หลานชายของแม่ทัพวากิซากะ ผู้รับมอบหมายหน้าที่สืบข่าวด้วยการปลอมตัวเป็นนักบวช และ ยุนเจมุน รับบทเป็นคูโรดะ คันเบ ที่ปรึกษาของโทโมโทมิ ฮิเดโยชิ
ณ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1592 หนึ่งเดือนหลังยุทธนาวีที่ซาชอน เมืองริมทะเลซึ่งห่างปูซานไปทางตะวันออก 94 กม. ไดเมียววากิซากะ ยาสึฮารุ (รับบทโดย บยอนโยฮัน) เดินทางมาถึงฐานทัพเรือญี่ปุ่นที่เมืองปูซาน เพื่อเตรียมการรบตอบโต้กับ นายพลอีซุนซิน (รับบทโดย พัคแฮอิล) โดยหวังชัยชนะที่จะได้รุกคืบ ทะลวงดินแดนอย่างราบรื่นขึ้นไปทางเหนือ จนถึงหนวี่เจิน (แมนจู), จีนหมิง และอินเดียนู่นเลย
เขาได้ฟังผู้รอดชีวิตมาจากการรบครั้งก่อนบรรยายถึงเรือรบของโชซอนว่า มีรูปทรงประหลาด ปิดมิดชิดรอบลำ จัดเป็น ‘เรือตาบอด’ หรือ ‘เมคุระบุเนะ (目蔵船)’ เพราะเหมือนอาวุธที่หลับหูหลับตา พุ่งชนทุกสิ่งจนวินาศ พวกเขาจึงเปรียบพลังที่น่ากลัวนี้ดุจ ‘บ๊กไคเซ็น’ สัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเลในตำนานญี่ปุ่น แต่ วากิซากะ ก็ได้เห็นจุดอ่อนของเรือลำนี้จากผลการรบที่ซาชอนว่า การพุ่งชนของเรือตาบอดจะทำให้หัวเรือรูปมังกรที่ไว้ใช้ยิงอาวุธนั้น ติดชะงักอยู่กับเรือที่ชน ทำให้เรือหมดฤทธิ์ไปด้วยโดยปริยาย ซึ่งเรือตาบอดที่เล่ามานั้นก็คือ ‘เรือเต่า’ หรือ ‘กอบุกซอน (거북선)’ ที่หลายคนคุ้นชื่อกันมากกว่านั่นเอง
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ด้านทหารทัพบกของญี่ปุ่นตีป้อมปราการปูซานแตก บุกทะลวงต่อไปถึงเมืองหลวงฮันยาง ทำให้ กษัตริย์ซอนโจ ต้องลี้ภัยขึ้นไปทางเหนือที่พยองยาง ทหาร 50,000 นายจากจังหวัดจอลลา คยองซัง และชุงชอง จึงไปรวมตัวกันที่เขาควังคโย เมืองยงอิน (เทียบเป็นจังหวัดคยองกี พื้นที่เมืองหลวงในปัจจุบัน) หวังยึดฮันยางกลับคืนมา แต่ก็ถูกกองกำลังหลักพันของ วากิซากะ ซุ่มโจมตีเสียย่อยยับ นั่นก็เป็นเพราะฝีมือรบที่ต่างชั้นกัน
ในขณะที่เขตจังหวัดทางใต้ กองทัพเรือของญี่ปุ่นกลับพ่ายกระเจิงให้กับ นายพลอีซุนชิน ต่อเนื่องหลายสนามรบ เป็นเหตุให้วากิซากะเปลี่ยนแผนจากการเดินหน้าโจมตีป้อมปราการอื่น หันมาเปิดศึกประจัญบานทางเรือกับอีซุนชิน เพื่อสร้างผลงานเอาหน้ากับเจ้านายแทน
ข้างกายฝ่ายนายพลอีซุนชิน ได้เรียกรวมพลเหล่าแม่ทัพเรือ ณ กองบัญชาการในเขตยอซู เพื่อปรึกษาการร่วมรบเชิงรุก แม้ว่าบางคนจะเห็นแย้ง ต้องการเกมตั้งรับรักษาฐานมากกว่า เพราะเห็นความพ่ายแพ้ของกองทัพบก แต่อีซุนชินก็ยังแน่วแน่กับกลยุทธการรบที่คิดขึ้นใหม่ นั่นคือ การสร้างกระบวนทัพปีกกา (Crane’s Wing) ต้อนให้เรือรบข้าศึกถูกล้อมไว้ในรูปแบบกึ่งวงกลม โดยใช้เรือเต่า 3 ลำเป็นกองหน้าเข้าปะทะกับเรือญี่ปุ่น ส่วนเรือรบอื่นที่โอบล้อมทั้งสามด้านจะโจมตีระยะไกลด้วยปืนใหญ่ โดยรับคำสั่งปฏิบัติการจากเรือบัญชาการของ อีซุนชิน เท่านั้นว่าลำใดจะสามารถทำการยิงได้เมื่อไหร่
หรือก็คือกลยุทธ์นี้สร้างขึ้นเพื่อสกัดจุดแข็งการศึกของทหารญี่ปุ่น ซึ่งก็คือการศึกแบบประชิดตัว ด้วยการยกพลบุกขึ้นเรือคู่ต่อสู้เพื่อชิงชัย ผ่านการนำทางของปืนไฟที่มีคุณภาพ สถานการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะเรือรบลำอื่นที่ไม่ได้ถูกล้อมอยู่ไกลเกินไป ส่วนเรือเต่าที่อยู่ใกล้ ๆ ก็หุ้มเกราะเหล็กเป็นหลังคาพร้อมติดเหล็กแหลมทั่วพื้นที่ ทำให้ปีนเข้าไปเผด็จศึกไม่ได้ เผลอ ๆ ดูแล้วจะเป็นเม่นมากกว่าเต่าเสียอีก
ที่สำคัญคือ เรือเต่าที่จะออกศึกครั้งนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่อย่างเป็นความลับ (แต่มีการเปิดเผยในเรื่องนะ) ซึ่งก็คงต้องไปติดตามชมกันเองค่ะว่าปรับปรุงอะไรบ้าง เด็ดแค่ไหน แต่ขอใบ้ว่าแรงบันดาลใจมาจากเต่าจริง ๆ ที่ช่างดินปืนถือมาให้ นายช่างนาแดยง (รับบทโดย พัคจีฮวาน) แหละ
ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นส่งสายลับมาลักลอบวางเพลิงเรือเต่า ปลดปล่อยเชลยศึก และยังแอบขโมยแบบแปลนเรือเต่าฉบับเก่าไป สายลับฝั่งเกาหลีที่ไปแฝงตัวอยู่กับกองทัพญี่ปุ่นก็ถูกจับได้ แต่ก็หนีรอดออกมาส่งข่าวได้สำเร็จ และก็ยังมีเชลยทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งที่แปรพักตร์ หลังการยิง อีซุนชิน บาดเจ็บในศึกที่ซาชอน (ซึ่งก็เพราะถูกยิงนี่แหละ ถึงได้เล็งเห็นว่าการที่ตัวเองอยู่ใกล้ในรัศมีการยิงมีประโยชน์ยังไง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการคิดกระบวนทัพข้างต้น)
ถึงเขาจะถูกจับ แต่เขาก็เปลี่ยนใจขอมารับใช้อีซุนชินด้วยตัวเอง เพราะเห็นวิถีนายพลผู้กล้าที่ปกป้องลูกน้อง ต่างขั้วกับพวกญี่ปุ่นที่เขาเคยทำงานด้วย รวมถึงทัศนคติในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรม มิใช่จะการก่อสงครามห้ำหั่นชาติ สายลับแปรพักตร์คนนี้จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องข้อมูลลวงได้เป็นอย่างดี
ตามข้อมูลประวัติศาสตร์แล้ว ยุทธนาวีครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของเกาหลี ที่สามารถจมเรือญี่ปุ่นได้ถึง 47 ลำ และยึดกลับมาได้ 12 ลำ ในขณะที่ แม่ทัพวากิซากะ หลบหนีไปได้ และเมื่อข่าวการพ่ายแพ้ทางเรือไปถึงหู โทโมโทมิ ฮิเดโยชิ เขาจึงสั่งให้กองทัพญี่ปุ่นยุติปฏิบัติการทางทะเลทั้งหมด
สำหรับเราที่มิใช่คนเกาหลี ชมแบบตอบโจทย์ความบันเทิงล้วน ๆ จัดว่าเป็นหนังที่ดูสนุกในแง่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เห็นยุทธวิธีการรบทางเรือ การรบแบบดั้งเดิมโบราณ สัญญาณสื่อสารแบบอนาล็อก ทุกอย่างน่าสนใจไปหมด ได้เห็นตัวแปรช่วยและฉุดของการสงคราม วิถีผู้นำ ความรักชาติ พฤติกรรมมนุษย์ และยังสนุกตื่นเต้นกับฉากแอ็คชั่นสู้รบที่เข้มข้นมาก ๆ (แม้จะรู้ข้อมูลอยู่ก่อนแล้วว่าใครชนะ) ได้ร่วมฮึกเหิมเชียร์เรือเต่า อีกหนึ่งฮีโร่สำคัญของเรื่อง สรุปว่าสนุกคุ้มค่าเวลา 2 ชม.กว่าแน่นอน แต่ก็แอบแนะนำว่าน่าจะหาแบ็คกราวด์เรื่องนี้ไปบ้างก่อนไปดู เพราะเดินเรื่องค่อนข้างไวพอควรเลย
ในแง่งานโปรดักชั่น ด้วยความเป็นงานที่พึ่งพา CG เสียเยอะ ไม่ได้ถ่ายทำบนเรือจริงในทะเล ก็เลยอาจเห็นความไม่เนียนหรือภาพแข็งอยู่พอสมควร แต่ถ้าไม่คิดมากก็มองข้ามได้
ที่ไม่ได้พูดไม่ได้คือ นักแสดงคับคั่งละลานตามาก แบบว่าไม่มีโอกาสเห็นหน้าใครชัด ๆ นักหรอก เกือบไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะทั้งเพราะบทและชุดเกราะนักรบบดบังใบหน้าไปหมด แต่ก็มีหลายซีนที่เน้นจับภาพ Close Up ใบหน้านักแสดง ซึ่งกลับกลายเป็นดูไม่ค่อยธรรมชาติไปซะงั้น และกับเรื่องสำเนียงเกาหลีในภาษาญี่ปุ่นที่ลดทอนความสมจริงไปบ้างด้วย แต่อย่างว่านะ จะเลียนสำเนียงลีลาพูดแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีแปลกใจเล็กน้อยบ้างว่าภาคนี้ไม่เห็นญี่ปุ่นแต่งหน้าออกรบแบบปีศาจเหมือนในภาคแรก จะมีก็แค่ฉากเดียวในสนามรบบนบก ส่วนตัวแล้วคิดว่ามันทรงพลังช่วยบิวด์อารมณ์ได้ดีเลย
Trailer :
ติดตามบทความรีวิวอื่นๆ ข่าวสารบันเทิงเกาหลี หรือพูดคุยกับ WARUMANU ได้ที่ เพจมูฟวีข้ามวันซีรีส์ข้ามคืน
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡
Photo Source (1)