A Muse (Eun Gyo) มีชื่อไทยว่า ‘เสน่หาในวังวน’ เป็นภาพยนตร์ดราม่าหน่วงจิตติดเรท 18+ บอกเล่าความสัมพันธ์เสน่หาสุนทรีย์ของชายวัย 70 ที่มีต่อเด็กสาวรุ่นหลานวัย 17 นำไปสู่เรื่องราวสะท้อนจิต รัก โลภ โกรธ เกลียด อิจฉาของวังวนชีวิตมนุษย์
เรื่องนี้ ตอนออกฉายที่เกาหลีก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากในแง่ความไม่เหมาะสมที่เล่นเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของชาย 70 vs สาว 17 แต่เอาจริง หนังก็ทำรายได้ดีพอใช้เลยนะ สำหรับในไทยก็ดูเหมือนจะได้รับความนิยมมาก หนังแพร่หลายหาง่ายในเน็ต มีนักวิจารณ์รีวิวไว้มากมาย ยิ่งช่วงหลังจากคิมโกอึนประสบความสำเร็จในซีรีส์ Cheese in the Trap ก็ยิ่งมีคนตามดูเรื่องนี้กันมากขึ้น ส่วนหนึ่งคงมาจากบทอีโรติกที่ร่ำลือกันไปด้วย แต่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าเนื้อหาของหนังสนุกน่าสนใจ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าบทวาบหวิว จึงอยากหยิบมาเล่าสู่กันฟังเผื่อยังมีคนไม่ได้ชมด้วยแหละ
อีจอคโย (รับบทโดย พัคแฮอิล) เป็นนักเขียนชั้นครู ระดับปูชนียบุคคล ได้รับยกย่องเป็นนักวรรณกรรมแห่งชาติ ในวัย 70 ของเขาซึ่งร่างกายร่วงโรยไปแล้ว แต่สมองและสองมือยังทำงานได้ดี เขาใช้ชีวิตโสดอย่างสมถะ เก็บตัว มีความสุขกับงานเขียนในห้องใต้ดินรกๆ แต่สงบเงียบของบ้าน
ฮันอึนคโย (รับบทโดย คิมโกอึน) เป็นเด็กรุ่นแตกเนื้อสาววัย 17 เรียนมัธยม อาศัยอยู่ใกล้บ้านนักเขียนอีจอคโย อึนคโยมีปัญหาขาดความรักความอบอุ่นทางบ้าน แต่สภาพจิตใจไม่เลวร้ายใด ยังมีความร่าเริง เป็นคนเปิดเผย ช่างพูด รู้จักเอาใจใส่ผู้อื่น และทำงานบ้านเก่ง
ซอจีอู (รับบทโดย คิมมูยอล) ลูกศิษย์หนุ่มวัย 30 ที่ติดสอยห้อยตามรับใช้อาจารย์อีจอคโยมาตั้งแต่สมัยเรียน แม้เขาจะเป็นนักศึกษาสายวิศวกรรมศาสตร์ เอกโลหการ เด่นแต่สมองซีกซ้าย ซีกขวาคงอ่อน จึงไม่มีความลึกซึ้งเข้าถึงงานวรรณกรรมอย่างแท้จริง และเป็นคนจิตใจหยาบกระด้าง อาจารย์อีจอคโยจึงช่วยเหลือด้วยการเป็นนักเขียนเงาให้บ้าง อาจเข้าสูตร win-win เพราะอาจารย์ก็อยากเขียน แต่ไม่อยากดังแล้วต้องออกงาน ถ้าแบ่งให้งานลูกศิษย์ไป งานก็ได้เผยแพร่ และลูกศิษย์ที่รักเหมือนเป็นลูกชายก็ได้มีชื่อเสียงด้วย ซอจีอูมักแวะเวียนมาหาอาจารย์บ่อยๆ ช่วยจัดการอาหารการกินและงานบ้านให้
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่ออึนคโยหลบเข้ามาแอบงีบที่เก้าอี้โยกในบ้านสงบร่มรื่นของอาจารย์จอคโย พออาจารย์รู้ว่าเธอต้องการหารายได้พิเศษจึงให้ซอจีอูชวนมาทำงานบ้านให้ ซึ่งอึนคโยก็ทำงานได้ดี ขยันขันแข็ง
แต่เพราะเธอเป็นเด็กวัยรุ่นตามสมัยนิยม นุ่งสั้น เสื้อรัดติ้ว อากัปกิริยาไม่ค่อยสำรวม เข้าถึงเนื้อถึงตัวง่ายๆ บ่อยครั้งจึงเหมือนการโปรยเสน่ห์สาวรุ่นใส่อาจารย์จอคโยแบบไม่ได้ตั้งใจ เพราะลึกๆเธอรู้สึกสบายใจและรักอาจารย์จอคโยเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ เธอเรียกเขาว่า ‘คุณตา’ เสมอ แต่อาจารย์จอคโยสิ แม้สังขารไม่ได้เอื้อแล้ว (พิสูจน์ด้วยฉากเปิดตัว มีให้เห็นกันจะๆ แบบผู้ชมถึงขั้นมีอึ้งค่ะ 555) แต่ใจก็ยังแอบหวั่นไหวไปบ้าง อาศัยสติและวุฒิภาวะฉุดรั้งไว้ จึงพอข่มใจได้บ้างแบบหวิดๆหลุด
เขาต้องมนต์เสน่ห์ความไร้เดียงสา ผิวขาวหน้าใส และเอ็นดูความช่างจำนรรจาของอึนคโย ที่แสดงให้เห็นแววว่าเธอเป็นเด็กฉลาด มีความละเอียดอ่อนในจิตใจ มักใส่ใจถามถึงงานกวี และมีแววเข้าถึงความลึกซึ้งของงานประพันธ์ได้ จึงกลายเป็นความถูกชะตา ทำให้พฤติกรรมหรือรสนิยมการใช้ชีวิตหลายอย่างของอาจารย์เริ่มละลายคล้อยตามอึนคโยไปโดยไม่รู้ตัว เช่น อาหารการกิน การสักเฮนนา ชีวิตดูมีสีสันขึ้นต่างจากการอยู่กับซอจีอูผู้หยาบกระด้าง
ลึกลงไปกว่านั้น ในจิตใจของอาจารย์จอคโยที่หลงใหลอึนคโยเยี่ยงหญิงสาว เขาปลดปล่อยมันออกในความฝัน บรรเลงบทรักวาบหวิว เคลิบเคลิ้มสวยงาม และถ่ายทอดจินตนาการนั้นลงเป็นงานเขียนที่มีคุณค่างดงามในเชิงวรรณกรรม ชื่อเรื่องว่า ‘อึนคโย’ เก็บซ่อนไว้เป็นสมบัติความสุขทางใจที่สามารถครอบครองไว้ไม่เดือดร้อนใคร
นี่สินะ ที่มาของชื่อหนังเรื่องนี้ A Muse คือเปรียบอึนคโยเหมือนเทพธิดาที่เป็นแรงบันดาลใจให้กวี (เกร็ดความรู้เรื่องเทพี Muse อ่านเพิ่มเติมได้ที่ท้ายรีวิว)
เรื่องคงไม่มีปัญหาใดหรอก ถ้าไม่เริ่มจากซอจีอูผู้มี EQ ต่ำ จนเกิดอาการอิจฉาอึนคโย โกรธอาจารย์ที่โปรดอึนคโยไปซะทุกอย่าง อิจฉาอาจารย์แก่หง่อม ที่ดันมีเด็กสาวรุ่นๆมารักเอาใจใส่ได้ ทั้งๆที่ตัวเองก็ดูดี หนุ่มแน่นกว่าเยอะ ชื่อเสียงก็มี พาลไม่พอใจอาจารย์ที่อาศัยชื่อตนเป็นที่ระบายงานเขียนเล่นๆ แปลเจตนาอาจารย์เป็นการเยาะเย้ยถากถางความสามารถของตน เสียดแทงปมด้อยของตัวเอง โทสะจึงครอบงำ และบังเอิญได้เห็นต้นฉบับงานเขียน ‘อึนคโย’ เขาจึงขโมยงานไปตีพิมพ์เผยแพร่ในนามของตัวเอง จนได้รับรางวัล ทำให้อาจารย์โกรธเขามากที่ทำให้ความลับในใจถูกเปิดเผยออกมา แต่สิ่งที่ทำให้โกรธปรอทแตกจนให้อภัยไม่ได้อีกแล้ว ก็คือทำให้อึนคโยเข้าใจผิดว่าเป็นซอจีอู คนที่หลงใหลเธออย่างลึกซึ้ง จนเธอยอมมีอะไรด้วย จะว่าไป ก็เหมือนอาจารย์โดนหยามนั่นแหละ
ทั้ง ‘เด็กสาวอึนคโย’ และ ‘งานเขียนอึนคโย’ เปรียบเหมือนของรักหรือกล่องดวงใจของอาจารย์จอคโย ซึ่งเขาทะนุถนอมดูแลไว้ในโลกส่วนตัว แต่ถูกลูกศิษย์ทรยศหักหลังทำลายกล่องดวงใจ ด้านมืดของจิตใจจึงออกมาตอบโต้การทำร้ายกัน ลงท้ายด้วยทุกความสัมพันธ์พังทลาย เหลือไว้เพียงความเจ็บปวดในใจทุกคนที่ลบออกไปจากชีวิตไม่ได้
หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่อง Lolita ของฝรั่ง มีพลอตคล้ายๆกันอยู่บ้าง แต่ด้วยความเป็นสไตล์หนังเกาหลีที่ไม่เน้นดาร์คมาก ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้มีความดูง่าย เรื่องราวใกล้ตัว เล่าแบบไม่ซับซ้อน สะท้อนจิตปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ วังวนความทุกข์ที่มาจาก รัก โลภ โกรธ เกลียด อิจฉา การผูกเรื่องก็มีความสมเหตุสมผล อธิบายได้ในทุกการกระทำของตัวละคร ถ่ายทอดจิตใจของแต่ละคนที่มีทั้งด้านดีและด้านร้ายในตัวตามแต่สันดานและบริบทชีวิตที่กล่อมเกลาจิตใจมา แต่สถานการณ์แวดล้อมที่กดดัน หรือยั่วยุ ก็สามารถปลุกสัญชาติญาณร้ายออกมาได้ ก็เพราะมันเป็นสัญชาติญาณเอาตัวรอดของมนุษย์นี่แหละ นี่ถ้าซอจีอูไม่ก่อเหตุ ผู้เขียนว่านานไปสักวัน อาจารย์จอคโยก็อาจตบะหลุดกับอึนคโย กลายเป็นหนังอีกม้วนก็ได้นะ
หนังมีความเนิบบ้าง แต่ก็คงเพราะต้องการค่อยๆเล่าถ่ายทอดอารมณ์ลึกๆของตัวละครให้ผู้ชมค่อยๆคล้อยตามซึมลึกกันไป (หรือเล่าเรื่องช้าตามความแก่ของอาจารย์ 555)
จากพลอตเรื่อง คงเลี่ยงฉากอีโรติกไม่ได้แน่นอน ถือว่าทำได้ดีทั้งในแง่ความสวยงาม เร้าใจ และสื่อความ ทั้ง 2 ฉาก ถูกแบ่งแยกให้เห็น contrast ได้ดี อันนึงสวยพริ้วละมุน สมกับเป็นจิตนาการ บ่งบอกความบริสุทธิ์ใจ (อ้างโดยนัยของคุณตาว่าเคลมอึนคโยด้วยงานประพันธ์ มิใช่ร่างกายหรือจิตปฏิพัทธ์อย่างเปิดเผย) กับอีกฉาก เป็น bed scence สื่อความฉาบฉวยที่อึนคโยเองฟันธงว่าเป็นความเหงาของเด็กวัยนี้เท่านั้น
ผู้เขียนชอบการแสดงของคิมโกอึนมาก ยิ่งถ้าผู้ชมได้เห็นผลงานเรื่องอื่นๆของเธอมาทั้งหมด จะยิ่งตะลึงกับความสามารถแยกแยะคาแรคเตอร์ตีบทแตก เพราะแต่ละเรื่องต่างกันโดยสิ้นเชิง และแสดงได้ดีเยี่ยมทุกเรื่อง เรื่องนี้ คิมโกอึน ผ่านการออดิชั่นนักแสดง 300 คนมาด้วยเหตุผลของผู้กำกับที่เลือกเธอเพราะ เธอแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่คิดเอาใจผู้กำกับ ไม่คิดว่าต้องสวยสู้กล้อง ท่ามกลางความดูไร้เดียงสาก็สามารถแฝงความเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องยืนหยัดได้แม้ขาดความรักความอบอุ่นที่บ้าน พัคแฮอิลเองยังออกปากชมคิมโกอึนว่า เธอมีความคล้ายนางเอกหนังเรื่องก่อนของเขา จอนโดยอน ใน Happy End อืม! ผู้เขียนเห็นด้วยนะ จับตาดูคิมโกอึนเถอะ เธอสามารถเติบโตไปถึงระดับฝีมือแถวหน้าเหมือนจอนโดยอนแน่นอนในอนาคต
ในส่วนของพัคแฮอิลนั้น เขาแสดงได้ดีทีเดียว ต้องใช้เวลาเมคอัพหลายชม.เพื่อแปลงคนอายุ 35 เป็น 70 ซึ่งยากสาหัสอยู่นะ แต่ส่วนตัว รู้สึกว่าเมคได้ความรู้สึกเพียงอายุสัก 50-60 เองนะ
ปิดท้ายด้วยบทพูดสุดท้ายของอึนคโยที่บอกอาจารย์จอคโยก่อนจากไปว่า ‘อึนคโยเป็นของคุณตา’ ซึ่งหมายถึงทั้งตัวเธอและงานเขียน แต่สภาพของอาจารย์จอคโยกลับ contrast เขาไม่เหลืออะไรอีกแล้วในชีวิต ก็เป็นอารมณ์จบหน่วงดี ชวนตั้งคำถามความอยากของมนุษย์ว่า จริงๆแล้วคนเราต้องการครอบครองอะไรกันแน่
Trailer :
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม :
ในวงการงานศิลป์ งานวรรณกรรม จะรู้จักกันดีว่า Muse เป็นเทพีที่สร้างแรงบันดาลใจให้กวี กำเนิดที่มาของ Muses คือกลุ่มของเทพธิดากรีก ซึ่งเป็นธิดาของซุสกับนิโมซิเน มีอยู่ทั้งหมด 9 นาง ซึ่งล้วนมีความงาม ความสามารถเก่งกาจ และทรงภูมิความรู้ในศาสตร์ศิลป์ 9 แขนงย่อย ได้แก่
- ไคลโอ (Clio) มิวส์แห่งประวัติศาสตร์ มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือม้วนกระดาษและหนังสือ
- ยูเรนิอา (Urenia) มิวส์แห่งดาราศาสตร์ มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือลูกโลกและเข็มทิศ
- เมลพอมินี (Melpomene) มิวส์แห่งละครโศกนาฏกรรม มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือหน้ากากในการแสดงละครโศกนาฏกรรม
- ธาไลอา (Thalia) มิวส์แห่งละครสุขนาฏกรรม มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือหน้ากากในการแสดงละครสุขนาฏกรรม
- เทิร์ปซิคอเร (Terpsichore) มิวส์แห่งนาฏศิลป์ฟ้อนรำ มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือพิณ Lyre
- แคลลีโอพี (Calliope) มิวส์แห่งโคลงมหากาพย์ มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือกระดานชนวน
- เอราโต (Erato) มิวส์แห่งกวีนิพนธ์ มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือพิณเจ็ดสายที่เรียกว่า Cithara
- โพลิฮิมเนีย (Polyhymnia) มิวส์แห่งบทสวดสดุดีปวงเทพ มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือผ้าคลุมศีรษะ
- ยูเทอร์พี (Euterpe) มิวส์แห่งดนตรี มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือขลุ่ยและเครื่อง Aulos
เมื่อใดที่โอลิมปัสมีการเฉลิมฉลอง เหล่าเทพีมิวส์ทั้ง 9 จะได้แสดงและบรรเลงงานศิลป์ด้วยเสียงอันไพเราะที่แม้แต่เทพทั้งหลายก็ต้องเงี่ยโสตสดับฟังอย่างดื่มด่ำ
Muse จึงเป็นรากศัพท์ให้ Museum ซึ่งคือ พิพิธภัณฑ์ เป็นสถานที่รวมรวมงานศิลป์ต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน