focus

ใครคือ ‘YS’ และ ‘DJ’? : ส่องบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลี ผ่านซีรีส์ Reborn Rich

23/03/2023 - ICELADA

focus reborn rich ys dj cover

แม้ซีรีส์กระแสแรงแห่งปี 2022 อย่าง Reborn Rich จะจบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการทุบสถิติเรตติ้งสูงสุดในประวัติศาสตร์ช่อง JTBC ขึ้นนำ ผลงานระดับตำนานอย่าง ‘SKY Castle’ ซ้ำยังไต่ระดับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองเพียง ‘The World of Married Couple’ ในฐานะซีรีส์ที่ทำเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของช่องเคเบิล ด้วยเรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศ 28.4% ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่เพียงแค่ผลงานนี้จะดึงดูดความสนใจอย่างถล่มทลายจากเรื่องราวสุดแสนดราม่าในครอบครัวระดับแชบอลระหว่างการออกอากาศเท่านั้น แต่ยังคงมีกระแสที่ผู้คนที่หยิกยกบางบริบทและเนื้อเรื่องเปรียบเทียบเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่เสมอ แม้ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะจบไปแล้วก็ตาม

Lee Sung Min Song Joong Ki Reborn Rich

แน่นอนว่าเนื้อหาสำคัญของ Reborn Rich คือ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจและความเป็นใหญ่ระหว่างคนในครอบครัวของชนชั้นสูงเกาหลีแห่งตระกูล ‘จิน’ นำโดย ‘ยุนฮยอนอู’ ที่กลับชาติมาเกิดใหม่ในฐานะ ‘จินโดจุน’ หลานชายคนเล็กของนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพล ‘จินยังชอล’ ผู้ก่อตั้งเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ของตระกูลแชบอล ‘ซุนยัง’ โดยฮยอนอูในร่างโดจุนมีเป้าหมายสำคัญ คือ การตามหาและล้างแค้นคนที่ฆ่าเขาในชาติก่อน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าซีรีส์เรื่องนี้จะมีประเด็นสนุก ๆ ให้ผู้ชมติดตามเพียงเท่านี้ เพราะ Reborn Rich ยังโดดเด่นการหยิบยกประเด็นในสังคมอย่าง ‘ระบบทุนนิยมปลาใหญ่กินปลาเล็ก’, ‘ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน‘ รวมไปถึง ‘ประเด็นพรีวิเลจของชนชั้นสูงในสังคม’ เช่น การเปรียบเทียบอนาคตของฮยอนอูและโดจุนที่แตกต่างกันออกไป เพียงเพราะทั้งสองคนมีฐานะที่แตกต่างกัน หรือประโยคเด็ดตลอดกาลของจินยังชอลอย่าง เงินคือความชอบธรรม และ เวลาเลี้ยงทาสรับใช้ ต้องไม่ให้บ้านดี ๆ และกินอย่างอิ่มท้อง เพราะอะไรรู้ไหม มันจะคิดว่าตัวเองเป็นเจ้านาย เนื้อเรื่องที่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหมดนี้จึงทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ที่ล้วนแต่เป็นคนธรรมดารู้สึกเชื่อมโยง เข้าใจตัวละครฮยอนอู และสารของซีรีส์เรื่องนี้เป็นอย่างดี

Song Joong Ki Reborn Rich 1
reborn rich 4
reborn rich quote

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในจุดเด่นของ Reborn Rich สำหรับคนที่สนใจการเมืองหรือประวัติศาสตร์ทั้งระดับโลกและเกาหลีอย่างผู้เขียนชื่นชอบเป็นอย่างมาก คือ การหยิบยกเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงมาผูกกับการดำเนินเรื่องได้อย่างแนบเนียน นับตั้งแต่การอ้างอิงประเด็นการก่อการร้ายในเครื่องบินอย่าง ‘CAL828’ หรือในเหตุการณ์จริง คือ ‘Korean Air 858’, ความขัดแย้งเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตชิประหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้, การล่มสลายของยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเหล็กอย่าง ‘ฮันโบเหล็กกล้า’ หรือวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก IMF จนถึงการหยิบยกบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรากฏชื่อย่อของนักการเมืองอย่าง ‘YS’ และ ‘DJ’ ใน EP.2 ของซีรีส์ เมื่อจินยังชอลและลูก ๆ ของเขาถกเถียงเรื่องการให้สนับสนุนทางด้านการเงินแก่ผู้สมัครการเลือกตั้งในปี 1987 ซึ่งก็คือนาย YS หรือ DJ ที่กำลังเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้ง

IMF reborn rich
IMF Korea Bloomberg
ภาพการประท้วงเหตุการณ์ IMF [Bloomberg]
한보철
ภาพโรงงานฮันโบเหล็กกล้า (Blockmedia.co.kr)
Reborn rich ep 2
ครอบครัวของจินยังชอลถกเถียงเรื่องการให้เงินสนับสนุนแคนดิเดตประธานาธิบดีโดยมีการกล่าวถึงชื่อของ ‘YS’ และ ‘DJ’ รวมถึง ‘โนแทอู’

‘คิมยองซัม & คิมแดจุง’ คือใคร? : เมื่อ ‘สองคิม’ ถูกพูดถึงในซีรีส์เกาหลี

Kim yong sam and kim dae jung
คิมยองซัม (ขวา) และ คิมแดจุง (ซ้าย) [The Hankyoreh]

สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการเมืองเกาหลีใต้ในระดับหนึ่ง ชื่อย่อของ ‘YS’ และ ‘DJ’ คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกเหนือจากอดีตประธานาธิบดี ‘คิมยองซัม’ (김영삼) ในฐานะ YS และ ‘คิมแดจุง’ (김대중) ในฐานะ DJ ทั้งสองเป็นนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากอุดมการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งครองอำนาจนับตั้งแต่ ‘พัคจองฮี’ (박정희) ผู้เป็นพ่อของประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ ‘พัคกึนฮเย’ (박근혜) รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มนโยบาย ‘เซมาอึล อุนดง’ (새마을 운동) หรือนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้, ‘ชอนดูฮวัน’ (전두환) ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากพัค จองฮีและต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ประท้วงที่กวังจู ในปี 1980 เกิดขึ้น จนถึง ‘โนแทอู’ (노태우) มรดกจากระบอบเผด็จการในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นแคนดิเดตที่โดจุนแนะนำให้คุณปู่จินยังชอลเลือกสนับสนุนจนชนะการเลือกตั้งในปี 1987 ในท้ายที่สุด

Park chung hee chun doo hwan roh tae woo
สามผู้นำในระบอบเผด็จการ พัคจองฮี, ชอนดูฮวัน และโนแทอู (จากซ้ายไปขวา)

คิมยองซัม จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโซลแห่งชาติ (Seoul National University) ด้วยเอกปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ ทันทีที่สำเร็จการศึกษา เขาก็โลดแล่นในวงการการเมืองช่วงปี 1954 และกลายเป็นนักการเมืองที่อายุน้อยที่สุดในสภาด้วยวัย 26 ปี โดยจุดยืนทางการเมืองของคิมยองซัม คือ เสรีนิยม และต่อต้านผู้นำเผด็จการมาตลอดนับตั้งแต่สมัยของ ‘อีซึงมัน’ (이승만) ประธานาธิบดีคนแรกในสาธารณรัฐเกาหลี จนกระทั่งเขาถูกขับไล่ออกจากสภาโดยพัคจองฮี เนื่องจากให้ความช่วยเหลือกับแรงงานที่ถูกไล่ออกและโดนทำร้ายโดยตำรวจ

การโดนไล่ออกของเขาสร้างเรื่องสั่นสะเทือนในโลกการเมือง ไม่เพียงแต่การต่อต้านของ สส.นับ 66 คนในพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมลาออกเพื่อประท้วง แต่นั่นยังรวมไปถึงการจลาจลของประชาชน อย่างไรก็ตาม พัคจองฮีถูกลอบสังหาร ตามมาด้วยเหตุการณ์การรัฐประหารอีกครั้ง ซึ่งผู้สืบทอดอำนาจต่อจากพัคจองฮี คือ ชอนดูฮวัน เขาสั่งให้กักตัวคิมยองซัมไว้ในบริเวณที่กำหนด ตัดสิทธิทางการเมืองทุกประการเป็นเวลา 8 ปี รวมถึงพรรคการเมืองของเขาก็ถูกแบน แต่สุดท้ายคิมยองซัมก็กลับมาในแวดวงการเมืองได้อีกครั้ง หลังจากชอนดูฮวันลงจากอำนาจในปี 1987 และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 1992 เมื่อเขาเข้าร่วมกับพรรคของโนแทอูเพื่อเพิ่มคะแนนเสียง

คิมยองซัมมีนโยบายที่โดดเด่นอย่างมากในเรื่องการปฏิรูปการเมือง เช่น การจับอดีตผู้นำเผด็จการมาลงโทษอย่างชอนดูฮวันและโนแทอูมาลงโทษ จนมีคำกล่าวว่าเขาทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศแรก ๆ ในเอเชียที่เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าการรัฐประหารในอนาคตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกเหนือจากนั้น คิมยองซัมยังได้รับคำชมในการจัดการวิกฤตการเมืองระหว่างประเทศได้ดี เช่น ความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือในช่วงปี 1994 อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องพบกับแรงปะทะทางสังคมในข้อบกพร่องการบริหารเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ทางการเงินเช่นกัน

05036445 713
คิมยองซัม

ในขณะที่ คิมแดจุง มีชื่อเสียงและชีวิตค่อนข้างผาดโผนกว่าคิมยองซัมอย่างชัดเจน เขาเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง ประกอบอาชีพเป็นเสมียนในบริษัทญี่ปุ่นจนมีฐานะร่ำรวย โดยในปี 1950 เขากลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและต่อต้านอีซึงมันเช่นเดียวกับคิมยองซัม แต่เขากลับไม่ประสบความสำเร็จทางการเมืองช่วงแรกเท่าที่ควร เมื่อต้องลงเลือกตั้งถึง 5 ครั้ง ถึงจะถูกเลือกให้มีที่นั่งในสภาในปี 1961 แต่ก็โชคร้ายอย่างยิ่งที่ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะด้วยการรัฐประหารของพัค จองฮี

จนกระทั่งเข้าช่วงวัย 40 ปี คิมแดจุงยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะนักการเมืองที่มีวาทะฝีปากดีเยี่ยม โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพัคจองฮีอย่างตรงไปตรงมาในยุคสังคมแห่งการปิดกั้น ความโดดเด่นนี้ทำให้เขาสามารถท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับพัคจองฮีในปี 1971 และได้รับคะแนนมากกว่า 40% แต่เขาก็พ่ายแพ้และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในการตรวจสอบพัค จองฮีอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ในปี 1976 เขาถูกจับกุมและกักบริเวณไว้ในบ้านด้วยข้อหาปลุกปั่นกระแสประชาธิปไตยในประเทศ แม้ว่าจะถูกปล่อยตัวออกมาในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากพัคจองฮีถูกลอบสังหาร แต่ชอนดูฮวันต้องการจำคุกเขาตลอดชีวิต อย่างไรก็ดี คิม แดจุงถูกขับไล่ออกจากประเทศด้วยกลอุบายที่อนุญาตให้เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

kim dae jung
คิมแดจุง

คิมแดจุงกลับมาประเทศเกาหลีใต้ในปี 1985 และมีบทบาทในฐานะหนึ่งในผู้นำฝ่ายค้าน จนกระทั่งปี 1987 เขาตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีตามที่เคยได้ให้สัญญาไว้ในอดีต แต่แล้วก็ต้องพ่ายแพ้ถึง 2 ครั้งต่อโนแทอูในปี 1987 และคิมยองซัมในปี 1992 เขาจึงตัดสินใจวางมือทางการเมือง อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นได้ไม่นาน ในปี 1995 เขาหวนกลับสู่เวทีทางการเมืองด้วยการตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชื่อ ‘National Congress for New Poltics’ และได้รับความนิยมอย่างมาก ในขณะที่รัฐบาลของคิมยองซัมถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากการบริหารประเทศอย่างรุนแรงจนความนิยมลดน้อยลง

ท้ายที่สุด เขาก็สามารถชนะเลือกตั้งในปี 1997 ในฐานะรัฐบาลผสมอย่างหวุดหวิด ในตลอดการบริหารประเทศ คิมแดจุงมีชื่อเสียงโดดเด่นในการจัดการวิกฤตปัญหาทางการเงิน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อเขาเป็นส่วนสำคัญในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือให้ดียิ่งขึ้นผ่าน ‘นโยบายตะวันทอแสง’ (Sunshine’s Policy / 헷볕정책) ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่เพียงแต่สร้างสันติภาพทั้งคาบสมุทรเกาหลีและภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ยังรวมไปถึงเสถียรภาพของทั้งโลกด้วยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความสามารถข้างต้นนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2000 อย่างไรก็ตาม คิมแดจุงก็ได้รับข้อครหาจากเรื่องการสนับสนุนระบอบเผด็จการในเกาหลีเหนือด้วยการผูกมิตรในนโยบายตะวันทอแสงเช่นเดียวกัน

kim dae jung kim il sung
คิม แดจุง และ คิม จองอิล

‘เพื่อนที่เป็นคู่แข่ง’ : ย้อนรอยดูความสัมพันธ์ของทั้งคู่ผ่านเหตุการณ์การเลือกตั้งปี 1987 ที่ถูกพูดถึงในซีรีส์

two kim DY and DJ

แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เชื่อในระบอบเสรีประชาธิปไตยและร่วมกันต่อสู้กับระบอบเผด็จการมาโดยตลอด แต่จริง ๆ แล้ว ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการของสองคนนี้ คือ ‘คู่แข่งในทางการเมือง’ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดนี้ต้องย้อนไปกลับในทศวรรษที่ 1980 หลังจากประชาชนบางส่วนได้รับอิสรภาพจากการอภัยโทษของประธานาธิบดีในช่วงเวลานั้น ซึ่งก็คือชอนดูฮวันจากเหตุการณ์การประท้วงในกวังจูปี 1980 พวกเขาพร้อมใจกันก่อตั้งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร มีผู้เข้าร่วมมากมาย นับตั้งแต่อาจารย์ นักศึกษา นักข่าว ชนชั้นกรรมาชีพต่าง ๆ หรือแม้แต่กลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ก็ต่างมาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยครั้งนี้ด้วย

จนท้ายที่สุด การชุมนุมของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงจากรัฐต่อประชาชน ยิ่งทำให้แรงปะทะของสังคมจากความโกรธแค้นต่อระบอบเผด็จการรุนแรงจนเกินกว่าจะรับไหว ในปี 1987 รัฐบาลเผด็จการทหารตัดสินใจยอมจำนนต่อการประท้วงดังกล่าว และประกาศให้มีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยตามปกติ รวมถึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญยูชิน (유신 한법) ซึ่งมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าในตอนแรกจะเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนผู้นำเพื่อลดกระแสกดดันเพียงอย่างเดียว

LZx2t6A scaled e1593371640849
ภาพการประท้วงปี 1997 [Jacobin]

อย่างไรก็ตาม การกลับไปสู่ยุคแห่งประชาธิปไตยเต็มใบในเกาหลีใต้ไม่ได้ง่ายดายแบบที่ใครหลายคนคิด เพราะผู้นำที่เป็นความหวังของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างคิมแดจุงและคิมยองซัมต่างลงเป็นผู้สมัครเลือกตั้งด้วยความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เมื่อต่างคนต่างเชื่อว่าอีกฝ่ายไม่ควรลงสมัครประธานาธิบดี แม้ว่าในอดีต คิมยองซัมยืนยันว่าจะหลีกทางให้คิมแดจุงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในขณะที่คิมแดจุงก็เคยกล่าวว่าจะไม่ลงท้าชิงในตำแหน่งนี้

ผู้เขียนมีโอกาสอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมในมุมมองของคิมแดจุงจากหนังสือ Conscience in Action: The Autography of Kim Dae-jungคิมแดจุงอธิบายช่วงเวลาดังกล่าวว่า ภายในพรรค ‘Reunification Democracy Party(통일 민주당) ที่ทั้งสองคนรวมตัวกันก่อนหน้านี้ ต่างแตกแยกความเห็นเป็นสองฝ่าย เมื่อในวันหนึ่ง คิมยองซัมเปิดเผยว่าตนเองต้องการลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี (อันที่จริงเนื้อเรื่องค่อนข้างซับซ้อน ผู้เขียนขอเขียนแบบสั้นกระชับที่สุด)

โดยฝ่ายของคิมยองซัมหรือ ‘กลุ่มซังโดดง’ (상도동) (ชื่อกลุ่มมาจากย่านที่ผู้นำแต่ละฝ่ายอาศัยอยู่) เห็นว่าคิมแดจุงไม่สมควรลงเลือกตั้ง เพราะเขาให้สัญญากับประชาชนในข้างต้น อีกทั้งอ้างว่าหากคิมแดจุงได้เป็นประธานาธิบดี จะถูกลอบสังหารจากกลุ่มทหารในขั้วอำนาจเก่าทันที หรือไม่ก็มีข้อด่างพร้อยที่ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ เพราะจะถูกกลุ่มทหารเล่นงานจากข้อกล่าวหา ‘คิมแดจุงเป็นพวกคอมมิวนิสต์’

แต่คิมแดจุงกับกลุ่มของเขา ‘กลุ่มทงกโยดง’ (동교동) ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เขาเล็งเห็นว่าตนเองมีศักยภาพที่สามารถชนะเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ อีกทั้งคำสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะไปแล้วสำหรับเขา เนื่องจากสุนทรพจน์ของชอนดูฮวันในวันที่ 13 เมษายน (ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ บทที่ 6 หน้าที่ 332) คิมแดจุงยังคิดว่าข้ออ้างจากฝ่ายคิมยองซัม คือ การอ่อนน้อมให้กับเผด็จการทหารและไม่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และผู้นำของกลุ่มซังโดดงต่างหากที่ควรหลีกทางให้เขาตามที่เคยพูดไว้

ด้วยมุมมองทางความคิดที่จูนกันไม่ติดผสมความมั่นใจของคิมแดจุง อีกทั้งทางพรรคต้องการแคนดิเดตที่เหมาะสมเพียงหนึ่งเดียว เขาตัดสินใจออกจากพรรค Reunification Democracy Party และก่อตั้งพรรคใหม่ ‘Peace Democratic Party‘ (평화민주당) (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น New United Democratic Party) ท้ายที่สุด มรดกของระบอบเผด็จการทหารอย่างโนแทอูกลับเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะไปจากคะแนนเสียงที่แตกออกมาของทั้งคู่นั่นเอง แม้ว่าทั้งสองคนได้รับการจับตามองอย่างมากในสังคมก็ตาม

ROKs election 1987 candidates
ภาพโปสเตอร์แคนดิเดตในการเลือกตั้งปี 1987 โน แทอู, คิมยองซัม และคิม แดจุงตามลำดับ (ซ้ายไปขวา) [Museum.nec.go.kr]

และนี่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้าในทางการเมือง เพราะทั้งสองคนยังเป็นคู่แข่งกันอีกครั้งในปี 1992 และจบลงด้วยชัยชนะของคิมยองซัม อย่างไรก็ตาม ในงานเขียน ‘Conscience in Action: The Autography of Kim Dae-jung’ คิมแดจุงเปิดเผยว่าคิมยองซัมยังส่งข้อความแสดงความยินดีกับเขาสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 1997 ในขณะที่คิมยองซัมก็ได้อธิบายความสัมพันธ์ของพวกเขาว่าเป็นทั้ง “ศัตรูและเพื่อนที่เก่าแก่” และ “ความสัมพันธ์พิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน” รวมถึงเขาได้เดินทางไปเยี่ยมคิมแดจุง ณ โรงพยาบาลก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 2009

อันที่จริงแล้ว เรื่องราวของ ‘สองคิม’ ยังถูกพูดถึงไว้ในซีรีส์และภาพยนตร์เรื่องอื่นอย่าง ‘The Kingmaker’ ที่ผู้เขียนบทได้แรงบันดาลใจจากอดีตประธานาธิบดีทั้งสองผ่านการเล่าเรื่องสุดแสนระทึกและตื่นเต้นได้อย่างลงตัว นี่จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีที่พร้อมเปิดกว้างในการบอกเล่าประวัติศาสตร์และเรื่องราวในสังคมผ่านซีรีส์และภาพยนตร์อยู่เสมอ


ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage
 : facebook.com/korseries
Twitter
 : twitter.com/korseries
Website
 : korseries.com
Youtube 
: Korseries

ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡

Sources

(1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10)

Kim Dae-jung, Conscience in Action: The Autography of Kim Dae-jung, trans. Jeon Seung-hee (London: Palgrave Macmillan, 2019)


Korupdate






เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อการตลาด

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก