focus

‘ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี’ คือใคร มาจากไหน พาไปรู้จักประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานของคนเกาหลีในอเมริกา

22/02/2024 - TANTARAT

Unexpected Business 3 american cover

ถ้าพูดถึงวาไรตี้เกาหลีสายฟีลกู๊ดฮีลใจที่ฮอตฮิตทุกซีซัน ก็ต้องยกให้ Unexpected Business ที่ตอนนี้ได้ดำเนินมาถึงซีซัน 3 และเพิ่จบไป รายการที่ให้เหล่าคนดังมาบริหารและรับบทเป็นหนึ่งในพนักงานร้านของชำในชนบท นำทีมโดยนักแสดงขวัญใจมหาชนอย่าง โจอินซองและชาแทฮยอน ที่มาสวมบทเป็นเถ้าแก่ฝีมือดี ซึ่งในซีซันนี้มีความพิเศษตรงที่เหล่าพนักงานได้พากันยกทัพข้ามน้ำข้ามทะเลไปบริหารร้านไกลถึง รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

หลายคนที่ได้รับชมคงเกิดความสงสัยว่าแม้จะไปไกลถึงอีกฟากหนึ่งของโลก แต่ทำไมถึงมีชาวเกาหลีอาศัยอยู่ที่อเมริกาจำนวนไม่น้อย หลากหลายวัย ทั้งพูดภาษาเกาหลีได้และไม่ได้ หรือแค่ฟังเข้าใจแต่ไม่สามารถพูดได้ คนเหล่านี้ย้ายมาที่นี่ได้อย่างไร และอะไรเป็นเหตุผลให้พวกเขาตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาไกลขนาดนี้

1.3

รายการนี้ยังทำให้เรานึกถึงศิลปินเคป็อปบางกลุ่มที่เกิดและเติบโตที่อเมริกา แต่มาเดบิวต์เป็นไอดอลที่เกาหลีใต้ หลายคนอาจจะงุนงงว่าตกลงพวกเขาเป็นชาวเกาหลีหรืออเมริกัน และพวกเขาเหล่านั้นไปเกิดและเติบโตที่อเมริกาได้อย่างไร

พวกเขาคือ ‘ชาวเกาหลีอพยพ’ และ ‘ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี’ (Korean American) มีประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1880 จากความสัมพันธ์ทางการฑูต หลังจากนั้นจึงได้มีการอพยพครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 แบ่งออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ด้วยกัน

‘ชาวเกาหลีอพยพ’ คือคนเกาหลีที่ย้ายถิ่นฐานและต่อมาได้อาศัยถาวรในอเมริกา ส่วน ‘ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี’ คือคนอเมริกันที่เกิดในอเมริกา โดยมีพ่อหรือแม่เป็นคนเกาหลี พูดง่ายๆ ก็คือลูกหลานของชาวเกาหลีอพยพนั่นเอง และต้องบอกก่อนว่าชาวเกาหลีมีประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานไปยังหลายประเทศมากๆ แต่ในบทความนี้จะขอพูดถึงแค่การย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐอเมริกานะคะ


ช่วงที่ 1 ปี 1903-1949: ปัญหาความยากจน

อย่างที่เราทราบกันดีว่าประเทศเกาหลีเคยติดอันดับประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวเกาหลีจึงหาทางหลีกหนีความอดยากและความวุ่นวายทางสังคมที่กำลังถูกญี่ปุ่นเข้ารุกราน โดยการไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือสหรัฐอเมริกา โดยในปี 1882 ที่อเมริกามีการออกกฎหมาย Chinese Exclusion Act ห้ามไม่ให้ชาวจีนอพยพเข้ามาและไม่อนุญาตให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้นได้รับสถานะพลเมือง จึงมีการรับสมัครชาวเกาหลีเข้ามาเป็นแรงงานแทน โดยการอพยพใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1903 ส่วนใหญ่ทำงานเป็นแรงงานในไร่สัปปะรดและไร่อ้อยในฮาวาย เพราะการเกษตรถือเป็นเศรษฐกิจหลักของที่นั่นจึงต้องการแรงงานจำนวนมาก

1900 Korean American
ชาวเกาหลีที่ไปทำงานในไร่อ้อยที่ฮาวายในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 (รูปจาก the Sun-il Lee Collection, courtesy of the Center for Korean Studies at the University of Hawaiʻi at Mānoa – asamnews.com)

การรับสมัครชาวเกาหลีนั้นส่วนหนึ่งรับสมัครมาจากโบสถ์ ทำให้เมื่อเดินทางมาถึงอเมริกาแล้วจึงได้มีการก่อตั้งคริสตจักรแห่งแรกในเมืองโฮโนลูลู ฮาวายขึ้น เนื่องจากอุปสรรคทางวัฒนธรรมและภาษาของผู้อพยพชาวเกาหลีในสมัยนั้น ทำให้พวกเขามารวมตัวกันที่คริสตจักร ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและเกิดเป็นชุมชนขึ้น

ในอีกทางหนึ่ง หญิงสาวชาวเกาหลีในสมัยนั้นอพยพมาอเมริกาจากการเป็น ‘เจ้าสาวรูปถ่าย’ (Picture Bride) เป็นการที่แรงงานชายชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในอเมริกานั้นต้องการแต่งงาน จึงมีการแลกเปลี่ยนรูปภาพกับหญิงสาวที่อาศัยอยู่เกาหลีผ่านคนกลาง หากตกลงปลงใจกันก็ทำเรื่องแต่งงาน หลังจากนั้นฝ่ายหญิงก็จะได้รับสิทธิย้ายมาอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย เหตุผลเป็นเพราะแรงงานชายบางคนไม่มีเงินมากพอที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด และนายจ้ายก็ยังต้องการแรงงาน การแต่งงานสร้างครอบครัวที่นี่จึงเป็นทางออกเพื่อให้ชายชาวเกาหลีได้ลงหลักปักฐานที่อเมริกานั่นเอง

1900 Church
2003 November 07 REL -Kahuku Church, Oahu (1908) from the book Christ United Methodist Church, 1903-2003: A Pictorial History, published by Christ United Methodist Church, Honolulu, Hawaii.

แต่การอพยพก็ต้องหยุดชะงักในปี 1924 เมื่ออเมริกาออกฎหมาย Immigration Act คือการลดโควตาการรับผู้อพยพ และห้ามให้มีการอพยพจากเอเชียทั้งหมด (ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่เป็นอาณานิคมของอเมริกาในขณะนั้น)

อย่างไรก็ดี ในปี 1910-1945 ช่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น มีปัญญาชน นักวิชาการ และนักศึกษาจำนวนหนึ่งลี้ภัยมาอาศัยและเรียนอยู่ในเมืองทางตะวันออกหลายแห่ง และได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มที่มีชื่อว่า League of the Friends of Korea ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของเกาหลี หนึ่งในสมาชิกคือ อีซึงมัน ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลี กลุ่มนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในเมืองบอสตัน 

Ree SM and Hess
อีซึงมัน ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลี (ปี 1948-1960) และ Dean Hess ผู้บัญชาการโครงการ Bout One ที่ให้การช่วยเหลือกองทัพอากาศเกาหลีในช่วงสงครามเกาหลี (รูปจาก nationalmuseum.af.mil)

ช่วงที่ 2 ปี 1950-1964: สงครามและความไม่มั่นคงภายในประเทศ

หลังจากที่เกาหลีได้รับอิสระภาพจากญี่ปุ่นในปี 1945 จากการที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้กับสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีที่เพิ่งเผชิญความยากลำบากจากการตกเป็นอาณานิคมก็ต้องเจอกับความบอบช้ำอีกครั้งกับ สงครามเกาหลี ในปี 1950-1953 โดยเกาหลีใต้ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาและเกาหลีเหนือได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต จนท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการแบ่งเกาหลีออกเป็น 2 ฝั่ง คือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ในช่วงสงครมเกาหลี อเมริกาสร้างฐานทัพในเกาหลีใต้หลายแห่งและส่งทหารมาร่วมรบนับแสนนาย รวมถึงสนับสนุนในด้านอาวุธ การศึกษา สาธารณูปโภค ทหารเกาหลีใต้ระดับสูงถูกส่งไปเรียนที่อเมริกา ในขณะเดียวกัน อเมริกาได้ออกกฎหมาย Immigration and Nationality Act ในปี 1952 ที่ยกเลิกการห้ามไม่ให้ผู้อพยพชาวเอเชียสมัครเป็นพลเมืองสหรัฐฯ พร้อมกับสงครามเกาหลีที่สิ้นสุดลงในปี 1953 เกาหลีใต้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูง คนจนไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก รวมไปถึงการได้รับอิทธิพลจากอเมริกาในช่วงสงคราม ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม และระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้คนเกาหลีตัดสินใจอพยพมาอเมริกากันมากขึ้นเพื่อแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า 

korean war go
ทหารอเมริกันในสงครามเกาหลีที่กำลังรอการช่วยเหลือหลังได้รับบาดเจ็บ (รูปจาก U.S. ARMY SIGNAL CORPS – education.nationalgeographic.org)

ชาวเกาหลีที่อพยพมาอเมริกาในช่วงนั้นมีหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ชาวเกาหลีที่เดินทางพร้อมกับกองทัพอเมริกาที่เดินทางกลับประเทศ เด็กกำพร้าที่ครอบครัวชาวอเมริกันรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และกลุ่มที่ตั้งใจไปทำงานและศึกษาต่อในอเมริกา อาทิ นักศึกษา นักธุรกิจ วิศวกร นักวิทยาศาตร์ และภรรยาชาวเกาหลีของทหารอเมริกันที่ไปสู้รบในเกาหลีใต้

ในช่วงนั้น อเมริกาได้ออกกฎหมาย ‘เจ้าสาวสงคราม’ เป็นกฎหมายที่ให้หญิงสาวในประเทศต่างๆ ที่ทหารอเมริกันไปปักหลักอยู่ในช่วงสงคราม ได้แต่งงานและย้ายถิ่นฐานมาอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการรวมครอบครัวและลดการกีดกันทางเชื้อชาติในสมัยนั้น หญิงสาวชาวเกาหลีก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นฐานมาอเมริกาพร้อมสามีทหารชาวอเมริกันผ่านกฎหมายนี้

bride1
ทหารอเมริกันและภรรยาชาวเกาหลีที่ย้ายมาอเมริกาด้วยกฎหมายเจ้าสาวสงคราม ในช่วงทศวรรษ 1950

จากที่ในอดีต ชาวเกาหลีที่อพยพมาอเมริกาส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน ทำให้ต้องเผชิญกับ กระแสการเกลียดชังชาวเอเชีย (Asian Hate) ตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อมีคนชนชั้นกลางและปัญญาชนอพยพเข้ามาสหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงหลังสงครามเกาหลี การปฏิบัติของชาวอเมริกันต่อชาวเกาหลีก็เริ่มดีขึ้น แต่ก็ไม่ทั้งหมดซะทีเดียว อย่างที่เราได้เห็นข่าวการทำร้ายร่างกายที่เกิดจากความเกลียดชังต่อคนเอเชียเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

Korean Society 431x3001 1
สมาชิกสมาคมเกาหลีแห่งบอสตัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1953 เพื่อให้การสนับสนุนชาวเกาหลีพลัดถิ่นในเมืองบอสตัน (รูปจาก sites.bu.edu)

ช่วงที่ 3  ปี 1965: การเปิดกว้างของสหรัฐฯ และการพยายามพัฒนาประเทศของเกาหลีใต้

ในปี 1965 อเมริกาได้ออก กฎหมาย Immigration and Nationality Act ที่เป็นการยกเลิก Immigration Act กฎหมายการลดโควตาการรับผู้อพยพและห้ามให้มีการอพยพจากเอเชียในปี 1942 ที่ได้พูดถึงไปข้างต้น  ชาวเกาหลีก็อพยพมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุมาจากความไม่มั่นคงทางการเมือง อัตราการว่างงาน และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกาหลีใต้ โดยมีการรายงานว่าในปี 1980 มีประชากรชาวเกาหลีอาศัยอยู่ในอเมริการาว 290,000 คน

รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ส่งเสริมการย้ายถิ่นฐานของประชาชนด้วยการก่อตั้งองค์กร Korea Overseas Development Corporation (KODC) ในปี 1960-1970 โดยมุ่งเน้นที่การสนับสนุนการอพยพชาวเกาหลีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา แคนาดา เยอรมนี หรือแม้แต่ตะวันออกกลาง เพื่อเปิดรับแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เนื่องจากสมัยนั้นเศรษฐกิจในเกาหลีใต้ยังถือว่าย่ำแย่และพึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่

KODC 1
ในปี 1966 พยาบาลหญิงชาวเกาหลีจำนวนหนึ่งกำลังเดินทางไปเยอรมนี ผ่านโครงการของ Korea Overseas Development Corporation (รูปจาก Korea International Cooperation Agency – artsandculture.google.com)

ฝั่งตะวันตกของอเมริกาซึ่งมีชาวเกาหลีอาศัยอยู่แล้วจำนวนหนึ่งจากการอพยพมาอยู่ตั้งแต่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 หลังจากที่อเมริกาได้ออกกฎหมาย Immigration and Nationality Act ในปี 1965 ก็มีผู้อพยพชาวเกาหลีหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งส่วนมากทำธุรกิจขนาดเล็กเช่น ร้านของชำ ร้านซักรีด และร้านอาหาร เกิดการรวมตัวกันจนเกิดเป็นชุมชน จนในที่สุดก็ได้รับการยอมรับเป็น Korean Town และประกาศให้เป็นย่านอย่างเป็นทางการในลอสแองเจลิส ในปี 1982

ชาวเกาหลีที่อพยพในช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีทักษะ แตกต่างจากผู้อพยพก่อนหน้านี้ที่ไปเป็นแรงงานแทบทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอเมริกา เช่น แมสซาชูเซตส์ นิวเจอร์ซีย์ และนิวยอร์ก ประชากรชาวเกาหลีในแถบนี้เพิ่มมากขึ้นจนเกิดเป็นชุมชนเช่นกัน มีร้านขายหนังสือ ของใช้ ร้านอาหารที่ดำเนินกิจการโดยคนเกาหลี จนเกิดเป็น Korean Town ในเมืองแมนฮัตตัน นครนิวยอร์กในช่วงทศวรรษที่ 1980 

ประชากรชาวเกาหลีที่อพยพมายังสหรัฐอเมริกาในปี 1980 มีจำนวนราว 290,000 คน และได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวเป็น 568,000 คนในปี 2000 จนแตะหลักล้านในปี 2010 ด้วยจำนวนราว 1.1 ล้านคน

KoreaTown NYC 2
ป้ายร้านภาษาเกาหลีใน Korean Town ที่ใจกลางแมนฮัตตัน นิวยอร์กในปัจจุบัน (รูปจาก MITZIE MEE – SANNE – mitziemee.com)

ประชากรเกาหลีในอเมริกา และกระแสการอยากย้ายประเทศ

โดยปัจจุบันมีชาวเกาหลีอาศัยอยู่ในอเมริกา ราว 2.6 ล้านคน โดยแบ่งเป็น ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี 2 ล้านคน และผู้ที่ถือสัญชาติเกาหลีที่ภายหลังกลายเป็นผู้อาศัยถาวรในอเมริกาอีกราว 6 แสนคน โดยรัฐที่มี ‘ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี‘ อาศัยอยู่มากที่สุด ได้แก่ 

  1. แคลิฟอร์เนีย ประมาณ 550,00 คน
  2. นิวยอร์ก ประมาณ 140,00 คน
  3. เท็กซัส ประมาณ 115,000 คน
  4. นิวเจอร์ซีย์ ประมาณ 113,000 คน
  5. เวอร์จิเนีย ประมาณ 94,000 คน

ชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในอเมริกาปัจจุบันนี้ นับเป็น 0.6% ของประชากรทั้งหมดในอเมริกา และเป็นประชากรชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในอเมริกามากที่สุดเป็นอันดับ 5 รองจากจีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนาม

2.0

เกาหลีใต้ค่อยๆ พัฒนาประเทศจนกลายเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของเอเชีย ส่งผลให้อัตราการอพยพของชาวเกาหลีใต้ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีบางส่วนกลับมองประเทศของตัวเองเป็นเหมือนนรก และมีความใฝ่ฝันอยากย้ายประเทศมากขึ้น 

สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อยากย้ายประเทศมาจาก ความเครียดในการเรียน การแข่งขันในการทำงาน วัฒนธรรมบางอย่าง เช่น ระบบอาวุโส และความหลากหลายทางเพศที่สังคมยังไม่เปิดกว้างนัก ทั้งภาครัฐและเอกชนของเกาหลีตระหนักว่าปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต จึงได้มีการวางแผนและหามาตรการเพื่อป้องกันภาวะสมองไหลนี้ต่อไป


ศิลปินเคป็อปชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี

วงการ  K-POP กลายเป็นหนึ่งในตลาดเพลงที่ใหญ่ติดอันดับโลกไปแล้ว เพราะการโด่งดังแบบเปรี้ยงปร้างนี้ทำให้วัยรุ่นชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของชาวเกาหลีอพยพตัดสินใจเดินทางมาเกาหลีใต้เพื่อเป็นเด็กฝึกหัดในค่ายเพลงต่างๆ จนกลายมาเป็นไอดอลที่มีชื่อเสียงในทุกวันนี้ อาทิเช่น 

  • ทิฟฟานี่ Girls’ Generation เกิดที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย ย้ายมาเป็นเด็กฝึกหัดที่เกาหลีใต้เมื่ออายุ 15 ปี ก่อนที่จะได้เดบิวต์เป็นสมาชิกวง Girls’ Generation ในปี 2007
  • เจสสิก้า อดีตสมาชิก Girls’ Generation และคริสตัล f(x) พี่น้องคู่นี้เกิดที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย ย้ายมาเกาหลีใต้ในปี 2000 พร้อมครอบครัว ก่อนที่จะถูกชักชวนให้มาเป็นเด็กฝึกหัดที่ SM Entertainment ในเวลาต่อมา
  • เจสซี่ เกิดที่นิวยอร์กและเติบโตในนิวเจอร์ซีย์ ก่อนจะย้ายไปเกาหลีใต้เมื่ออายุ 15 ปีและได้เดบิวต์เป็นสมาชิกวงฮิปฮอป-อาร์แอนด์บี Uptown ในปี 2005 
  • จอห์นนี่ NCT เกิดที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ผ่านการออดิชั่น Global Audition ที่จัดขึ้นในชิคาโกเมื่อปี 2007 ก่อนที่ย้ายมาเป็นเด็กฝึกหัดที่เกาหลีใต้ และเปิดตัวเป็นหนึ่งใน SM Rookies ในปี 2013 และได้เดบิวต์อย่างเป็นทางการในฐานะหนึ่งในสมาชิก NCT 127 ในปี 2017 
  • เวอร์นอน SEVENTEEN เกิดที่นิวยอร์ก และย้ายมาเกาหลีใต้เมื่ออายุ 5 ขวบ เขาถูกทาบทามให้มาเป็นเด็กฝึกหัดในค่าย Pledis Entertainment เมื่ออายุ 14 ปี ก่อนจะเดบิวต์เป็นสมาชิกวง SEVENTEEN ในปี 2015 
  • โจชัว SEVENTEEN เกิดที่ลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย ถูกทาบทามให้มาเป็นเด็กฝึกหัดในงานดนตรีที่ลอสแอนเจลิส และได้ย้ายมาเป็นเด็กฝึกหัดที่เกาหลีใต้ในปี 2013 ก่อนจะเดบิวต์ป็นสมาชิกวง SEVENTEEN ในปี 2015 
  • เอริค นัม เกิดที่แอตแลนตา จอร์เจีย เขาเดินทางมาเกาหลีใต้ในปี 2012 เพื่อเข้าร่วมรายการเรียลลิตี้ Birth of a Great Star 2 จากการเชิญของ MBC หลังจากที่ได้เห็นวิดีโอที่เขาคัฟเวอร์เพลงลงยูทูป ก่อนที่จะเปิดตัวในฐานะศิลปินเดี่ยวในปี 2013 
Tiffany Jessi Jessica Krystal
ทิฟฟานี่ Girls’ Generation, เจสซี่, คริสตัล f(x) และเจสสิก้า อดีตสมาชิก Girls’ Generation – เรียงจากซ้ายไปขวา
vernon joshua johny eric nam
เวอร์นอน และโจชัว SEVENTEEN, จอห์นนี่ NCT, เอริค นัม – เรียงจากซ้ายไปขวา

ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีอาศัยอยู่ทั่วอเมริกา ด้วยความที่มีเชื้อสายเกาหลีอยู่ในสายเลือดทำให้เกิดความสนิทสนมและรู้สึกผูกพันธ์แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อย่างที่เราเห็นกันใน Unexpected Business ซีซั่น 3 บรรยากาศภายในร้านอบอุ่นราวกับทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกันจริงๆ จนหากดูเผินๆ อาจเข้าใจได้ว่ารายการกำลังถ่ายทำที่เกาหลีใต้อย่างไรอย่างนั้น หากใครกำลังหารายการที่ผ่อนคลาย สบายๆ อบอุ่นใจ รายการนี้ตอบโจทย์สุดๆ สามารถรับชมครบทุกตอนได้แล้วทาง Disney+ Hotstar นะคะ

1.9
2.2

ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage
 : facebook.com/korseries
Twitter
 : twitter.com/korseries
Website
 : korseries.com
Youtube 
: Korseries

ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡

Source (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8)


Korupdate






เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อการตลาด

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก