จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับซีรีส์เกาหลีแนวสืบสวนอาชญากรรม Chief Detective 1958 (수사반장 1958) ซีรีส์คัมแบ็กของ ‘อีเจฮุน’ ที่รอบนี้กลับมาบู๊จัดเต็มกับบทบาท “นักสืบพัคยองฮัน” ที่ต้องต่อสู้กับอันธพาล อำนาจ อิทธิพลต่าง ๆ เพื่อปกป้องพี่น้องประชาชน ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของเกาหลีใต้
วันนี้ Korseries จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับบริบทสังคมในสมัยนั้น ผ่าน Chief Detective 1958 ในยุคที่ตำรวจจำต้องก้มหัวให้เหล่าแก๊งอันธพาล
ขโมยวัวเท่ากับขโมยชีวิต
สถิติจับโจรขโมยวัวมากที่สุดถึง 96 คน กลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ “นักสืบพัคยองฮัน (รับบทโดย อีเจฮุน)” แม้จะฟังดูเป็นสถิติที่เอาฮา แต่จริง ๆ แล้วความเชื่อที่ว่า “ขโมยวัวคนอื่นเท่ากับขโมยชีวิตเขาไปด้วย” กลับเป็นเรื่องจริงในอดีต เพราะการเลี้ยงวัวเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตของคนเกาหลีมาอย่างยาวนาน ในช่วงที่ยังตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นนั้นได้วางให้ประเทศเกาหลีเป็นฐานในการทำการเกษตรที่สำคัญ เกษตรกรรายได้น้อยที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตช่วงสงครามล้วนใช้วัวไถนาและลากเกวียนเพื่อแลกเงิน ซึ่งในสมัยนั้นเนื้อวัวก็เป็นที่นิยมมากในเกาหลีไม่ต่างจากปัจจุบัน เพราะเป็นอาหารหลักที่ทุกครัวเรือนหรือร้านอาหารต้องเสิร์ฟ ขณะที่หนังวัวก็กลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังญี่ปุ่น ด้วยประโยชน์รอบด้านเช่นนี้จึงทำให้วัวนับเป็นสมบัติประจำตระกูลและมีราคาสูงลิ่ว
กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกาหลีได้รับเอกราชแล้ว อุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวก็ยังนับว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวชนบทอยู่ โดยหากครอบครัวไหนต้องการเงิน ก็จะขายวัวและนำเงินไปใช้จ่าย ทั้งค่ารักษาพยาบาล หรือค่าเล่าเรียน จนมีคำกล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเป็นปราสาทแห่งซากของวัว” (University as a tower of cow carcasses)
อย่างไรก็ตาม การจับโจรขโมยวัวที่เปรียบเสมือนการช่วยชีวิตคนนับสิบครอบครัวได้นั้นจะเป็นผลงานยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจของตำรวจในชนบทจนได้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น กลับเป็นเพียงเรื่องขบขันสำหรับตำรวจในกรุงโซล เพราะหน้าที่หลักของตำรวจในเมืองดันกลายเป็นการทำตามคำสั่งรัฐบาล ผู้บังคับบัญชา และแก๊งอันธพาล
แก๊งอันธพาล “ทงแดมุน” เบื้องหลังรัฐบาลสร้างชาติ
ด้วยอิทธิพลจากการตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นนี้เอง ทำให้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลายเป็นยุครุ่งเรืองของแก๊งมาเฟีย หรือ กลุ่มอันธพาลในเกาหลีใต้ แม้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกาหลีพยายามจะฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม และมีการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมขององค์การสหประชาชาติ จนทำให้ “อีซึงมัน” (이승만) กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ กลุ่มอันธพาลเหล่านี้ก็ยิ่งเพิ่มอิทธิพลมากขึ้น
อย่างในเรื่อง Chief Detective 1958 เองก็ได้สะท้อนให้เห็นบรรยากาศของเกาหลีใต้ในขณะนั้นที่มีแก๊งทงแดมุน (동대문사단) เข้ามาใช้อำนาจควบคุมตำรวจ และขูดรีดประชาชน ซึ่งนำโดยหัวหน้าแก๊งอย่างอีจองแจ (이정재) ซึ่งมีตัวตนจริง ๆ ในเกาหลีใต้ โดยกลุ่มอันธพาลในยุคนั้นถูกอ้างถึงในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังประธานาธิบดี “อีซึงมัน” และแทรกซึมไปในทุกวงการตั้งแต่การใช้ตลาดและโรงละคร เพื่อเข้าถึงผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมการค้า ความบันเทิง และบริการต่าง ๆ เป็นรากฐานขยายอาณาเขตและอิทธิพลของแก๊ง ไปจนถึงการเข้าสู่เส้นทางการเมืองและตำรวจ
เมื่อตำรวจถูกมองเป็น “ทาสอำนาจ” และต้องคอยก้มหัวให้อันธพาล
ในช่วงทศวรรษที่ 50 อีซึงมันได้รวมอำนาจไว้อย่างเด็ดขาด โดยให้เหตุผลว่าต้องการสร้างชาติหลังจากบอบช้ำจากสงครามมายาวนาน แต่มีข้อมูลบันทึกว่าการใช้อำนาจดังกล่าวกลายเป็นระบอบเผด็จการที่ทำให้มีกลุ่มเห็นต่างเริ่มออกมาเคลื่อนไหวและประท้วงเพิ่มขึ้น ในมุมสว่างอีซึงมันใช้ “ตำรวจ” เป็นเครื่องมือ โดยหากผู้ใดหรือฝ่ายตรงข้ามขัดขวางหรือมีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลทั้งในสภา และบนท้องถนนก็จะถูกตำรวจจับกุมทันที จนทำให้การปกครองในช่วงนั้นได้รับสมญานามว่า “รัฐตำรวจ” แต่ในมุมมืด กลุ่มอันธพาล โดยเฉพาะแก๊งทงแดมุนก็เดินหน้าสร้างสถานการณ์และความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเส้นทางแก๊งอันธพาลและเส้นทางตำรวจมาบรรจบกันภายใต้การนำของรัฐบาล จึงทำให้ตำรวจต้องเข้าไปพัวพันกับแก๊งอันธพาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนประชาชนมีมุมมองกับตำรวจว่า “เป็นพวกทาสอำนาจ” และ “เป็นพวกไร้ประโยชน์”
Chief Detective 1958 เองก็มีหลายฉากที่ตำรวจเอื้อประโยชน์ในการจับกุมกลุ่มอันธพาล การช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยหัวหน้าแก๊ง ปล่อยปละละเลยการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าดูแลในตลาด ร้านค้าต่าง ๆ มีส่วนรู้เห็นกับการลักลอบนำเข้าสินค้าเลี่ยงภาษีหรือสินค้าผิดกฎหมาย ไปจนถึงการไปปฏิบัติภารกิจสาธารณประโยชน์ โดยการไปเล่นละครหรือภาพยนตร์ให้กับแก๊งอันธพาล เพื่อสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อต่อต้านเสรีนิยม เสริมอำนาจของรัฐบาล
สายลับ “ขอทาน” ผู้ช่วยสายสืบยุค 1950
แม้จะมีตำรวจที่ยอมจำนนต่ออิทธิพลและอำนาจ แต่แน่นอนว่าก็ยังมีตำรวจอีกส่วนหนึ่งที่พยายามต่อสู้เพื่อทุกข์สุขของประชาชน Chief Detective 1958 ยังฉายภาพการสืบสวนสอบสวนคดีต่าง ๆ ของตำรวจในยุคที่ไร้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ต หรือ เทคโนโลยี พวกเขาเดินหน้าขุดคุ้ยคดีต่าง ๆ ด้วยการอ่านหนังสือ และหนังสือพิมพ์ วิเคราะห์ข้อมูลผ่านบริบทและคดีเก่าที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปให้การสนับสนุนทั้งกำลังรบและงบประมาณในช่วงสงคราม และยุคสร้างชาติ
ขณะเดียวกัน ยังต้องปลอมตัวเพื่อลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ด้วยตัวเองเพื่อเก็บหลักฐานและเชื่อมต่อข้อมูลโยงใยต่าง ๆ สาวไปจนถึงผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ ตำรวจสายสืบยังเลือกเหล่าขอทานในตลาดให้กลายเป็น “สายลับ” เพื่อช่วยในการสืบคดีต่าง ๆ ซึ่งขอทานเหล่านี้มักเป็นกลุ่มคนที่แทรกซึมไปได้ในทุก ๆ สถานที่ พร้อมกับการเก็บรายละเอียดและจดจำข้อมูลต่าง ๆ อย่างแม่นยำ นับเป็นเทคนิคพิเศษที่แม้จะไม่มีกล้องวงจรปิด แต่ประสิทธิภาพนั้นยอดเยี่ยมจนทำให้ปิดคดีได้อย่างง่ายดาย โดยใน Chief Detective 1958 เองเหล่าขอทานก็กลายเป็นฮีโร่ที่ได้ช่วยให้คดีปล้นธนาคารคลี่คลายไปโดยไร้คนเจ็บ
หากใครสนใจเรื่องราวการต่อสู้กับอิทธิพลและคนร้าย การสืบสวนที่รสชาติที่กลมกล่อมที่ต้องใช้ทั้งข้อมูล ทักษะ และเทคนิคเฉพาะตัวต่าง ๆ ฉากบู๊สุดดุเดือด และความขบขันที่แทรกมาสร้างรอยยิ้มตลอดทั้งตอน การันตีด้วยเรตติ้งเปิดตัวตอนแรกสูงสุดตลอดกาลของช่อง MBC ในล็อตประจำวันศุกร์-เสาร์ ไม่ควรพลาดกับซีรีส์น้ำดี “Chief Detective 1958” โดยสามารถติดตามซับไทยถูกลิขสิทธิ์ที่ Disney+ Hotstar
บทความที่เกี่ยวข้อง
ส่องประวัติ – ผลงาน ของ อีเจฮุน (Lee Je Hoon)
สรุปผลงานประกาศรางวัล 2023 SBS Drama Awards ⋯ อีเจฮุน – คิมแทรี แพ็คคู่คว้าแดซัง
ปลื้มมิตรภาพทั้งในและนอกจอ! นัมกุงมิน – อีเจฮุน แชร์ภาพนัดพบกันในวันว่าง
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡
source (1)(2)(3)(4)(5)(6)