มาร่วมเปิดความหมายฉากพาดุกในซีรีส์เกาหลีย้อนยุคไปด้วยกัน หลายต่อหลายเรื่อง เรามักจะเห็นฉากการเล่นหมากล้อมในท้องเรื่อง ซึ่งฉากเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ประกอบฉากเพื่อความสวยงาม แต่ยังมีเรื่องราวที่สอดแทรกความหมายอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งฉากเกี่ยวกับพาดุกนี้ เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องราวทั้งหมดในซีรีส์ Captivating the King ด้วย
พาดุก เป็นการละเล่นหมากกระดานแบบหนึ่ง ในภาษาไทยเรียกว่า ‘หมากล้อม‘ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โกะ‘ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน เรียกว่า ‘เหวยฉี’ (เกาหลี; 바둑; พาดุก / ญี่ปุ่น; 囲碁; igo, / จีน ; 围棋; เหวยฉี)
พาดุก ในประวัติศาสตร์เกาหลี
เชื่อว่าหมากล้อมปรากฏในประวัติศาสตร์มากว่า 4,300 ปีก่อนแล้ว ในส่วนของเกาหลีก็คาดว่ามีส่งผ่านการเล่นหมากล้อมมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าทันกุน (พระราชาผู้ก่อตั้งโคโชซอน อาณาจักรแรกของเกาหลี) แต่ที่มีหลักฐานปรากฏก็เป็นในยุคสามอาณาจักร มีบันทึกว่าราชวงศ์ญี่ปุ่นได้รับของขวัญเป็น “กระดานมกฮวาจาดันกีกุก” (목화자단기국; 木畵紫檀碁局) และเม็ดหมาก จากพระเจ้าอึยจา พระราชาองค์สุดท้ายของอาณาจักรแพ็กเจ กระดานหมากที่มีจุดเป็นลายดอกไม้อยู่บนหน้ากระดาน 17 จุด มีบันทึกจากฝั่งจีน ทั้งบันทึกราชวงศ์ถัง (구당서; 舊唐書) บันทึกราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (후한서; 後漢書) และบันทึกราชวงศ์สุย (수서; 隋書) บอกว่าชาวโครยอชอบเล่นหมากล้อม และทูโฮ ฝั่งแพ็กเจมีการละเล่นหลายอย่าง รวมทั้งนิยมเล่นหมากล้อมด้วย
ผ่านมายุคสมัยโครยอ อย่าง พระเจ้าคยองจง พระราชาองค์ที่ 5 แห่งโครยอ ก็ชอบเล่นพาดุก มีเล่าว่าด้วยการเมืองแสนวุ่นวายของตระกูลใหญ่หลายฝ่ายมาตั้งแต่สมัยของพระเจ้าควังจง (พ่อของพระเจ้าคยองจง) ทำให้ช่วงหลัง ๆ ของรัชสมัยคยองจง พระองค์ได้หลีกลี้ราชกิจหนีไปดื่มกินเล่นพาดุกไม่เอาการงานเพราะเหนื่อยหน่ายการเมืองวุ่นวายนี้เอง
พอมายุคโชซอน พาดุกก็ยังเป็นการละเล่นที่เหล่าราชวงศ์ชื่นชอบต่อ ๆ กันมา พระเจ้าแทจงกับเหล่าลูกชายก็ชอบเล่นพาดุก องค์ชายชุงนยอง (พระเจ้าเซจงมหาราช) ก็ชอบเล่นพาดุก พระเจ้าเซจงชื่นชมคนมีทักษะ จึงเคยแต่งตั้งนักเล่นพาดุกมือฉมังให้เป็นขุนนางมาแล้ว ต่อมาลูกชายของพระเจ้าเซจง อย่าง องค์ชายซูยาง (พระเจ้าเซโจ) และองค์ชายอันพยองก็ชื่นชอบพาดุกเช่นกัน แต่องค์ชายอันพยองจะเล่นพาดุกเพื่อความเพลิดเพลิน ส่วนองค์ชายซูยางจะเล่นพาดุกในแง่กลยุทธ์การเมือง จนเมื่อองค์ชายซูยางได้ขึ้นพระเจ้าเซโจ ก็ยิ่งนำให้พาดุกยิ่งนิยมขึ้นในหมู่คนในวัง เหล่าขันที นางใน ขุนนางต่าง ๆ ล้วนเล่นพาดุกกันแพร่หลาย เรียกว่าพาดุกเป็นหนึ่งในการละเล่นของชนชั้นสูงมาตลอด อย่าง รยูซองรยง (류성룡) บัณฑิตขุนนางใหญ่ผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในยุคพระเจ้าซอนโจ สูงสุดถึงขั้นอัครมหาเสนาบดีนั้น ก็เป็นอีกผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเอกด้านพาดุก รยูซองรยง เป็นผู้เขียน “จิงบีรก” บันทึกเรื่องราวเจ็ดปีสงครามอิมจิน (징비록; 懲毖錄) ซึ่งเป็นที่มาของซีรีส์ย้อนยุคเรื่อง The Jingbirok A Memoir of Imjin War (จิงบิรก มหาสงครามสามแผ่นดิน) ดังนั้นในซีรีส์จึงมีฉากที่ตัวเอกซึ่งก็คือ รยูซองรยง เอง เล่นพาดุกกับพระเจ้าซอนโจ แต่ไม่ใช่เล่นเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ แต่เป็นเกมกระดานที่พูดถึงการเมืองในท้องเรื่องขณะนั้น
จากในซีรีส์ ตอนสงครามญี่ปุ่นรุกรานเกาหลี พระเจ้าซอนโจแต่งตั้งองค์ชายควังแฮเป็นรัชทายาทกะทันหัน และตนเองหนีไปต้าหมิง ส่วนองค์ชายก็นำทัพร่วมกับชาวบ้านออกหน้าต่อสู้กับญี่ปุ่นจนได้ใจเหล่าราษฎรไป แม้ผลงานขององค์ชายต่อบ้านเมืองจะโดดเด่นแต่ก็ยิ่งทำให้พระเจ้าซอนโจเกิดความระแวงระวัง ที่ราษฎรรักและเทิดทูนองค์ชายควังแฮมากกว่า อยากจะปลดองค์ชายควังแฮออกจากตำแหน่งรัชทายาท แต่ รยูซองรยง กลับบอกว่า คนวางหมากคือพระราชา อย่ามองแค่หมากตัวเดียว แต่ให้มองทั้งกระดาน ถ้าวางหมากตัวเดียวนั้นได้ถูกที่ ชัยชนะก็จะเป็นของคนวางหมาก ไม่ใช่ของตัวหมาก ซึ่งเป็นการบอกพระเจ้าซอนโจเป็นนัยว่า ให้มองผลที่จะได้รับในอนาคตมากกว่า ไม่ใช่แค่ความคิดข้างตนเอง แต่พระเจ้าซอนโจกลับปัดทิ้ง และบอกว่าหมากก็เป็นแค่หมากอยู่กับจุดที่ถูกวาง แต่คนไม่ใช่หมาก อย่างไรก็ต้องมีแหกคอก ในฉากดังกล่าวไม่ใช่แค่การปรึกษาราชการระหว่างพระราชากับขุนนาง แต่แม้แต่ผู้ชมเองก็ยังรู้สึกได้ว่าฉากนั้น ทำให้เห็นความนึกคิดภายในจิตใจของพระเจ้าซอนโจ ผ่านฉากการเล่นพาดุกของตัวละคร ดังนั้นการเล่นพาดุกจึงไม่ใช่แค่การเล่นเป็น หรือเล่นเก่ง แต่วิธีการเดินหมากของแต่ละคนก็บอกถึงบุคลิก ความคิด การตอบโต้รับมือของบุคคลได้
มีภาพวาดโชซอน ฮูวอนอาชิบโด (후원아집도; การรวมตัวกันของชนชั้นสูงที่สวนหลังบ้าน) แสดงถึงชีวิตประจำวันยามว่างของชนชั้นสูง มุมหนึ่งเป็นภาพกลุ่มคนเล่นพาดุก อีกมุมมีคนชื่นชมงานเขียนและภาพวาด พาดุกยังสืบต่อมาเรื่อย ๆ คนสำคัญในประวัติศาสตร์อีกคนที่ชื่นชอบการเล่นพาดุก คือ ฮึงซอนแทวอนกุน (흥선대원군) ผู้เป็นพ่อของพระเจ้าโคจง พระราชาโชซอนองค์ที่ 26 ถึงขนาดเมื่อได้ยินข่าวว่ามีคนเก่งพาดุก ชื่อ คิมมันซู ก็ไปตามตัวให้มาเดินหมากกัน และก็ประทับใจทักษะจนมอบตำแหน่งให้เป็นขุนนางแห่งอึยซอง
อย่างไรก็ตาม ในอดีตเกาหลีมีรูปแบบการเล่นหมากล้อมที่พัฒนาจนมาเป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง เรียกว่า ซุนจังพาดุก (순장바둑) การเริ่มเกมจะวางหมากไว้ล่วงหน้า 16 จุด โดนตาแรกที่ลงได้จะเป็นหมากดำ และลงตรงจุดกึ่งกลางกระดาน (ภาพกระดานหมากมกฮวาจาดันกีกุก ยุคแพ็กเจ จุดดอกไม้บนกระดานก็เป็นตำแหน่งแบบเดียวกับซุนจังพาดุก) ส่วนพาดุกที่เล่นแบบปัจจุบันได้รับอิทธิพลมาจากหมากล้อมญี่ปุ่น ช่วงสมัยที่เกาหลีถูกญี่ปุ่นปกครองภายหลังนี้เอง ซึ่งในซีรีส์เรื่อง The Jingbirok A Memoir of Imjin War เองก็มีฉากที่ถูกพูดถึงว่าไม่ตรงตามยุคสมัย เพราะมีฉากที่ขุนนางเล่นพาดุก พระเจ้าซอนโจและตัวละครก็เริ่มวางหมากอิสระได้ตั้งแต่ตาแรก ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการเล่นพาดุกเกาหลีในสมัยนั้น
นอกจากการเล่นพาดุกเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังมีนักเล่นพาดุกเพื่อใช้หาเลี้ยงชีพกินอยู่ เรียกว่า กีแกก (기객) โดยจะมีเหล่าชนชั้นสูงที่ชอบจัดแข่งขันพาดุกจะเป็นผู้สนับสนุน กีแกก ให้มาประลองเชิงแข่งพาดุกโดยมีการลงเดิมพันกันต่าง ๆ
พาดุก ในซีรีส์เกาหลี
พาดุก ในซีรีส์ย้อนยุคเป็นภาพแทนการวางแผนของตัวละครต่าง ๆ ซึ่งมักเป็นการเล่นพาดุกระหว่างตัวละครชาย แต่ก็มีภาพตัวละครหญิงที่เล่นพาดุกเหมือนกัน ตัวละครล้วนเป็นสตรีที่มีความคิดเป็นของตัวเอง หรือแสดงเจตจำนงชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เห็นว่า ‘พาดุก’ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการแสดงความต้องการ และ ยืนหยัดทางความคิดของบุคคลด้วย
ในเรื่อง Dongyi (ทงอี จอมนางคู่บัลลังก์) ก็มีฉากเล่นพาดุกระหว่างพระเจ้าซุกจงกับจางอ๊กจอง เป็นลักษณะที่ใช้พาดุกเป็นนัยสื่อถึงการแก้ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องขณะนั้น
ในเรื่อง The Iron Empress (ชอนชู หัวใจเพื่อแผ่นดิน) บท องค์หญิงฮวังโบซอล (พระนางฮอนจอง) ก็บอกว่าอยากแต่งงานกับคนเล่นพาดุกเก่ง
หรืออย่างในเรื่อง Captivating the King (เสน่ห์ร้ายบัลลังก์ลวง) นางเอกก็พูดว่า จะแต่งงานกับคนที่เล่นพาดุกชนะตนเองเช่นกัน และยังมีฉากช่วงที่พระเอก – นางเอกจะเล่นพาดุกกันครั้งแรก พระเอกเอ่ยถึงตอนกวนอูผ่าตัดก็ยังเล่นพาดุก ซึ่งก็มาจากวรรณกรรมสามก๊กจริง ๆ ครั้งนั้นกวนอูถูกศรอาบยาพิษเข้าที่แขน หมอฮัวโต๋ก็มารักษาโดยการทำแผลผ่าแขน ตัวกวนอูก็เล่นหมากล้อมไปด้วย มองได้ว่าเป็นการเบี่ยงเบนความเจ็บปวดของการรักษาบาดแผลโดยใช้หมากล้อมช่วยนั่นเอง ดังนั้น พาดุกจึงไม่ใช่แค่เรื่องยุทธวิธีดูความคิดฝ่ายตรงข้าม เพื่อโน้มน้าวความคิดอีกฝ่าย แต่ยังเป็นการช่วยปลอบประโลมใจ ช่วยให้ใจเย็นลง หรือช่วยให้เห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายมากขึ้นได้อีกด้วย
พาดุก ในซีรีส์ย้อนยุคจะเป็นฉากที่ให้ตัวละครใช้การเล่นพาดุกต่อสู้กันทางความคิด แต่ก็ยังมีพาดุกที่ไม่ได้เล่นตามรูปแบบเกมเสมอไป อย่างเรื่อง Bloody Heart พระเอกมองเหล่าเสนาบดีแต่ละคนเป็นหมากตามตำแหน่ง วางแผนให้หมากแต่ละตัวค่อย ๆ ถูกดึงมาอยู่ฝ่ายตัวเอง ระหว่างที่หมากอยู่บนกระดาน หมากแต่ละฝ่ายก็ต่อสู้กันเอง โดยพระเอกทำตัวเป็นพระราชาที่ดูอ่อนแอ ภายใต้เงาของอัครมหาเสนาบดีในเรื่อง ส่วนตัวละครฝ่ายหญิงก็ล้วนเดินเกมอยู่ในกระดานตัวเอง นางเอกที่เหมือนจะอยู่ฝ่ายพระเอก กับพระพันปีที่เหมือนจะอยู่ฝ่ายอัครมหาเสนาบดี แต่ตัวละครหญิงทั้งสองก็วางหมากเคลื่อนไหวด้วยแผนของตัวเองเช่นกัน การเดินหมากในเรื่องนี้จึงเป็นเครื่องมือของตัวละครได้แสดงแผนการในใจ
การเล่นหมากล้อม ผู้เล่นต้องมองภาพรวมของเกม ดูหมากบนกระดานทุกส่วน ไม่เจาะจงจดจ่อหมากกลุ่มใด ทำให้ต้องวางแผนลงหมากทั้งรุกและรับ เพื่อยึดครองพื้นที่บนกระดานให้ได้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม เป็นเกมกระดานที่แฝงคุณค่าของชีวิตมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน เป็นการผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งในแง่ความเป็นมนุษย์ ตรรกะความรู้ และยังเป็นหน้าหนึ่งของวรรณกรรม หมากล้อมอยู่ในประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และพาดุกที่อยู่ในซีรีส์ย้อนยุคก็เป็นฉากที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้เป็นอย่างดี
เช่นเดียวกันกับในซีรีส์ Captivating the King (เสน่ห์ร้ายบัลลังก์ลวง) ที่ตัวละครหลักทั้งคู่ต่างเป็นเซียนพาดุก และบรรยากาศในเรื่องราวเกิดขึ้นในยุคของพระราชาที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและคราบเลือดในราชวัง กับ สายลับที่มุ่งหมายจะแก้แค้นล้างเลือดเหล่านั้น ทว่าความแค้นล่อลวงนี้กลับทับซ้อนอยู่บนรอยรักของพวกเขาทั้งคู่ ดังนั้นซีรีส์เรื่องนี้ พาดุก จึงเป็นมากกว่าแค่หมากกระดานที่เชื่อมระหว่างพระเอกและนางเอกไว้ด้วยกัน เพราะเราได้เห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร กลยุทธ์การตั้งรับกับแผนการทั้งหลายทั้งปวงไม่ต่างกับการเล่นพาดุก รวมถึงมีบทสนทนาในเรื่องที่ใช้พาดุกเป็นตัวเปรียบเปรยสถานการณ์ต่าง ๆ ของตัวละครได้อย่างเห็นภาพ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและการให้ความสำคัญกับพาดุก ที่เป็นเกมกระดานที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในสังคมอีกด้วย
มาลุ้นไปกับเรื่องราวที่เข้มข้นนี้ พร้อมกันในซีรีส์ Captivating the King (เสน่ห์ร้ายบัลลังก์ลวง) รับชมได้ครบทั้งหมด 16 ตอนแล้วที่ Netflix
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡
Reference