คุณให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น “คนยุคไหน” กันคะ? สำหรับผู้เขียน มองตัวเองว่าเป็นคนยุคที่ยังไม่แก่เกินไป ที่จะเรียนรู้และติดตามโลกโซเชียล แต่ก็ไม่เด็กเกินไปจนจำไม่ได้ว่า โลกสมัยที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต คนเราเคยใช้ชีวิตกันยังไง ผู้เขียนรู้จักอินเตอร์เน็ตครั้งแรกตอนไปทัศนศึกษา ป.6 ค่ะ เจ้าหน้าที่เปิดจอดำๆ เขียวๆ ให้ดู บอกว่าสิ่งที่เราพิมพ์จะไปอยู่ในจอเพื่อนข้างๆได้ด้วย ตอนนั้นก็ตื่นเต้นนะ แต่ก็ยังไม่เก็ตว่าจะพิมพ์คุยกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ ไปทำไม คุยกันเฉยๆก็ได้ และแม้แต่เขาบอกว่าสามารถพิมพ์คุยกับคนทั่วโลกได้ด้วย ก็ยังคิดไม่ออกอยู่ดีค่ะ ว่าเราจะคุยกับคนต่างชาติทำไมอ่ะ?
ในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย การรับรู้เกี่ยวกับ “ประเทศเกาหลี” สำหรับเรามันจำกัดมากๆ เลยค่ะ ถ้าถูกทักว่าเหมือน “สาวเกาหลี” ก็ไม่เก็ตว่าเป็นคำชมมั้ย เคยเห็นกิมจิผ่านๆ ตา ก็คิดว่าน่าจะเหมือนแกงส้ม เพลงเกาหลีที่เคยฟังคือ “อารีดัง” ก็เป็นเพลงประกอบหนังไทยซะอีกแน่ะ แถมความจริงเพลงนี้ชื่อ “อารีรัง” ชุดประจำชาติเกาหลีเอย อาหารเกาหลีเอย แทบจะแยกกับจีนหรือญี่ปุ่นไม่ออก ไม่น่าเชื่อเลยนะคะ ว่าเพียงไม่กี่ปี โซเชียลมีเดียจะเชื่อมโลกให้เรารู้จักประเทศเกาหลีอินไซด์ขนาดนี้ นอกจากนี้ช่วงวิกฤตโควิด หากไม่มีอินเตอร์เน็ต เราอาจไม่ได้รู้ว่าต่างประเทศเค้าดูแลประชาชนยังไง มีรัฐสวัสดิการแบบไหน ค่าแรงเท่าไร ผู้นำประเทศไหนปังปุริเย่!! จนกลายเป็นเทรนด์ #ย้ายประเทศกันเถอะ ที่ฮอตฮิตในเฟซบุ๊กตอนนี้…
ชัดเจนว่าคนยุคนี้มองเห็นลู่ทางที่ดีกว่าผ่านโลกโซเชียล จึงคิดอยากย้ายประเทศ แต่ย้อนไปปี 1960-1980s คนเกาหลีใต้เรือนแสน พากันพลัดบ้านเกิดไปตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา ด้วยสาเหตุใดกันนะ? พวกเขาไม่ได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์รำไร เหมือนคนยุคนี้ด้วยซ้ำ มีเพียงคำบอกเล่าที่ได้ยินมาผ่านหูว่า อเมริกาคือผืนดินแห่งใหม่ที่น่าจะปลอดภัยและมั่งคั่ง ลองเสี่ยงดูสักตั้ง ไล่ล่าฝัน “อเมริกัน ดรีม” กันเถอะ
Minari มินาริ ก้าวที่สองของหนังเกาหลีบนเวทีออสก้าร์
ถ้าพูดถึงภาพยนตร์ที่มีพล็อต “คนเกาหลีมาตั้งรกรากที่อเมริกา” ช่วงนี้ก็คงหนีไม่พ้น Minari (มินาริ) ใช่มั้ยละ เพราะคุณยุนยอจอง นักแสดงอาวุโสที่รับบทบาท “คุณยายซุนจา” เพิ่งคว้ารางวัล นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีออสก้าร์มาหมาดๆ พร้อมสุนทรพจน์สุดแซ่บ ให้โลกรับรู้ว่าคนเกาหลีไม่ได้มาเล่นๆ ความแสบซ่าอีกประการนึงก็คือ ตอนแรกเค้าจะโยน Minari ไปไว้ในหมวด “ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ” ค่ะ แต่ผู้กำกับ อี ไอแซค จอง (Lee Isaac Chung) ยืนกรานว่า เป็นภาพยนตร์อเมริกันจริงๆนะ สร้างขึ้นจากเรื่องราววัยเด็กของเขา พ่อแม่ชาวเกาหลี อพยพมาตั้งรกรากทำฟาร์มปลูกผักอยู่ที่รัฐอาคันซอ นักแสดงเป็นชาวเกาหลี ถ้าเข้าฉากกับคนเกาหลีด้วยกัน ก็พูดภาษาเกาหลี ถ้าเข้าฉากกับคนอเมริกัน ก็พูดภาษาอังกฤษ ถ้าอเมริกาคือดินแดนแห่งความหวัง ความเสมอภาคเท่าเทียมของทุกเชื้อชาติ ก็ต้องเก็ตสิว่านี่คือเรื่องราวของ “ครอบครัวอเมริกันชน” ตอนที่มาตั้งรกรากในอเมริกาใหม่ๆ ไงล่ะ
::: เรื่องย่อ Minari ผักคื่นช่ายที่ยายนำมาจากเกาหลี :::
ภาพยนตร์ Minari เปิดเรื่องในปี 1983 ครอบครัวผู้อพยพเชื้อชาติเกาหลีของ จาค็อบ (รับบทโดย สตีเวน ยอน) เดินทางย้ายจากแคลิฟอร์เนีย มาเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง ที่รัฐอาคันซอ เขากับภรรยา โมนิกา (รับบทโดย ฮันเยริ) เข้าทำงานในโรงงานคัดแยกเพศลูกเจี๊ยบ ทว่าเหตุผลหลักที่ทำให้จาค็อบ ย้ายมาอยู่ในเขตชนบทก็เพราะเขามีความฝันว่า จะพลิกผืนดินรกร้างแห่งนี้ให้เป็นฟาร์ม ปลูกพืชเกาหลีส่งขายชุมชนชาวเกาหลีอพยพ ด้วยความฝันลมๆ แล้งๆ บวกกับยังมีลูกสาว แอนนี่ และลูกชาย เดวิด เป็นภาระอีก 2 ชีวิต ทำให้ จาค็อบ และโมนิกา มีปากเสียงกันบ่อยครั้ง ในที่สุดทั้งสองเลือกทางออกสุดท้ายคือ รับคุณยาย ซุนจา (รับบทโดย ยุนยอจอง) แม่ของโมนิกา จากเกาหลีมาอยู่ด้วยกัน หวังเชื่อมความสัมพันธ์ครอบครัวอีกครั้ง
ในสายตาของเดวิด หลานชายคนเล็ก คุณยายซุนจาเป็นคนประหลาด เธอไม่เหมือนภาพจำ “คุณยาย” ที่เคยเห็นในทีวี เธอไม่สวมผ้ากันเปื้อน ไม่อบขนม ไม่ทำอาหารฝรั่ง ทว่ากลับหอบพริกป่น ปลาแห้ง และยาสมุนไพรที่ไม่อร่อยมาจากเกาหลี คุณยายชอบพูดจาประหลาด แถมยังชวนเดวิดออกเดินทางไปปลูก “มินาริ” หรือ “ผักคื่นช่าย” ที่ริมหนองน้ำ ต่างจาก จาค็อบ คุณพ่อของเขา ที่พยายามทำทุกวิถีทาง หาตาน้ำใต้ดินมารดน้ำผักในแปลงไม่ให้เหี่ยวเฉา
ทำไมคนเกาหลีชอบ “ย้ายประเทศ” ไปอยู่อเมริกา
การอพยพของชาวเกาหลีมาอเมริกา มี 3 ระลอกใหญ่ๆ ค่ะ โดยมีปัจจัยที่เหมือนกันคือ เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจและการเมืองเกาหลีกำลังปั่นป่วน แต่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่อเมริกา กำลังเปิดประตูแห่งโอกาสต้อนรับพลเมืองล็อตใหม่พอดี
ปลาย ค.ศ. 1880s เป็นยุคล่าอาณานิคม ราชวงศ์โชซอนเสื่อมถอยลงทั้งจากศึกในศึกนอก ทั้งถูกรุกรานจากจีนและญี่ปุ่น และมีขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง จนชาวบ้านตาดำๆ โกรธแค้น ก่อตั้งกลุ่ม “ปฏิวัติทงฮัก” (กบฏชาวนา) หวังล้มระบบศักดินา ให้ประชาชนได้ “เป็นคนเท่าเทียมกัน” ความระส่ำระสายในช่วงนั้น ทำให้ชาวเกาหลีกลุ่มหนึ่ง อพยพไปอเมริกาพร้อมกับคณะมิชชันนารี และยังมีชนชั้นสูงเกาหลีบางส่วน ใช้โอกาสที่ได้มาศึกษาต่อในอเมริกาตั้งถิ่นฐานถาวร
ทว่าผู้อพยพระลอกใหญ่จริงๆ เริ่มต้นเมื่อ 13 มกราคม 1903 เมื่อเรือลำหนึ่งพาชาวเกาหลีอพยพมาฮาวายเพื่อทำงานในไร่สับปะรดและไร่อ้อยค่ะ ในเวลาเพียงแค่ 2 ปี มีคนหนีตายจากความอดอยาก และการเมืองที่วุ่นวายในเกาหลี มาอยู่ที่ฮาวายมากถึง 7,226 คน (เป็นผู้หญิง 637 คน และเด็ก 465 คน) ปัจจัยที่ต้อนรับผู้อพยพชาวเกาหลีมากขนาดนั้นก็เพราะ อเมริกาเพิ่งผนวกดินแดนฮาวายเป็นของตัวเองหมาดๆ เมื่อปี 1898 ต้องการแรงงานในฟาร์มจำนวนมาก แต่ทว่าจีนกลับออก พรบ. ห้ามอพยพแรงงานดักไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1882 ส่วนแรงงานชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในไร่อยู่ก่อนก็พากันประท้วงขอขึ้นค่าแรง เหล่ามิชชันนารีจึงพาชาวเกาหลีมาเป็นแรงงานราคาถูกที่นี่ ความแปลกที่แปลกทาง แล้วยังถูกใช้แรงงานหนัก ชาวเกาหลีจึงเกิดอาการ “โฮมซิก” กันเป็นแถบ หลังใช้หนี้หมด แรงงานเกาหลีครึ่งหนึ่งตัดสินใจกลับบ้านเกิด แต่แรงงานอีกครึ่ง ขอย้ายไปหางานทำในแผ่นดินใหญ่ค่ะ ว่ากันว่าชาวเกาหลีต่างจากผู้อพยพชาติอื่น ที่เมื่อเข้าอเมริกาได้แล้ว ก็หวังอยากให้ลูกหลานได้เล่าเรียนสูงๆ แต่คนเกาหลีกลับพุ่งเป้าหมายไปที่ “การทำธุรกิจส่วนตัว” ด้วยข้อจำกัดทางภาษาเมื่ออพยพมาถึงแคลิฟอร์เนีย ชาวเกาหลียังคงทำงานเป็นลูกจ้างในไร่ พร้อมกับก้มหน้าก้มตาเก็บเงิน เปิดร้านซักรีด ทำผม ทำเล็บ บ้างก็ทำฟาร์มเป็นของตัวเอง การอพยพระลอกแรกสิ้นสุดลงในปี 1924 หลังสภาคองเกรสออกกฎหมายแบนผู้อพยพจากเอเชีย
การอพยพระลอกที่ 2 เกิดขึ้นช่วงปี 1950 – 1964 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีถูกแบ่งเป็นเหนือใต้ และต่อมากลายเป็นสนามรบเพื่อประกาศแสนยานุภาพระหว่างกองทัพอเมริกากับโซเวียต ในแผ่นดินที่มีแต่ซากความบอบช้ำของสงคราม ความฝันที่ยังมีเหลือในช่วงนั้นคือการมีใครสักคน “พาตัวออกไป” ประกอบกับช่วงนั้นอเมริกาผ่านกฎหมาย “เจ้าสาวสงคราม” ทำให้ผู้หญิงเกาหลีที่พบรักกับทหารอเมริกัน สามารถเดินทางไปแต่งงานในอเมริกาได้อย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเด็กกำพร้ามากมาย ที่ถูกทหารอเมริกันรับเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม เด็กเหล่านี้บ้างก็เป็นเด็กเกาหลี บ้างก็เป็นลูกครึ่ง บ้างก็เกิดจากการข่มขืน เหล่า “เจ้าสาวสงคราม” และ “ลูกทหารจีไอ” ถือเป็นชาวเกาหลีกลุ่มแรก ที่ทุกข์ทรมานกับการถูกสังคมอเมริกันเลือกปฏิบัติ ต่างจากผู้อพยพที่เป็นนักศึกษา นักธุรกิจ นักการเมือง แพทย์ ทนาย อาจารย์ ที่เข้ามาล็อตหลังอีกประมาณ 6,000 คน ที่แม้จะไม่ถูกเหยียดเท่าสองกลุ่มข้างต้น แต่ก็ใช้ชีวิตอย่างเจียมตัว เยี่ยงชนกลุ่มน้อยในอเมริกา
ส่วนยุคในที่เห็นในภาพยนตร์ Minari คือการอพยพระลอกที่ 3 เมื่ออเมริกา ต้องการแรงงานฝีมือจำนวนมาก รัฐบาลจึงเพิ่มโควตาผู้อพยพชาวเอเชีย ในปี 1965 ชาวเกาหลีทยอยอพยพเข้ามาไม่ขาดสาย มากสุดในปี 1976 ที่เข้ามาถึง 30,000 คน เป็นภาวะ “สมองไหล” เมื่อหนุ่มสาวเกาหลีช่วงนั้นเบื่อหน่ายกับกฎอัยการศึกที่กินเวลายาวนาน 18 ปี รัฐบาลเผด็จการทหาร นายพลพัคจองฮี ค่ะ จาค็อบและโมนิกาก็คงเช่นกัน ชาวเกาหลีที่อพยพมาระลอกนี้เป็นเสมือน “ลูกเจี๊ยบ” ให้สังคมอเมริกันคัดเลือก ตัวไหนไร้ประโยชน์ก็ถูกกำจัดทิ้ง หนุ่มสาวเกาหลีที่มาตั้งรกรากในอเมริการะลอกนี้ ให้กำเนิดลูกๆ ที่เรียกว่า “คโยโพ” (교포) หรือชาวเกาหลีสัญชาติอเมริกัน อย่างเช่น แอนน์ และเดวิด ก็เป็นเมล็ดพันธุ์เกาหลีที่ไม่เคยแตะต้องแผ่นดินเกาหลีเลย
หลังเกาหลีเรียกร้องประชาธิปไตยสำเร็จ ในปี 1987 ภาวะสมองไหลก็สิ้นสุดลง แต่ก็ยังมีคนทยอยมาอยู่อเมริกาอยู่เรื่อยๆ เพราะความฝัน “อเมริกันดรีม” ยังยั่วยวนหอมหวานไม่เสื่อมคลาย
เมื่อ “อาจุมม่า runs the world”
ตอนที่ Minari ฉายในเกาหลี ว่ากันว่าแม้จะมีสถานการณ์โควิด และคนเกาหลีในเกาหลีก็ไม่ได้ “อิน” กับพล็อตตั้งรกรากในอเมริกาเท่าไหร่ แต่ก็ยังแห่เข้าชมคับคั่ง เพราะคนเกาหลีรัก “อาจารย์ยุนยอจอง” และรักคาแรกเตอร์ของ “คุณยายซุนจา” ในหนัง นี่แหละคือสไตล์ของผู้หญิงเกาหลีที่โลกควรจะได้รู้จัก การต่อสู้ในแบบ “อาจุมม่า”
คุณ ยุนยอจอง เป็นนักแสดงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 คนรู้จักว่าเธอคือ “จางฮีบิน” คนที่ 3 ของประเทศเกาหลี แต่เมื่อความสำเร็จในวงการพุ่งสู่จุดสูงสุด ปี 1974 เธอกลับอำลาวงการ ไปแต่งงานและตั้งรกรากอยู่ในอเมริกา (อดีตสามีของเธอ โจยองนัม เป็นนักร้อง ก็ต้องลาวงการด้วยเช่นกัน) หลังสู้ชีวิตในอเมริกาอยู่หลายปี ยุนยอจองก็หย่ากับสามี ใช้ชีวิตเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและกลับเข้าสู่วงการบันเทิงเกาหลีอีกครั้งในปี 1987 ดังนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัว จาค็อบและโมนิกา ยุนยอจองเข้าใจดีกว่าใคร เพราะเธอก็เคยเป็นคนหนึ่งที่ฝ่าฟันอยู่ในบริบทสังคมแบบนั้น
มาถึงคาแรกเตอร์ “คุณยายซุนจา” กันบ้างค่ะ เธอคือหญิงชราชาวเกาหลี ที่หอบพริกป่น ปลาแห้ง และเมล็ดพันธุ์คื่นช่าย(มินาริ) ข้ามน้ำข้ามทะเลมาหาลูกสาวที่อเมริกา ในสายตาของหลานๆ คุณยายดูเป็นคนแก่จุ้นจ้าน น่ารำคาญ เธอสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ แม้แต่อ่านเขียนภาษาเกาหลีก็ไม่ออกด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายภาพยนตร์ก็ทำให้เห็นว่า คุณยายคือตัวแทนของ “มินาริ” ที่แม้จะไม่สวยงาม แต่กลับยืนหยัดทนแดดฝน และยังมี “กลิ่น” ที่ทำให้ผู้คนหวนคิดถึง “ประเทศเกาหลี” ที่จากมา อันที่จริงมินาริต้นนี้ พบเจอเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย การเป็นคุณยายวัย 70 กว่าๆ ในปี 1983 นั่นก็แสดงว่าเธอเกิดมาในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากโชซอนล่มสลาย สู่ยุคอาณานิคมจักรวรรดิญี่ปุ่น เคยใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กรอบสังคมขงจื๊อห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือ และยุคที่ดูหมิ่นความเป็นมนุษย์เหมือนผักปลา เมื่อเธอแต่งงานมีลูก สามีก็ถูกเกณฑ์ไปรบ และสูญหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณยายซุนจาเลี้ยงลูกสาวมาโดยลำพัง ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของสังคมครั้งแล้วครั้งเล่า
ย้อนไปหลายๆ ปีก่อน หญิงสูงวัยในเกาหลีไม่ชอบถูกเรียกว่า “อาจุมม่า” (ป้า) ค่ะ เพราะมันสื่อถึงอิมเมจของผู้หญิงแก่ๆ โผงผาง ใส่ชุดลายดอกขายของอยู่ในตลาด พวกเธอชอบถูกเรียกว่า “ซาโมนิม” (คุณนาย) มากกว่า เพราะแสดงถึงผู้หญิงสูงวัยที่ยังดูแลตัวเอง สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องประดับสวยงาม ย้อมผมดัดผมเรียบร้อย (ในขณะที่คนเกาหลีเรียกผู้ชายวัยกลางคนถึงสูงวัยว่า “อาจอชี” (คุณน้า,คุณลุง) ได้ตามปกติ เพราะสามารถเป็นได้ตั้งแต่หนุ่มมนุษย์เงินเดือนวัย 30 กลางๆ ไปจนถึงคุณลุงขายของในตลาด) แต่แล้ว Minari ก็ปลุกกระแสในคนเกาหลีมาคิดว่า การเป็น “อาจุมม่า” ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เรื่องแบบนี้ถ้าชาวโลกมองว่ามันคูล มันจะก็คูลค่ะ คล้ายกับช่วงยุค 1980s ที่พ่อแม่ของเด็ก “คโยโพ” ห่อข้าวกล่องให้ลูกไปกินที่โรงเรียน แล้วโดนเพื่อนฝรั่งล้อ เพราะเทียบกับอาหารอเมริกันอย่าง สเต็ก แฮมเบอร์เกอร์ แล้ว หน้าตาของอาหารเกาหลีดูไม่สวยงาม เละๆ แหยะๆ แต่ช่วงปี 1990 ที่อเมริกันชนประสบภาวะโรคอ้วนจากฟาสต์ฟู้ด นักโภชนาการพบว่า ข้าวหุงธัญพืช และกิมจิ ที่ร้านอาหารใน Korean Town คือสุดยอดอาหารไดเอ็ต เมื่ออาหารเกาหลีเกิดเป็นแฟชั่นสุดคูลขึ้นมา เกาหลีก็เลยต่อยอดด้วยการสร้างซีรีส์ Dae Jang Geum ส่งขายไปทั่วโลก กลายเป็นต้นกำเนิดกระแส Hallyu Wave ถึงทุกวันนี้
บันเทิงเกาหลีที่อเมริกา : เคล็ดลับการปลูก “มินาริ” ให้งอกงามในต่างแดน
นาทีนี้หากจะพูดถึงกระแส Korean Wave ในอเมริกา ก็ไม่ได้เป็นความฝันลมๆ แล้งๆ อีกต่อไปแล้ว ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย รู้จักไอดอลระดับโลกอย่าง “บังทันโซนยอนดัน” (BTS) ภาพยนตร์ Parasite (ชนชั้นปรสิต) ของผู้กำกับฯ บงจุนโฮ ขึ้นรับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมื่อปีก่อน แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Netflix ก็มีซีรีส์เกาหลีมากมายให้เลือกชม ทั้งที่ย้อนไปเพียงไม่ถึง 10 ปี วงการบันเทิงเกาหลียังถูกสบประมาทอยู่เลยว่า คิดฝันเกินตัว เรามาดูกันค่ะว่า ในไม่กี่ปีมานี้ “มินาริ” แผ่กิ่งก้านสาขาบนผืนดินสหรัฐอเมริกาได้อย่างไร
Kim Sisters :: “…เชื่อสิ ที่ตรงนี้ปลูกผักได้ เขาเป็นฝรั่งนะ…”
ในภาพยนตร์ Minari เมื่อจาค็อบเดินทางมาถึงรัฐอาคันซอ ก็มี “ลุงพอล” ฝรั่งแก่ๆ ที่เป็นอดีตทหารจีไอ มาช่วยดูสภาพดินให้ มีฝรั่งอีกคน พยายามมาเสนอขาย “อุปกรณ์ตามหาตาน้ำ” สำหรับทำการเกษตร การเริ่มต้นลงหลักปักฐานนี้ ทำให้เราคิดถึง Kim Sisters (คิมซิสเตอร์ส) ไอดอลกรุ๊ปกลุ่มแรกที่ได้เดบิวต์ในอเมริกา
Kim Sisters ประกอบด้วยสามศรีพี่น้อง “ซูแอ” กับ “แอจา” เป็นลูกสาวของวาทยกรคิมแฮซง กับอีนันยอง นักร้องชื่อดัง ส่วน “มีอา” เป็นหลานสาว ช่วงสงคราม คิมแฮซงถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไป อีนันยองที่เป็นแม่จึงต้องเลี้ยงลูกสาวเพียงลำพัง เธอรับ “มีอา” เข้ามาเป็นบุตรบุญธรรม บอกเด็กสาวทั้งสามที่เคยฝึกเล่นดนตรีและร้องเพลงประสานเสียงที่สวนหลังบ้าน ว่ามันถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้อง “มีชีวิตรอด” จากการร้องเพลงสันทนาการทหารอเมริกัน อีนันยองเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ เธอไปซื้อแผ่นเสียงในตลาดมืด ที่มีเพลง “Ole Buttermilk Sky” และ “Candy & Cake” เพียงแค่ 2 เพลง ฝึกให้เด็กๆ ร้องจนขึ้นใจ แล้วไปร้องโชว์ในบาร์ย่านที่ทหารอเมริกันมานั่งดื่ม พวกทหารเห็นแววจึงพา 3 สาวไปเดบิวต์ที่สหรัฐอเมริกา
Kim Sisters ก่อตั้งวงขึ้นในปี 1954 และได้เดบิวต์ในอเมริกาปี 1959 พวกเธอเริ่มต้นจากการโชว์ที่โรงแรม Thunderbird Hotel ในลาสเวกัส จากนั้นได้เซ็นสัญญา และขึ้นแสดงในรายการทอล์กโชว์ชื่อดังอย่าง The Ed Sullivan Show ถึง 21 ครั้ง พวกเธอถูกจดจำในภาพสาวเอเชียแสนสดใส ที่ร้องเพลงประสานเสียง และเล่นดนตรีได้มากถึง 20 ชนิด ทั้งดนตรีเกาหลีและดนตรีสากล ปี 1962 สามสาวพาผลงานเพลง Charlie Brown ก้าวขึ้นอันดับ 7 บิลบอร์ดชาร์ต ทว่าอเมริกันชนยุคนั้นก็ยังไม่เก็ตความ “เกาหลี” สักเท่าไร สามสาวสวมชุดกี่เพ้าจีนขึ้นโชว์เสมอ แถมยังต้องเดินสายร้องเพลง ทั้งภาษาเกาหลี จีนกลาง และญี่ปุ่น ตามย่านที่มีคนเอเชียอยู่ การมองเห็นชาวเอเชียทั้งหมด “เป็นก้อนๆ” คือผลลัพธ์ของการหว่านเมล็ดพันธุ์เกาหลีตามคำแนะนำของทหารอเมริกัน แต่จะทำอย่างไรได้ ก็ในเมื่อเกาหลีในยุคนั้นยังไม่ได้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม Pop Culture เลยสักอย่าง จะเพลงบิ๊กแบนด์ แจ๊ส สวิง ร็อค ที่เป็นกระแสฮิตในช่วงนั้น ก็ล้วนได้อิทธิพลมาจากอเมริกันทั้งสิ้น
Wonder Girls & Rain :: เรามาปลูกผักที่คนเกาหลีชอบกินดีกว่า
หลัง จาค็อบ ไม่เชื่อ “อุปกรณ์ตามหาตาน้ำ” ของอดีตทหารอเมริกัน เขาก็ตั้งใจว่าจะปลูกผักที่ชาวเกาหลีนิยม แล้วเก็บเกี่ยวไปขายย่านโคเรียนทาวน์ในเมือง ด้วยแรงสนับสนุนของชาวเกาหลีด้วยกัน จะต้องไปรอดแน่นอน วิธีนี้ทำให้เราคิดถึง ยุคที่เกาหลีคัดสรร “สินค้าเลื่องชื่อประจำประเทศ” มาทดลองตลาดที่อเมริกา
ช่วงปี 1997 เกาหลีใต้ประสบวิกฤตหนี้ IMF หนึ่งในวิธีที่รัฐบาลเลือกใช้ฟื้นฟูประเทศคือ “ส่งออกวัฒนธรรมบันเทิง” ปรากฏว่าได้ผล วัยรุ่นจีนคลั่งไคล้วงบอยแบนด์ H.O.T ยกใหญ่ ฟากฝั่งญี่ปุ่นสาวน้อยมหัศจรรย์ โบอา ก็ครองใจผู้ชมมากมาย ส่วนประเทศแถบอาเซียนก็เริ่มอินกับซีรีส์เกาหลี ฝันของการกลับไปเจิดจรัสในสหรัฐอเมริกา จึงกลับมาอีกครั้ง โดยมีความเชื่อว่า อะไรที่คนในเกาหลีชอบ คนต่างชาติก็น่าจะชอบ เมื่อคิดได้ดังนี้ ดารานักแสดงคนไหนที่ดังๆ ไม่ว่าจะเป็น เรน , อีบยองฮอน , จอนจีฮยอน , แบดูนา ฯลฯ จึงถูกส่งไปเรียนภาษาอังกฤษ และเรียนการแสดงเพิ่มเติม เพื่อเข้าไปเดบิวต์ในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด หลายคนได้รับบทสำคัญในภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ แม้ไม่อาจก้าวขึ้นเป็นบิ๊กสตาร์ แต่ก็เป็นการกรุยทางที่ดี
นอกจากวงการภาพยนตร์ เราก็เห็นความกระตือรือร้นของวงการเพลง ค่ายไหนมีศิลปินดังๆ ก็ส่งมาฝึกที่อเมริกา ออกซิงเกิลภาษาอังกฤษ อย่าง YG Ent. ก็ส่งหนุ่ม SE7EN (เซเว่น) , SM Ent. ส่งสาว BoA (โบอา) ที่โด่งดังในญี่ปุ่น มาลองชิมลางเพลงอเมริกันดูบ้าง แต่ที่โดดเด่นสุดคงไม่พ้น แก๊งสาวน้อยมหัศจรรย์ Wonder Girls (วันเดอร์ เกิร์ลส) หลังจากสร้างปรากฏการณ์ทำแฮชทริกซ์ 3 เพลงฮิตในเกาหลี Tell Me , So Hot , Nobody ประธานค่าย JYP Ent. อย่าง พัคจินยอง ก็พาสาวๆ เข้าสู่สังเวียนอเมริกาทันที พวกเธอได้เดินสายทัวร์คอนเสิร์ตกับวง The Jonas Brothers โดยหวังใจว่าถ้าได้รับแรงสนับสนุนจากชาวเอเชียที่นี่ ก็น่าจะขยายความนิยมได้ไม่ยาก ทว่า จากจำนวนประชากร 330 ล้านคนในอเมริกา มีชาวเอเชียอยู่เพียง 14.5% ล้านคน หรือคิดเป็น 5% เท่านั้น ประชากรชาวเกาหลีก็ยิ่งแล้วใหญ่ ในปี 2010 มีเพียงแค่ 1.7 ล้านคน เส้นทางสู่สายดนตรีในอเมริกาของสาวๆ จึงไม่ง่ายนัก Wonder Girls ส่งเพลง Nobody เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ขึ้นอันดับ 76 ในบิลบอร์ดชาร์ต และถูกจัดให้เป็นอันดับ 3 ของ Top 10 K-pop Girl Groups of the Past Decade แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือ การสานต่อความนิยมในเกาหลี และสุขภาพใจของเมมเบอร์ ซอนมี เผยความรู้สึกหลังจากถอนตัวออกจากวงได้ 3 ปีว่า เธอเข้ามาเป็นนักร้องเพราะชื่นชอบ แต่กลับต้องเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ตัวเองกะทันหัน และใช้ชีวิตเสมือนเครื่องจักรในอเมริกา ด้าน ยางฮยอนซอก ผู้ก่อตั้งค่าย YG Ent. เผยความรู้สึกว่า การตัดสินใจส่ง Wonder Girls ไปเดบิวต์อเมริกาของพัคจินยอง เป็นโจทย์ที่ยากเหมือนงมเข็มกลางทะเลทราย ทว่า ประธานพัคจินยอง แห่ง JYP Ent. กลับบอกว่า เขาไม่เคยเสียใจกับการตัดสินใจครั้งนั้น
เกาหลียังส่งไอดอลกรุ๊ปมาทดลองตลาดอเมริกันอยู่เรื่อยๆ แต่เลือกใช้วิธี Collaboration กับศิลปินชื่อดังของอเมริกา Girl’s Generation (โซนยอชีแด) ร่วมงานกับแรพเปอร์ชื่อดัง Snoop Dogg ในเพลง The Boys เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ด้าน G-Dragon แห่ง BIGBANG และ CL แห่ง 2NE1 ก็ได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ EDM ชาวอเมริกัน อย่าง Skrillex เป็นต้น
PSY Gangnam Style :: ที่ใดมีแหล่งน้ำ มินาริย่อมงอกงาม
ในขณะที่ จาค็อบ พยายามสุดความสามารถ ที่จะปลูกผักส่งขายชุมชนเกาหลีในอเมริกา แม่ยายของเขา ซุนจา กลับมองหาแหล่งน้ำหว่านเมล็ดพันธุ์ “มินาริ” หรือคื่นช่าย แล้วปล่อยให้มันเติบโตเองตามธรรมชาติ มินาริเป็นผักที่หากขยายพันธุ์สำเร็จ ก็จะเติบโตทั่วบริเวณนั้นไม่หยุดหย่อน ทำให้เราคิดถึง PSY (ไซ) เจ้าของเพลง Gangnam Style (คังนัมสไตล์)
PSY เป็นนักร้องแรพเปอร์ นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ และเป็นลูกชายชนชั้นอีลิทที่มีแนวคิด “ขบถ” ชาวเกาหลีมีความสัมพันธ์ Love & Hate Relationship กับ PSY เรื่อยมา เพราะแม้ว่าบางครั้งเขาจะเป็นตัวแสบแห่งเกาหลี แต่งานเพลงของเขาก็สนุกเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม คนเกาหลีคงไม่เคยมอง PSY ว่าเขาจะขึ้นมาเป็นแม่ทัพ “สินค้าส่งออกบันเทิงเกาหลีสู่เวทีโลก” หากแต่เฝ้าฝากความหวังไว้กับ นักแสดงชั้นนำ และไอดอล ที่ผ่านการเทรนนิ่งอย่างเป็นระบบ แต่แล้วในปี 2012 ดวงคนจะดังก็ยั้งไม่อยู่ เมื่อเพลง Gangnam Style ของ PSY กลายเป็นไวรัล ผู้คนทั้งโลกพากันเต้นควบม้าตามเขาอย่างบ้าคลั่ง ส่งให้ครั้งหนึ่งเขาเคยได้เป็นเจ้าของสถิติกินเนสส์บุ๊ก MV ที่มีผู้ชมมากที่สุด กว่า 2,400 ล้านครั้ง กระแสความนิยมที่มีตัวกลางอย่าง Youtube เกิดขึ้นและงอกงามตามธรรมชาติโดยที่ทางเกาหลีแทบไม่ต้องออกแรงโปรโมตหนักเหมือนที่ผ่านมาเลย
ปรากฏการณ์ Gangnam Style Fever ส่งให้โลกทั้งใบหันมามองวงการบันเทิงเกาหลี ประเทศเล็กๆ สุดติ่งคาบสมุทรเอเชียตะวันออก ว่ามีดีอะไรกันนะ แล้วก็พบว่าไม่ได้มีแค่ PSY หากแต่เกาหลียังมีวงการ K-POP ที่เจ๋งสุดๆ ไปเลย ปี 2014 รายการเรียลิตี้ในอเมริกาที่มีผู้ชมมากถึง 8.61 ล้านคน The Bachelor เดินทางมาถ่ายทำที่โซล สัมผัสประสบการณ์อาหารเกาหลี เพลง วัฒนธรรม ผู้เข้าแข่งขันยังได้เดินทางไปตึก YG Ent. เพื่อเรียนเต้นกับ 2NE1 เกิร์ลกรุ๊ปยอดนิยมอีกด้วย ในปีเดียวกันนั้นเอง รายการค้นหานางแบบระดับโลก America’s Next Top Model : Cycle 21 ก็ยกกองถ่ายมาที่เกาหลี โดยมี 2NE1 และ BTOB เป็นแขกรับเชิญ ชาวอเมริกันเริ่มรู้จักไอดอล K-POP วงอื่นๆ ผ่าน Youtube แถมรัฐบาลเกาหลีก็ยังจับมือกับสถานีโทรทัศน์และค่ายเพลงต่างๆ จะ KCON in America คอนเสิร์ตรวมศิลปินเกาหลี เพื่อที่ค่ายจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจัดคอนเสิร์ตที่ละวงในอเมริกา ให้ลุ้นว่าจะขาดทุนมั้ย ส่วนวงที่ดังมากพอ ก็เริ่มจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวทั้งเล็กทั้งใหญ่
มีเรื่องหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจดี ก็คือวงการซีรีส์เกาหลีในอเมริกาค่ะ ความจริงแอบป๊อบในหมู่คนเอเชียมาตั้งแต่ยุคเช่าม้วนวิดีโอแล้วนะ คืองี้ค่ะ คนเกาหลีมีเลือดรักชาติ แม้มีลูกเกิดที่อเมริกา อยู่บ้านก็ต้องฝึกพูดภาษาเกาหลีให้ได้ ธุรกิจให้เช่าม้วนวิดีโอซีรีส์เกาหลีไปดูด้วยกันที่บ้านจึงบูมมากๆ ส่วนชาวเอเชียประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็หัวโบราณ ไม่อยากให้ลูกดูหนังซีรีส์อเมริกัน ที่อุดมไปด้วยฉากเลิฟซีนและความรุนแรงทางเพศ ก็เลยเช่าวิดีโอซีรีส์เกาหลีให้ลูกดู แต่ซีรีส์เกาหลีมาเฟื่องฟูจริงๆ ในปี 2014 (อีกแล้ว) เว็บไซต์ซีรีส์เกาหลีในอเมริกาในเวลานั้น อย่าง DramaFever.com ระบุว่า ยอดผู้ชมซีรีส์เกาหลี ในปี 2014 เติบโตขึ้นจากปี 2013 ถึง 440% และซีรีส์ยอดฮิตในช่วงนั้นคือ You Who Came From The Stars
BTS & Parasite : ได้เวลาเก็บเกี่ยวมินาริ!!
คุณยายซุนจาบอก มินาริ โตได้ทุกที่แม้แต่บนผืนดินรกร้าง ถ้างอกงามแล้วเอามาแกงกับอะไรก็อร่อย ยุคสมัยนี้แหละค่ะ คือช่วงเวลาเก็บเกี่ยวมินาริของคนเกาหลี แม้จะยังปกคลุมไปไม่ครบทุกพื้นที่ในอเมริกา แต่ที่ไหนที่มีมินาริแล้ว ก็ไม่มีใครไปหยุดยั้งได้ เหมือนอย่างความดังของวง “บังทันโซนยอนดัน” (BTS) และภาพยนตร์ Parasite (ชนชั้นปรสิต) ในอเมริกานั่นเอง
บังทันเป็นเริ่มเป็นที่จดจำของสื่อมวลชน และสร้างฐานแฟนคลับในอเมริกาในปี 2017 จากนั้นก็ขยายความนิยมอย่างรวดเร็ว ถูกพูดถึงในสำนักข่าวดังๆ อาทิ CNN, NPR และ Huffington Post ใช้เวลาไม่นานขึ้นครองบิลบอร์ดชาร์ต 1ใน10 อัลบั้มขายดีที่สุดในอเมริกา ขึ้นรับรางวัลทางดนตรีใหญ่ๆ ไม่ว่าจะ Billboard Music Awards , American Music Awards (AMAs) พวกเขายังเป็นศิลปินเกาหลีกลุ่มแรก ที่มีชื่อเข้าชิงรางวัล Grammy Awards 2021 อีกด้วย และยังเป็นตัวแทนศิลปินระดับโลก กล่าวสุนทรพจน์มอบแรงบันดาลใจให้เยาวชน บนเวทีการประชุมสหประชาชาติ (UN) สื่ออเมริกันกล่าวว่า เสน่ห์ของบังทันที่มัดใจวัยรุ่นอเมริกันได้อยู่หมัด คือการสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับผ่านโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์รูป เพลง หรือข้อความให้กำลังใจที่อบอุ่นและมีเอกลักษณ์ บังทันเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของ “วัฒนธรรมบอยแบนด์” ในอเมริกา ที่ซบเซาลงไป บังชีฮยอก ผู้ก่อตั้ง Big Hit Ent. กล่าวว่า เดิมทีเขาวางอิมเมจบังทันไว้ว่าเป็นพี่ชายข้างบ้านใจดี เป็นคนที่แฟนคลับไว้วางใจได้ และเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น อิมเมจที่ว่าก็มีส่วนช่วยเมื่อก้าวขึ้นไปในระดับโลก
หลักฐานสุดท้ายที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า วัฒนธรรมเกาหลีเริ่มหยั่งรากบนผืนแผ่นดินอเมริกาสำเร็จ ก็คือ ภาพยนตร์ Parasite (ชนชั้นปรสิต) ของผู้กำกับฯ บงจุนโฮ ก้าวขึ้นรับรางวัลออสก้าร์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2020 ถือเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรก ที่คว้าชัยในรางวัลนี้ กว่าที่ภาพยนตร์สายเลือดเกาหลีแท้จะเดินทางมาถึงฝั่งฝันได้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พวกเขาต้องพยายามทำให้หนังเข้าฉายในโรงอเมริกามากพอ พยายามส่งคำเชิญให้ดาราและคนดังในอเมริกาได้รู้จักและดูหนังเรื่องนี้ และความยากที่สุดก็คือ ต้องทำให้ชาวอเมริกัน ก้าวข้ามกำแพงสูง 1 นิ้ว ที่เรียกว่า “ซับไตเติ้ล” ให้จงได้ บนเวทีออสก้าร์ บงจุนโฮ กล่าวคำขอบคุณถึง Milky Lee ว่าเธอคือเบื้องหลังสำคัญในความสำเร็จนี้
Milky Lee หรือ อีมีกยอง รองประธานบริษัท CJ Ent. ผู้เป็นสายลมใต้ปีกของวงการภาพยนตร์เกาหลีมาเกือบ 30 ปี เธอเป็นทายาทของตระกูล Samsung แต่ความที่คุณพ่อของเธอเป็นลูกคนรองๆ แทนที่จะได้มรดกเป็นกิจการอิเล็กทรอนิกส์ คุณพ่อก็ได้บริษัท เชอิล เจดัง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น CJ) ที่เป็นธุรกิจขายอาหารและขนมขบเคี้ยวมาแทน ก่อนจะถึงปี 1980 ไม่มีใครคาดคิดว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีจะเฟื่องฟู เกาหลีใต้มีหนังคุณภาพน้อยมาก ในยุครัฐบาลทหาร พัคจองฮี ยิ่งแล้วใหญ่ ด้วยระบบเซ็นเซอร์ปิดกั้นสื่อของรัฐบาลเผด็จการ ทำให้คนทำหนังพากันหมดกำลังใจ หนังที่ยังเหลืออยู่คือ หนังโป๊ต้นทุนต่ำ กับหนังปลุกใจรักชาติ วงการภาพยนตร์เกาหลีเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังปี 1987 เป็นผลพวงจากการได้ประชาธิปไตย ในปี 1994 Milky Lee รีแบรนด์ CJ ให้กลายเป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์และผู้นำแฟชั่น เธอยังได้เป็นนายทุนให้ Dreamwork และร่วมงานกับผู้กำกับฯ ฮอลลีวู้ดชื่อดัง อาทิ สตีเวน สปิลเบิร์ก แม้บริษัทจะสะดุดเพราะวิกฤต IMF ปี 1997 แต่หลังจากนั้นไม่นาน Milky Lee ก็ทำสำเร็จ เปิดศักราชด้วย Joint Security Area ปี 2000 , และ Old Boy ปี 2003 จนมาถึง Parasite ในปี 2020 วันที่ภาพยนตร์เกาหลีอวดโลกได้ไม่อายใคร
ในยุคที่ดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา กำลังถูกชาวโลกตั้งคำถามผ่านแฮชแท็ก BLM (Black Lives Matter) และ Stop Asian Hate ว่าให้ความเท่าเทียมกับทุกเชื้อชาติจริงๆ หรือเปล่า การเข้าสู่เวทีออสก้าร์ของ Minari ก็มาถูกเวลาพอดี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชาวอเมริกันชน จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวเอเชีย และยอมรับว่าความเจริญมั่งคั่งในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากหยาดเหงื่อแรงงาน การถางหญ้าถางพงของ “ชาวอเมริกัน” สัญชาติเอเชียเช่นกัน “มินาริ” คื่นช่ายที่ครั้งหนึ่งฝรั่งมังค่าเคยมองว่าเป็นผักแปลกประหลาด หากได้ลิ้มลองบ่อยๆ ผักชนิดเดียวกันนี้ จะส่งกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่ว่าคุณจะชอบกลิ่นนี้หรือไม่ แต่จะอยู่ที่ไหนของมุมโลกคุณก็จะจดจำได้ทันทีว่า “อา…นี่แหละ กลิ่นของประเทศเกาหลี”
(อ่านบทความนี้แล้วคิดเห็นยังไง ส่งฟีดแบ็กมาคุยกันได้ที่แอคทวิตเตอร์ @bluesherbet_ นะคะ)
ติดตามบทความอื่น ๆ ของผู้เขียน
7 เรื่องที่จะทำให้คุณดูซีรีส์ Vincenzo สนุกกว่าเดิม
Mr. Queen ฝ่าบาท ‘โฮก’ มเหสี ‘กินรามยอน’ ว่าด้วย ‘เซ็กส์’ และ ‘โค้ดรัก’ ในยุคโชซอน (18+)
ได้เวลาจัดสำรับ Mr.Queen รู้หรือไม่ พระมเหสีกินอะไรตอนท้อง?
เมื่อคนเกาหลีกลัวเลข 4 และ JB ไม่อยากอายุ 29 | เรื่องน่ารู้ความเชื่อตัวเลขของคนเกาหลี
True Beauty ถอดรหัสความสวยแบบเกาหลีผ่านประวัติศาสตร์
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡