korbiz

เรียนรู้แนวคิดของ ‘คิมบอมซู’ Self-Made Billionaire ของเกาหลีใต้ ผู้สร้างอาณาจักร Kakao

31/03/2021 - Tiktok_Oppamart

korbiz kim beom su kakao cover

เรียนรู้แนวคิดของ คิมบอมซู หนึ่งใน Self Made Billionaire ของเกาหลีใต้ : จากเด็กที่เติบโตในย่านยากจนของโซล สู่ผู้สร้างอาณาจักร Kakao เขาทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร บทความนี้มีให้อ่านกันค่ะ

KakaoTalk คือ แอปแชทยอดนิยมของเกาหลีใต้ ถือกำเนิดก่อน LINE หนึ่งปี และว่ากันว่า KakaoTalk คือแรงบันดาลใจของแอปแผ่นดินใหญ่อย่าง WeChat

แม้ KakaoTalk จะไม่สามารถเจาะเข้าไปเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดญี่ปุ่นและจีนได้ แต่ในตลาดเกาหลีใต้นั้น แทบจะเรียกได้ว่า ทุกชนชั้นในเกาหลี ตั้งแต่รัฐมนตรี ยันรากหญ้า ล้วนใช้แอปนี้ในการติดต่อสื่อสาร

ชายผู้สร้างสรรค์แอป KakaoTalk รวมถึงก่อตั้งอาณาจักร Kakao คือ คิมบอมซู (Kim Beom-Su) อดีตเด็กจากครอบครัวหาเช้ากินค่ำในย่านยากจนของโซล เขาคือหนึ่งใน Self-Made Billionaire ที่คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีหลายคนยกให้เป็นไอดอล

KimBS KakaoPR1 scaled
Kim Beom-su, chairman of Kakao (PRNewsfoto/Kakao)

จากชีวิตแสนอดอยากในวัยเด็ก คิมบอมซู ผันเปลี่ยนชีวิตมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร ด้านล่างนี้คือเส้นทางเดินของเขา – ที่เราไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบทุกสเต็ป แต่คงพอเรียนรู้บางอย่างได้ 

จากย่านยากจนของโซลสู่ผู้ผลิตเกมออนไลน์ตัวท็อประดับชาติ

คิมบอมซู เกิดเมื่อปี 1966 ในครอบครัวยากจน เขาเป็นลูกคนที่สามจากบรรดาพี่น้อง 5 คน ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุอาชีพของพ่อแม่เขาไม่ตรงกัน แต่กล่าวได้ว่า ทั้งพ่อและแม่อยู่ในชนชั้นแรงงาน แต่ละวันต้องปากกัดตีนถีบ ความที่พ่อแม่ต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัว ย่าจึงเป็นผู้คอยเลี้ยงดูเขาและพี่น้อง ทั้ง 8 ชีวิตพักอาศัยในห้องพักคับแคบ 1 ห้องนอนที่ตั้งอยู่ในย่านยากจนของกรุงโซล

คิมบอมซู เคยเล่าย้อนถึงช่วงเวลานั้นว่า การที่พ่อแม่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาดูแลเขาและพี่น้องนั้น ทำให้พวกเขาต้องหัดรับผิดชอบและสร้างโอกาสให้แก่ชีวิตตนเอง คิมพากเพียรจนเป็นคนเดียวของบ้านที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ เขาเรียนด้านวิศวกรรมอุตสาหการ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University หรือ SNU) เขาเล่าว่าช่วงหนึ่งไม่มีเงินกินข้าว หิวก็ต้องทน และต่อมาก็หาเลี้ยงตนเองให้อยู่รอดในมหาวิทยาลัยได้ด้วยการสอนพิเศษ

KimBS fintechranking1
ภาพจาก : https://fintechranking.com

คิมเรียนทั้งตรีและโทที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล วันหนึ่ง เขาแวะไปที่ออฟฟิศของเพื่อนซึ่งทำเกี่ยวกับระบบสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ การแวะเยือนหนนั้นสร้างจุดเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตคิมบอมซูก็ว่าได้ เขาเริ่มตระหนักถึงศักยภาพของคอมพิวเตอร์ ทั้งยังตั้งใจว่า หลังเรียนจบจะทำงานในบริษัทที่เปิดโอกาสให้ได้คลุกคลีกับสิ่งประดิษฐ์สร้างสุดมหัศจรรย์​นี้ ครั้นปี 1992 คิมเข้าทำงานกับ Samsung SDS บริษัทในเครือซัมซุงที่เน้นด้านไอที เขาเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ Samsung SDS อยู่ 5 ปี จนรู้สึกอิ่มตัว ปี 1997 คิมในวัย 31 จึงออกจากบริษัทใหญ่ยักษ์ของเกาหลี เพื่อหันมาเปิดร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ โดยตั้งชื่อร้านว่า Mission No.1 ขณะเดียวกันก็เริ่มมีร้านแนวนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ คิมบอมซูมองเห็นโอกาสเติบโตจากธุรกิจนี้ เขาจึงเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้บรรดาอินเตอร์เน็ตคาเฟ่จัดการร้านได้สะดวกขึ้น ผลคือ ร้านอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศต่างสั่งซื้อซอฟต์แวร์เข้ามาอย่างถล่มทลาย 

ปี 1998 คิมบอมซูได้ก่อตั้งบริษัท Hangame Communications ขึ้น เป้าหมายของ Hangame คือผลิตเกมออนไลน์ฮิตๆ ออกมาตีตลาดเกาหลีใต้ ผลลัพธ์คือ เกมที่เขาผลิต อาทิ Go-Stop, เกมไพ่โป๊กเกอร์ และอื่นๆ ในเครือ ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว มียอดผู้สมัครเข้าเล่นเกมออนไลน์เพิ่มขึ้นวันละกว่า 1 แสนยูสเซอร์ และภายใน 3 เดือน ยอดผู้สมัครเล่นเกมก็ทะลุ 1 ล้านยูสเซอร์ ก่อนที่จะทะลุ 10 ล้านยูสเซอร์ภายใน 5 เดือน บริษัท Hangame ที่เขาสร้างขึ้นถือเป็นธุรกิจผลิตเกมที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นว่า คิมบอมซูเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เปี่ยมวิสัยทัศน์และเก่งกาจตัวยงของเกาหลีใต้

การรวมตัวกับ Naver เพื่อก่อสร้างอาณาจักร NHN

หลัง Hangame ก่อตั้งได้ 1 ปี ก็มีเว็บไซต์หนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1999 นั่นคือ Naver.com หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์คือ อีแฮจิน (Lee Hae-jin) อดีตเพื่อนร่วมงานของคิมบอมซูสมัยอยู่ที่ Samsung SDS ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้งเว็บ Naver.com ตั้งใจจะให้เว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นเว็บสืบค้นข้อมูล คล้ายๆ กับ Google ของฝั่งอเมริกา หลังเปิดตัวไม่นาน Naver.com ได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศ แม้ว่าเว็บนี้จะไม่ใช่เว็บสืบค้นแรกที่ถูกเปิดตัวในตลาดเกาหลีใต้ก็ตาม

เนื่องจาก คิมบอมซู และผู้ก่อตั้งเว็บ Naver.com ต่างเชื่อมั่นในศักยภาพของอินเตอร์เน็ต พร้อมมองว่า นี่คือโลกยุคใหม่ที่เกาหลีใต้กำลังจะมุ่งหน้าไป ทั้งสองบริษัทจึงตกลงรวมตัวกันในปี 2000 กลายเป็น NHN Entertainment บริษัทที่เน้นธุรกิจด้านออนไลน์เป็นหลัก โดยมีสินค้าและบริการชูโรงอย่าง เกมออนไลน์ และเว็บสืบค้นข้อมูล ทั้งนี้เว็บสืบค้นในเครือ NHN นั้น สามารถครองตลาดผู้ใช้งานในเกาหลีใต้ได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

KimBS Forbes1
ภาพจาก Forbes

สำหรับคิมบอมซูแล้ว เนื่องจากเขาถนัดและหลงใหลเรื่องเกมเป็นทุนเดิม จึงเน้นบริหารและดูแลด้านเกมออนไลน์เป็นหลัก ในปี 2005 เขาบินไปปักหลักที่ซิลิคอนวัลเล่ย์ อเมริกา เพื่อขยายธุรกิจเกมออนไลน์ของ NHN ให้เติบโต แต่การรุกคืบตลาดอเมริกายากกว่าที่คิด ประกอบกับเขารู้สึกว่าน่าจะถึงเวลาที่แยกตัวเพื่อไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้แล้ว ในปี 2007 เขาจึงยื่นจดหมายลาออกจาก NHN โดยในจดหมายนั้น เขาได้ระบุข้อความไว้ว่า

“The ship is safe in the harbor, but that is not what the ship is built for.”

“เรือที่จอดนิ่งในท่าเรือนั้นปลอดภัย แต่นั่นหาใช่เป้าหมายที่เรือถูกสร้างขึ้นมาไม่”

อาจไม่มีใครคาดคิดว่า การลาจาก NHN ในวันนั้น จะพาคิมบอมซูมาสู่อีกอาณาจักร – อันเป็นอาณาจักรที่กลายเป็นเสมือนคู่แข่งกันและกันในเวลาต่อมา

การถือกำเนิดของ KakaoTalk แอปแชทที่เปิดให้ทุกชนชั้นใช้งานฟรี

ปี 2007 มีสิ่งสำคัญหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ การถือกำเนิดของ iPhone รุ่นแรก ปีเดียวกันนั้น คิมบอมซู อยู่ที่อเมริกา หลังจากได้สัมผัสกับ iPhone รุ่นแรก เขารู้สึกตื่นเต้น และเป็นอีกครั้งที่สัมผัสได้ว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาลเพราะเจ้าสมาร์ทโฟนนี้ ความตื่นเต้นระดับนี้เองที่พาให้ชีวิตคิมบอมซูออกเดินทางผจญภัยอีกครั้ง เขาพาทีม IWILAB – ทีมสตาร์ตอัพที่เขาลงทุนระหว่างปักหลักในซิลิคอนวัลเล่ย์ –  กลับมาเริ่มโปรเจ็กต์ที่เกาหลีใต้ด้วยกัน โดยมีเจ้า iPhone รุ่นแรกเป็นตัวตั้งต้น เขาและทีมรู้สึกว่า ควรมีใครคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ต่อยอดจากศักยภาพของสมาร์ทโฟนเสียที แต่เขาและทีม IWILAB ควรผลิตอะไรออกมาดีล่ะ? หลังปรึกษาหารือกัน  คำตอบที่ทีมงานเห็นพ้องคือ โปรแกรมสื่อสารระหว่างมือถือ

Kakao Kim PR2
Kim Beom-su, chairman of Kakao (PRNewsfoto/Kakao)

เมื่อได้เป้าหมายแล้ว คิมจึงแบ่งทีมงานออกเป็น 3 ทีม คือ ทีม KakaoTalk สำหรับผลิตแอปแชทระหว่างบุคคล, ทีม KakaoAgit สำหรับผลิตแอปแนวกรุ๊ปแชท (ส่งข้อความเป็นกลุ่ม), และทีมสุดท้ายคือ KakaoSuda เพื่อผลิตแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (ลักษณะคล้าย Twitter)  โดยเมื่อแต่ละทีมพัฒนาแอปแล้วเสร็จ ก็ให้ปล่อยออกมาแข่งขันกันว่า ผลงานทีมไหนจะโดนใจตลาดเกาหลีมากที่สุด ผลลัพธ์คือแอป  KakaoTalk สร้างผลงานได้ดีที่สุด

iPhone รุ่นแรกนั้นถูกวางขายในตลาดเกาหลีใต้เมื่อพฤศจิกายน 2009 (ช้ากว่าตลาดอเมริกา 2 ปี) ส่วนแอป KakaoTalk ที่คิมบอมซูและทีมพัฒนาขึ้นนั้น เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเกาหลีเมื่อมีนาคม ปี 2010 ถือว่ามารับกระแสที่ชาวเกาหลีกำลังตื่นเต้นกับ iPhone พอดี ทันทีที่แอปถูกปล่อยให้ดาวน์โหลด แอปก็ได้รับการต้อนรับจากชาวเกาหลีอย่างร้อนแรง เพราะก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการรับส่งข้อความ SMS ผ่านมือถือ ชาวเกาหลีต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายครั้ง แม้แต่การใช้ WhatsApp ก็ยังมีค่าธรรมเนียมปีละ 0.99 ดอลลาร์ ขณะที่ KakaoTalk ให้โหลดและใช้งานได้ฟรี จะส่งแชทกี่ข้อความก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ในปี 2010 นอกจากแอป WhatsApp แล้ว ยังไม่มีบริการแอปแชทอื่นๆ เข้ามาทำการตลาดในเกาหลีใต้ การมาถึงของ KakaoTalk จึงเรียกได้ว่าปฏิวัติวงการแชท ทำให้ยอดดาวน์โหลดแตะ 10 ล้านโหลดภายในเมษายน 2011 หรือเรียกได้ว่าแค่ปีกว่าๆ เท่านั้นเอง (เกาหลีใต้มีประชากรประมาณ 51 ล้านคน)

และทันทีที่ยอดถึง 10 ล้านโหลด ก็เกิด Network Effect อันหมายถึง เมื่อมี 10 ล้านคนใช้งาน คนอื่นๆ ที่เหลือก็เริ่มอยากใช้ด้วย เพราะมิตรสหายหรือครอบครัวของตนเองล้วนอยู่บน KakaoTalk ทำให้จำนวนคนที่ใช้งาน KakaoTalk เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันแทบจะเรียกว่า เกือบทั้งประเทศเกาหลีใต้ล้วนติดตั้งแอปนี้ในเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ อาจารย์มหาวิทยาลัย ยันรัฐมนตรี

ประสบการณ์ล้มในตลาดญี่ปุ่น

แต่ใช่ว่า Kakao จะประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่ที่เดินทางไป หลังจากเปิดตัวอย่างร้อนแรงในเกาหลีใต้ เดือนมีนาคม 2011 คิมบอมซูก็ตัดสินใจขยายแอป Kakao ไปยังตลาดญี่ปุ่น ต้องบอกก่อนว่า ณ เวลานั้น ยังไม่มีแอป LINE เกิดขึ้น Kakao เดินทางไปถึงญี่ปุ่นและเริ่มโปรโมตในช่วงมีนาคม 2011 ไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 11 มีนาคม 2011

เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ การสื่อสารผ่านสัญญาณมือถือถูกตัดขาด แต่สัญญาณไวไฟยังใช้งานได้ ณ สถานการณ์ตอนนั้น มีผู้ประสบภัยหลายคนที่เริ่มรู้จักแอปแชท KakaoTalk แล้ว จึงดาวน์โหลดเพื่อสื่อสารกับครอบครัวและญาติมิตร กลายเป็นว่า จากเหตุภัยพิบัติหนนั้นทำให้เริ่มมีการใช้งาน KakaoTalk ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น คิมบอมซูจึงเริ่มรู้สึกว่า โอกาสของแอปแชทในญี่ปุ่นนั้นเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาไม่คาดคิดคือ ไม่ใช่เขาคนเดียวที่มองเห็นโอกาสนั้น

KimBS Techcrunch1
ภาพจาก https://techcrunch.com/

บริษัท Naver ซึ่งเป็นบริษัท NHN ที่แปลงโฉมและเปลี่ยนชื่อใหม่ เริ่มมองเห็นโอกาสนั้นเช่นกัน และขณะนั้น Naver ได้ตั้งทีมและปักหลักในญี่ปุ่นหลายปีแล้ว ทันทีที่มองเห็นความเป็นไปได้ของแอปแชทในตลาดญี่ปุ่น ผู้บริหาร Naver ยุคนั้นอย่าง อีแฮจิน ก็อนุมัติให้เร่งสร้างแอปทันที และในเดือนมิถุนายน 2011 แอป LINE ก็ถูกเปิดตัวขึ้นครั้งแรกบนโลก โดยเปิดตัวที่ญี่ปุ่น ไม่กี่เดือนต่อมา ชาวญี่ปุ่นก็นิยมใช้งานแอปสีเขียวขาวของ LINE อย่างล้นหลาม ในช่วงเวลานั้นเองที่ KakaoTalk ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ในตลาดญี่ปุ่น โดยช่วงแรก ทีมงาน KakaoTalk บอกว่า เป็นเพราะสู้เงินทุนของบริษัทใหญ่ยักษ์ (กว่า) เช่น Naver ไม่ได้ แต่ภายหลัง ทีมงานก็ออกมายอมรับว่า Naver เข้าใจและเข้าถึงตลาดญี่ปุ่นมากกว่าทีม Kakao เพราะ Kakao นั้นเน้นโปรโมตว่าตนเองคือ แอปแชทฟรี ซึ่งสำหรับชาวญี่ปุ่นที่ใช้งานอีเมลฟรีผ่านมือถือมาหลายปี ไม่ได้มองว่า บริการแชทฟรีดึงดูดใจหรือเป็นเรื่องใหม่ (เพราะมีความคล้ายกับการรับส่งอีเมลฟรีผ่านมือถือในญี่ปุ่นอยู่แล้ว) แต่ LINE โปรโมตด้วยการบอกว่า เป็นแอปสำหรับ “โทรออนไลน์ฟรี” ซึ่งนี่แหละ คือสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นต้องการ

ล้มต่อเนื่องในตลาดจีน

การล้มในตลาดญี่ปุ่นว่าน่าเจ็บใจแล้ว แต่การพลาดในตลาดจีนนั้นกลับเจ็บปวดมากกว่า เพราะเบื้องหลังความพลาดท่านั้น เกิดเพราะ Kakao ไว้วางใจ “มิตร” มากเกินไป

“มิตร” ที่หมายถึง คือ Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ที่เข้ามาลงทุนใน Kakao เมื่อเมษายน 2012 โดยจำนวนเม็ดเงินลงทุนคราวนั้นคือ 65 ล้านดอลล่าร์ ถือได้ว่า Tencent เป็นผู้ลงทุนสูงสุดลำดับ 2 รองจากผู้ลงทุนสูงสุดลำดับ 1 อย่าง คิมบอมซู 

KimBS hanicokr1

หลังจาก Tencent ลงทุนใน Kakao คิมบอมซูก็ต้องบินไปหารือกับนักลงทุน (ณ ที่นี้คือ Tencent) บ่อยครั้งขึ้น เขาเล่าย้อนความว่า เมื่อตอนเดือนมิถุนายน 2012 ที่เขาได้พูดคุยกับโพนี่ หม่า (Pony Ma) ผู้นำของ Tencent นั้น โพนี่ หม่า ยังไม่มีความเชื่อมั่นเลยว่า ธุรกิจ “แอปแชท” นั้นจะสามารถทำเงินได้

แต่แล้วเมื่อ KakaoTalk พิสูจน์ให้เห็นในหนึ่งเดือนถัดมา ผ่านรายได้ที่เกิดขึ้นจากเกมออนไลน์ Anipang ซึ่งจากเคสนี้ทาง Tencent ก็ได้ตระหนักว่า แอปแชทมีศักยภาพในการสร้างเม็ดเงินมหาศาลจริงด้วย จากนั้น โลกจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่ Tencent ค่อยๆ พัฒนาแอป WeChat ของตนเอง (ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ 2011) ให้มีฟีเจอร์ใหม่ๆ หลายอย่าง – ซึ่งก็บังเอิญเหลือเกินที่ฟีเจอร์เหล่านั้น ช่างคล้ายกับที่ KakaoTalk คิดไว้อย่างยิ่ง

ณ เวลานั้น คิมบอมซู ได้ตระหนักแล้วว่า แม้ Tencent จะเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลักใน Kakao แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ฉกฉวยตลาดจีนที่ Kakao ตั้งใจบุกไปเรียบร้อยแล้ว เพราะต่อมาไม่นาน แอป WeChat ของ Tencent ก็กวาดจำนวนผู้ใช้งานในตลาดจีนไปได้ถึงเดือนละไม่ต่ำกว่า 460 ล้านยูสเซอร์

เรียกได้ว่า Kakao พ่ายแพ้อย่างหมดรูปรอยในตลาดจีน ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ คิมบอมซูไว้วางใจนักลงทุนลำดับ 2 (ณ ขณะนั้น) มากไปนั่นเอง 

กลับสู่ฐานทัพที่เกาหลีใต้

แม้คิมบอมซูจะพาแอป KakaoTalk ไปผงาดในตลาดญี่ปุ่นและจีนไม่สำเร็จ แต่ในดินแดนกิมจินั้น ต้องบอกว่า KakaoTalk ปักหลักปักฐานอย่างมั่นคงมาก อาจเพราะคิมบอมซูมองขาดตั้งแต่ต้นแล้วว่า ธุรกิจแอปแชทมีศักยภาพมากกว่าแค่การส่งข้อความหากัน 

KimBS KoreaHerald1
ภาพจาก http://www.koreaherald.com/

“เขามองขาดตั้งแต่วันแรกเลย ว่าแอปแชทสามารถเติบโตไปสู่ธุรกิจอย่าง เกม, อีคอมเมิร์ซ, สื่อ, รวมถึงธุรกรรมการเงินได้ด้วย” เอริค คิม (Eric Kim) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Goodwater Capital ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนชื่อดัง กล่าวถึงวิสัยทัศน์สุดเฉียบของคิมบอมซูไว้ตั้งแต่ปี 2015 (ลงใน Forbes) ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า ณ​ วันแรกที่คิมบอมซูและทีมพัฒนาแอป KakaoTalk นั้น คือช่วงเวลาก่อนปี 2010 ด้วยซ้ำ

KimBS koreabizwire
ภาพจาก http://koreabizwire.com/

วิสัยทัศน์และความฝันของคิมบอมซูไม่ได้หยุดอยู่แค่ KakaoTalk เมื่อเดือนตุลาคม 2014 Kakao ได้ควบรวมกิจการกับ Daum เว็บสืบค้นเบอร์สองของเกาหลี (รองจาก Naver) กลายเป็นบริษัท Daum Kakao ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึง 7.4 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งการควบรวมกิจการครั้งนี้ ทำให้ Daum Kakao (อันเป็นบริษัทปัจจุบันของคิมบอมซู) กับ Naver (ซึ่งเป็นบริษัทเดิมของเขา) กลายเป็นคู่แข่งขันกันอย่างชัดเจน

ในเดือนกันยายน 2015 บริษัท Daum Kakao เปลี่ยนชื่อกลับเป็น Kakao เพื่อความสั้น กระชับ และจดจำง่าย (แรกเริ่มเดิมทีเป็น Kakao Corp. คราวนี้เปลี่ยนเหลือแค่ Kakao ช่วงปี 2015 นี้เองที่ Kakao เริ่มเปิดตัวบริการ KakaoTaxi ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะในช่วง 8 เดือนแรก มีลูกค้าเรียกแท็กซี่ผ่านแอป KakaoTaxi ถึง 6 แสนรายต่อวัน ซึ่งต่อมาบริการ KakaoTaxi พัฒนากลายเป็น Kakao T ที่ให้บริการขยายรวมไปถึงการว่าจ้างคนขับ การค้นหาที่จอดรถ และข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์อีกด้วย

KimBS Zeebiz
ภาพจาก https://www.zeebiz.com/

ในปี 2016 Kakao สยายปีกไปยังดินแดนธุรกิจใหม่ นั่นคือ ธุรกิจค่ายเพลง การจัดการดาราศิลปิน และการจัดคอนเสิร์ต โดยการเข้าซื้อกิจการ LOEN Entertainment ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Kakao M ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่ารวมบุคลากรและผู้อยู่เบื้องหลังงานบันเทิงสร้างสรรค์มาหมดทั้งวงการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าย Play M Entertainment ต้นสังกัดของ Apink , Victon , EDAM Entertainment ต้นสังกัดของ ไอยู , Management SOOP ต้นสังกัดของ กงยู กงฮโยจิน ซูจี จองยูมี นัมจูฮยอก , VAST Entertainment ต้นสังกัดของฮยอนบิน , Awesome Ent ต้นสังกัดของพัคซอจุน , Starship Entertainment และ Kingkong by Starship ต้นสังกัดของ MONSTA X อีดงอุค อีกวางซู คิมบอม ยูยอนซอก ซึ่งยังไม่รวมเหล่านักเขียนบทและผู้กำกับซีรีส์-ภาพยนตร์ กว่า 80 คน ยกตัวอย่างเช่น นักเขียนบทคิมอึนฮี เจ้าของงานเขียนบทซีรีส์สืบสวนเรื่องดัง Signal และออริจินัลซีรีส์ Netflix ‘Kingdom’ ทั้ง 2 ซีซั่น

ยังไม่รวม Kakao Page ที่เป็นบริษัทคอนเทนต์ชั้นนำ ที่ลงทุนในการผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ผลิตผลงานออริจินัลคอนเทนต์จำนวนกว่า 8,500 IP สร้างเครือข่ายแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วย เว็บตูน นิยาย งานเขียนอื่น ๆ รวมไปถึงภาพยนตร์ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีการประกาศการควบรวมธุรกิจกันระหว่าง Kakao M และ Kakao Page มาเป็นบริษัทใหม่ที่มีชื่อว่า KAKAO ENTERTAINMENT ซึ่งบริษัทแพลนที่จะมาเปิดให้บริการในประเทศไทยภายในปีนี้ ซึ่งน่าจับตามองมากว่าจะเข้ามามีบทบาทในตลาดคอนเทนต์บ้านเรามากน้อยแค่ไหน

PR Kakao Ent 1

นอกจาก Kakao จะขยายธุรกิจไปสู่เว็บสืบค้น ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจเรียกรถแท็กซี่แล้ว บริษัทยังก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Internet Banking ด้วย โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 บริษัทได้เปิดตัว Kakao Bank ซึ่งเปิดให้ลูกค้าเปิดบัญชี ฝากเงิน โอนเงิน รวมถึงกู้เงินได้โดยไม่ต้องไปธนาคาร โดยหลังเปิดบริการแค่ 4 วัน ก็มีลูกค้าถึง 820,000 ราย ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Kakao Bank เติบโตเร็ว เพราะมีฐานลูกค้าเดิมจากผู้ใช้แอป KakaoTalk รวมถึงผู้ใช้งาน KakaoPay ที่เปิดตัวมาก่อนแล้วนั่นเอง 

ปัจจุบัน สินค้าและบริการของ Kakao นั้นมีหลากหลายมาก แถมยังทำหลากหลายธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจเกม, แอปแชท, เว็บสืบค้น,​ ดนตรี, ธนาคารออนไลน์ รวมถึง การคมนาคมขนส่ง เรียกได้ว่า ชาวเกาหลีหนึ่งคนนั้น เกิดมาก็ต้องเคยใช้บริการของบริษัท Kakao สักบริการอย่างแน่นอน (อย่างน้อยก็ต้องใช้แอปแชท หรือเว็บสืบค้นแหละน่า)​

Kakao จึงน่าจะนับได้ว่า เป็นเหมือนส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของชาวเกาหลียุคนี้ก็ว่าได้

KimBS kakao products1
ภาพสินค้าและบริการส่วนหนึ่งในเครือ Kakao 

ทิ้งท้าย : “ไม่ต้องเรียกท่านประธาน เรียกผมว่า ‘ไบรอัน’ ก็พอ”

หากสืบค้นชื่อของ “คิมบอมซู” ในลิสต์ของคนที่ร่ำรวยที่สุดในเกาหลีใต้ จะพบว่า ชื่อเขาติดอยู่ลำดับต้นๆ (ในลิสต์ของ Forbes) ทั้งนี้ข้อมูล ณ​ วันที่ 21 มีนาคม 2021 ระบุว่า เขามีทรัพย์สินรวม 9.6 พันล้านดอลล่าร์ ถือว่าร่ำรวยอันดับ 5 ของดินแดนกิมจิ โดยเขาถือเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่สร้างตัวเองมาจากศูนย์ ขณะเดียวกันก็ถือว่า เขาเป็นมหาเศรษฐีที่มีลักษณะนิสัยขบถนิดหน่อย

KimBS Charactermedia1

ในแวดวงการงานของเกาหลีใต้นั้น ปกติมักจะเคร่งครัดในลำดับชั้นกันอย่างยิ่งยวด เวลาต้องเรียกขานกัน จะเรียกกันเป็นตำแหน่งมากกว่าเรียกชื่อโดยตรง (เช่น คุณทนาย,​ คุณอัยการ,​ท่านประธาน เป็นต้น) ซึ่งสำหรับคิมบอมซูนั้น ตอนที่เขาก่อตั้ง Kakao เขาได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นในองค์กร คือ ให้ทุกคนเรียกเขาด้วยชื่อภาษาอังกฤษสั้นๆ ว่า “ไบรอัน” โดยไม่ต้องมีคำว่า “ท่านประธาน” พ่วงมาด้วยแต่อย่างใด แถมเขายังให้ทุกคนใน Kakao เรียกกันด้วยชื่อสั้นๆ โดยไม่ต้องเสริมยศหรือตำแหน่งใดๆ ด้วย 

search www cover

เกร็ดน่าสนใจคือ ด้วยสไตล์การทำงานของบริษัทเทคโนโลยีตัวท็อปอย่าง Kakao ที่เรียบง่าย และเต็มไปด้วยอิสระนั้น นอกจากจะทำให้ Kakao กลายเป็นหนึ่งในบริษัทขวัญใจคนรุ่นใหม่ในเกาหลีแล้ว ยังมีบางเสี้ยวที่เชื่อว่า เรื่องราวของเขาและ Kakao ถูกดัดแปลงไปปรากฏอยู่ในซีรีส์เกาหลีด้วย โดยในซีรีส์เรื่อง Search : WWW ที่ออกอากาศในปี 2019 นั้น เป็นเรื่องราวการแข่งขันของสองบริษัทเว็บ Portal ชื่อดังของเกาหลีใต้ อย่าง Unicorn และ Barro โดย Barro ถือเป็นเว็บสืบค้นเบอร์สองของประเทศ ซึ่งมีสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างมอบอิสระให้แก่พนักงาน โดยในซีรีส์นั้น ผู้ก่อตั้ง Barro ซึ่งมีชื่อว่า “ไบรอัน” ได้อนุญาตให้พนักงานเรียกชื่อเขาได้โดยไม่ต้องเรียกตำแหน่ง  ซึ่งดูทรงแล้วสไตล์การทำงานของ Barro ที่ปรากฏในซีรีส์ มีความคล้ายคลึงกับบริษัท Kakao ซึ่งเป็นเจ้าของเว็บ Daum สูงมาก แถมในซีรีส์ยังใช้ชื่อผู้ก่อตั้ง Barro ว่า “ไบรอัน” เหมือนชื่ออังกฤษของ คิมบอมซู เสียด้วยสิ … อะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้นนะ

kim beom su brain search www
(ซ้าย) คิมบอมซู | (ขวา) ตัวละคร ไบรอัน ในซีรีส์ Search : WWW
Search WWW cover

ไม่ว่าเรื่องราวในซีรีส์ Search : WWW จะได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตคิมบอมซูกี่มากน้อย แต่ในโลกแห่งความจริง เราเชื่อว่า มีคนเกาหลีรุ่นใหม่หลายคนเป็นแน่ – ที่ยึดถือ Self-Made Billionaire คนนี้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานและการขับเคลื่อนชีวิต

บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก ‘อีบูจิน’ ผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในเกาหลีใต้ กับดราม่ารักข้ามชนชั้น และ เรียนรู้หลักคิดในการทำธุรกิจของเธอ

ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage
 : facebook.com/korseries
Twitter
 : twitter.com/korseries
Website
 : korseries.com
Youtube 
: Korseries

ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡

อ้างอิง

(1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9)


Korupdate






เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อการตลาด

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก