ใครยังหลงอยู่ในวังวนซีรีส์ยุคโชซอน ขอเชิญแวะทางนี้ บทความนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของ “ซังกุง” ที่เราเจอในซีรีส์ซากึกยุคโชซอน ซังกุงที่ใส่ทังอีสีเขียว (เสื้อชายยาว) กระโปรงน้ำเงิน เป็นนางวังรับใช้ระดับสูงผู้คอยผู้ดูแลทั้งเหล่าราชวงศ์ ทั้งเหล่านางใน และนางรับใช้ในวังทั้งหมด เป็นคนสนิทของพระราชวงศ์ชั้นสูง เป็นคนช่วยทำกิจต่าง ๆ ทั้งดีร้ายแทนตัวละครมเหสีหรือพระพันปี มาชวนรู้จัก ซังกุง (상궁) แต่ละฝ่ายที่ปรากฏบ่อย ๆ ในซีรีส์เกาหลีย้อนยุคกันค่ะ
แต่ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ขอมาปูพื้นเบา ๆ ให้ทุกคนได้รู้จักกันก่อนว่า “นางรับใช้ในวัง” ยุคโชซอนนั้น ไม่ได้มีแต่ ซังกุง และนางใน เท่านั้นนะคะ แต่ยังมีสตรีที่ทำงานในวังอีกหลายบทบาท โดยเรียกรวมสตรีที่ทำงานในวังเหล่านี้ว่า กุง-นยอ (궁녀) มีตั้งแต่สตรีทำงานในวังที่มีขั้นตำแหน่งอย่าง ซังกุง (상궁) และ นางใน (나인) ไปจนถึงนางรับใช้ทั่วไปในแต่ละส่วนงาน เช่น มูซูรี (무수리) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า นางหาบน้ำ ซึ่งจริงทำหน้าที่ทั้งหาบน้ำ หาบฟืน จุดไฟ จุดเตาใด ๆ ก็ได้ กักชีมี (각심이) หรือ บังอาอี (방아이) เป็นนางธุระคอยดูแลรับใช้ซังกุงหรือนางในอีกที รวมถึงหมอหญิง (อึย-นยอ; 의녀) ก็ถือเป็นนางรับใช้ในวังหรือกุงนยอนี้เช่นกัน สำหรับบทความนี้เราจะมาโฟกัสเน้น ๆ ที่ ซังกุง กันเลย
ซังกุง เป็นหนึ่งในสตรีฝ่ายใน (แน-มยอง-บู; 내명부) คือหญิงผู้ปรนนิบัติ ทำงาน และอาศัยอยู่ในวังหลวง ทำหน้าที่ดูแลรับใช้พระราชาและพระราชวงศ์ ถือเป็นระดับหัวหน้าของเหล่านางรับใช้ในวังทั้งหมด โดยมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามลำดับขั้นปกครองหรือฝ่ายที่สังกัด ดังนี้
1. ซังกุงปกครอง (제조상궁; 提調尙宮)
เชโจซังกุง (제조상궁) หรือชื่อเรียกอื่น คือ คึนบัง ซังกุง (큰방 상궁) และแทจอน ซังกุง (대전 상궁) ซึ่ง แทจอน (대전) คือ ตำหนักพระราชา คำว่าแทจอนจึงหมายถึงพระราชา ห้องที่ใหญ่สุดของวังก็ต้องเป็นห้องของพระราชา และคำว่า คึนบัง (큰방) ก็แปลว่าห้องใหญ่ ดังนั้น เชโจซังกุง ก็คือซังกุงห้องพระราชา เป็นซังกุงที่มีอำนาจสูงสุด เป็นตำแหน่งที่มีได้คนเดียว คัดเลือกจากซังกุงที่ยอดเยี่ยมที่สุด ในซีรีส์มักจะถูกวางให้เป็นซังกุงที่อยู่ข้างตัวพระราชา แต่ที่จริงแล้ว ซังกุงสูงสุดไม่จำเป็นต้องอยู่ข้างตัวพระราชาตลอดเวลา เพราะต้องคอยกำกับงานพิธีต่าง ๆ ที่อยู่ในหน้าที่ และเป็นผู้ปกครองดูแลเหล่านางในทุกคนในวัง อย่างไรก็ตามตำแหน่งนี้ใกล้ชิดพระราชาที่สุด และรับคำสั่งจากพระราชาโดยตรง
2. รองซังกุงปกครอง (부제조상궁; 副提調尙宮)
พูเจโจซังกุง 부제조사궁 เป็นซังกุงรองสูงสุด เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาแร๊ดโคซังกุง 아랫고상궁 เป็นซังกุงที่ได้รับหน้าที่ในการดูแลการทรัพย์สิน ของส่วนตัวมีค่า เช่น อัญมณี เครื่องใช้ส่วนตัวของพระราชา
3. ซังกุงตำหนักใน (지밀상궁; 至密尙宮)
ชีมิลซังกุง (지밀상궁) เป็นซังกุงที่สามารถเข้าไปดูแลรับใช้ในห้องส่วนตัวของพระราชวงศ์ได้ เป็นซังกุงที่ใกล้ชิดพระราชาและพระราชวงศ์ที่สุด เป็นซังกุงรู้ใจ คอยดูแลติดตามใกล้ชิดตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน เรียกอีกชื่อว่า 대령상궁 (ซังกุงรับบัญชา)
지밀 “ตำหนักใน” เป็นหนึ่งใน 7 ของแผนกนางใน และเป็นแผนกที่มีศักดิ์สูงสุด
4. ซังกุงตรวจการ (감찰상궁; 監察尙宮)
คัมชัลซังกุง (감찰상궁) ซังกุงตรวจการทำหน้าที่ในการตรวจตรา ตรวจสอบ สังเกตพฤติกรรมนางใน และนางรับใช้ในวังอื่นๆ สามารถลงโทษได้ตามกฎเกณฑ์ที่มี ตั้งแต่โทษสถานเบาจนไล่นางในออกจากวัง และยังทำหน้าที่สอบประเมินวัดผลนางในอีกด้วย
5. ซังกุงพี่เลี้ยง (보모상궁; 保姆尙宮)
โพโมซังกุง (보모상궁) เป็นซังกุงพี่เลี้ยง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลใกล้ชิดพระราชวงศ์ที่เยาว์วัย คอยดูแลหลับนอน ป้อนอาหาร พาทำกิจกรรมตามเวลา จนถึงเล่นด้วยช่วยคลายเหงา องค์หญิงองค์ชายจะมีซังกุงพี่เลี้ยงคนละ 1 คน แต่สำหรับองค์ชายรัชทายาท จะมีซังกุงพี่เลี้ยง 2 คน
6. ซังกุงเลขา (시녀상궁; 侍女尙宮)
ชี-นยอซังกุง (시녀상궁) เป็นซังกุงผู้ช่วยของชีมิลซังกุง ดูแลเรื่องหนังสือ จดหมาย การเดินงานต่างๆ เป็นซังกุงใกล้ชิดของพระราชวงศ์ต่าง ๆ เพราะคอยรับ – ส่งข่าวสารระหว่างพระราชา พระมเหสี พระพันปี หรือแม้แต่พระราชวงศ์ที่อยู่นอกวัง
7. ซังกุงสามัญ 일반상궁
อิลบันซังกุง (일반상궁) ซังกุงสามัญ หมายถึงซังกุงทั่วไปที่ระดับอายุงานสามารถเป็นซังกุงได้แล้ว แต่ยังไม่ถึงระดับซังกุงชั้นสูงของแต่ละแผนก ซังกุงสามัญระดับนี้มี 7 – 8 คนในแต่ละฝ่าย โดยรับหน้าที่เป็นผู้แนะนำสอนงานนางใน และคอยเป็นหัวหน้าทีมนำนางในไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามคำสั่ง ซังกุงสูงสุดของแต่ละแผนกส่วนใหญ่จะมีขั้นยศ 5 พุม (ขั้นยศไม่เท่ากันทุกแผนก) แต่อิลบันซังกุงนี้มีขั้น 6 พุม (เลขยิ่งต่ำ ยศยิ่งสูง ส่วนนางใน ขั้นตั้งแต่ 7 – 9 พุม)
จริง ๆ แล้วคำว่า “ซังกุง” เป็นชื่อเรียกโดยรวมของนางในรับใช้ระดับสูง ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะมีชื่อยศและขั้นยศเฉพาะตำแหน่งของตนเองแยกย่อยไปอีก และนอกจากลำดับตามข้างต้นแล้ว ในซีรีส์ย้อนยุคเราจะพบว่ามีการเรียกชื่อซังกุงโดยแผนกหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วย
– ซังกุงห้องตัดเย็บ (침방 상궁)
ชิมบังซังกุง เป็นผู้ควบคุมดูแลการตัดเย็บ ซ่อมแซม และจัดเครื่องทรงของราชวงศ์ และตระเตรียมเครื่องแต่งตัวตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละวัน
침방 “ห้องตัดเย็บ” เป็นหนึ่งใน 7 ของแผนกนางใน
– ซังกุงห้องเครื่อง (수라간 상궁 หรือ 소주방 상궁)
ซูรากัน (수라간) เป็นคำเรียกรวมของ “ครัวหลวง” หรือเรียกอีกชื่อว่า โซจูบัง (소주방) ดังที่นิยมแปลไทยในซีรีส์ว่า “ห้องเครื่อง” ครัวหลวงนี้มีการแบ่งออกเป็นครัวใน – ครัวนอก ครัวใน (안소주방) หรืออีกชื่อ (내소주방; 內燒廚房) ทำเครื่องเสวยประจำวันของพระราชาและพระมเหสี มีครัวนอก (밖소주방) หรือ (외소주방; 外燒廚房) เป็นครัวเครื่องพิธี ทำอาหารในพิธีหรือเทศกาลต่าง ๆ และยังมีครัวเครื่องว่าง (생물방 หรือ 생과방) แยกไปอีกด้วย โดยในแต่ละครัว จะมีซังกุงห้องเครื่อง นางในห้องเครื่อง และคนช่วยงานแยกย่อยกันไปดูแลแต่ละส่วน โดยมีซังกุงห้องเครื่อง (ซูรากันซังกุง/โซจูบังซังกุง) เป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานนั่นเอง
소주방 “ห้องเครื่อง” เป็นหนึ่งใน 7 ของแผนกนางใน
– ซังกุงเครื่องต้น (퇴선간 상궁)
ทเวซอนกัน (퇴선간) เป็นครัวสำหรับอุ่นอาหารอยู่ใกล้กับตำหนักในของพระราชา เพราะครัวหลวงอยู่ไกล ระหว่างทางส่งก็อาจทำให้อาหารสำรับหลักของแต่ละมื้อเย็นลงได้ โดยเฉพาะสำรับที่เป็น ซูราซัง ซึ่งมีความหลากหลายของทั้งอาหาร และเครื่องเคียง วัตถุดิบบางส่วนและอาหารจะนำมาปรุงและอุ่นอีกครั้งที่ครัวนี้ แล้วจึงค่อยยกขึ้นเป็นเครื่องเสวย โดยมี ทเวซอนคัน ซังกุง (퇴선간 상궁) เป็นผู้ดูแลการทำงานในครัวเครื่องต้นนี้ ทเวซอนคันเป็นส่วนหนึ่งของโซจูบัง (ห้องเครื่อง)
– ซังกุงเครื่องว่าง (생과방 상궁)
ในซูรากันแบ่งเป็นครัวใน ครัวนอก และครัวเครื่องว่าง ครัวเครื่องว่าง ก็คือ แซง-ควาบัง (생과방) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า แซงมุลบัง (생물방) จะรับผิดชอบทำเครื่องว่างทั้งคาวหวาน อาหารเบา ๆ ประเภทโจ๊ก รวมถึงเครื่องดื่ม ขนม และผลไม้ทานเล่น เป็นห้องเครื่องที่ต้องเตรียมตัวตลอด เพราะขนมนมเนย และเครื่องดื่มมักถูกเรียกไปเสิร์ฟได้ตลอดเวลา โดยมี แซง-ควาบังซังกุง เป็นผู้รับผิดชอบดูแล
생과방 “ห้องเครื่องว่าง” เป็นหนึ่งใน 7 ของแผนกนางใน
– ซังกุงชิมเครื่อง (기미 상궁)
ในวังหลวงก่อนที่พระราชาจะเสวยอะไร ต้องมีผู้ทดลองชิมกินก่อน เพื่อดูว่าอาหารสำรับนั้น ๆ มียาพิษหรือไม่ และผู้ที่ทำหน้าที่นี้ คือ กิมีซังกุง หรือซังกุงชิมเครื่องนี้เอง
– ซังกุงห้องสรง (세수간 상궁)
เซซูกัน ซังกุง (세수간 상궁) เป็นซังกุงที่รับผิดชอบควบคุมดูแลห้องสรง ห้องอาบน้ำ ดูแลตระเตรียมน้ำ เติมน้ำสำหรับการอาบน้ำของพระราชวงศ์ และทำความสะอาดห้องสรงให้พร้อม
– ซังกุงห้องซักรีด (세답방 상궁)
เซตาปัง (세답방) เป็นแผนกซักรีด เซตาปังซังกุง (세답방 상궁) จึงทำหน้าที่ดูแลควบคุมการซักเสื้อผ้า รีดชุด โดยนางในเป็นคนซักรีดหรือทำสะอาดพวกเครื่องสูง เครื่องศีรษะ แต่ส่วนเสื้อผ้าส่วนใหญ่จะมีนางรับใช้ในวังเป็นคนช่วยซักและรีด โดยมี เซตาปังซังกุง เป็นผู้ควบคุมดูแลทั้งหมด
세답방 “ห้องซักรีด” เป็นหนึ่งใน 7 ของแผนกนางใน
โดยทั้งเจ็ดแผนกนางในมีดังนี้ ชีมิล (지밀) ตำหนักใน / ชิมบัง (침방) ห้องตัดเย็บ / ซูบัง (수방) ห้องร้อยปัก สามแผนกแรกนี้มีศักด์และสิทธิ์เหนือกว่าแผนกอื่น ๆ ซังกุงและนางในสามารถใส่กระโปรงยาวแบบหญิงชนชั้นสูงได้ (ยาวแบบลากพื้น) ไม่ต้องใส่ผ้ากันเปื้อนแบบแผนกอื่น ต่อมาเป็นแผนก เซซูกัน (세수간) ห้องสรง / โซจูบัง (소주방) ห้องเครื่อง / แซง-ควาบัง (생과방) ห้องเครื่องว่าง และเซตาปัง (세답방) ห้องซักรีด
– โพกีชอ ซังกุง (복이처 상궁)
โพกีชอ ซังกุง (복이처 상궁) เป็นซังกุงดูแลควบคุมการจุดเตาไฟทำให้ห้องอบอุ่น รวมไปถึงการนำดอกไม้มาประดับบรรยากาศในตำหนักพระราชา เป็นส่วนหนึ่งของแผนกเซตาปัง (ห้องซักรีด) แต่ทำหน้าที่แตกต่างกันจึงมีตำแหน่งเรียกเฉพาะ
ปกติแล้วการขึ้นเป็นซังกุง นับจากอายุงานการเป็นนางใน อายุเด็กสุดที่เข้าวังมาฝึกหัดเป็นนางใน คือ ช่วงอายุ 4 – 6 ขวบ ต้องฝึกหัด 15 ปี เพื่อสอบขึ้นได้ขึ้นเป็นนางใน (나인) แล้วเป็นนางในอีก 15 ปีจะได้ขึ้นเป็นซังกุง ดังนั้นเฉลี่ยแล้วจะได้เป็นซังกุงเร็วสุดที่อายุประมาณ 35 ปี อย่างไรก็ตามในช่วงอายุ 20 ปี เหล่านางใน (อาจ) มุ่งหวังให้ตัวเองได้เป็น ซึงอึนซังกุง (승은상궁) หรือที่เรียกว่านางในถวายตัว
8. นางในถวายตัว (승은상궁)
ซึงอันซังกุง (승은상궁) นางในถวายตัว เป็นซังกุงประเภทเดียวที่ไม่อยู่ในกำกับดูแลของซังกุงปกครอง มีสถานะสูงกว่าซังกุงปกครอง และหากมีลูกกับพระราชาจะได้รับการปฏิบัติดีขึ้น จนมีนางในรับใช้ประจำตัวได้ หรืออาจได้อวยยศขึ้นเป็นสนม
9. อิบซังกุง (입상궁)
อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า การจะได้ขึ้นเป็นซังกุงก็ต่อเมื่ออายุงานการเป็นนางในครบปีตามกำหนด แต่ก็มีซังกุงอีกประเภทที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา โดยไม่เกี่ยวกับอายุงาน เรียกว่า อิบซังกุง (입상궁) การแต่งตั้งกรณีนี้ขึ้นอยู่กับผู้อยู่เบื้องหลังการแต่งตั้งเป็นหลัก
ที่นี้ก็พอจะรู้จักซังกุงกันมากยิ่งขึ้นแล้วใช่ไหมคะ? สำหรับซีรีส์เกาหลีย้อนยุคแล้ว ตัวละครซังกุงทำให้ฉากในวังหลวงสมบูรณ์มากขึ้น แม้ตัวละครซังกุงจะไม่มีบทพูดใดเลยก็ตาม แต่เราก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ซีรีส์หลายเรื่องสร้างบทบาทซังกุงให้มีสีสัน เป็นบทหลัก เป็นบทผู้ช่วย เป็นบทตบมุกฮา ฯลฯ ทั้งเรื่องซังกุง ที่นำมาเล่าทั้งหมดข้างต้นนี้ นำเสนอโดยเทียบเคียงเรื่องราวจากซีรีส์ดึงมาเป็นเกร็ดความรู้ หวังว่าทุกคนจะได้อรรถรสในการดูซีรีส์ซากึกมากขึ้นนะคะ มาดูซีรีส์เกาหลีย้อนยุคกันเถอะ !
ติดตามคอนเทนต์อื่น ๆ ของผู้เขียนได้ทาง Korseries และสามารถพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกาหลีผ่านซีรีส์กับผู้เขียน ได้ทาง Twitter : @kawowsageuk
บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน
ดาโม คืออะไร? มือปราบหญิง vs สาวเติมน้ำชาแห่งสำนักโชซอน
แนะนำ 6 ซีรีส์แนวเดินทางข้ามเวลาที่ไม่ควรพลาด พร้อมเกร็ดน่ารู้ประวัติศาสตร์เกาหลี
เปิดเกร็ดหลังวัง Mr.Queen อลังการงานชุดมเหสีโชซอน เครื่องแต่งกายพิธีใหญ่ที่จัดเต็มได้อีก
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡
แหล่งข้อมูล
– https://m.blog.naver.com/yoohd19/110032016311
– https://m.blog.naver.com/hanmun2014/220884539574