เหล่าคนดังในวงการบันเทิงเกาหลีใต้มักสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศของตัวเองอยู่เสมอ เช่น กระแสฮันรยู ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจจากการสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ หรือด้านวัฒนธรรม ที่เป็นเหมือน Soft Power ทำให้คนทั่วโลกเกิดความสนใจและเข้าถึงวัฒนธรรมเกาหลีมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม หลังจากที่กระแสฮันรยูได้แพร่หลายไปทั่วเอเชียและทั่วโลก ศิลปินและนักแสดงในวงการบันเทิงต่างก็เริ่มถูกจับตามองและมีอิทธิพลในสื่อต่าง ๆ และแน่นอนว่าพวกเขาก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมได้เช่นกัน โดยในบทความนี้เราจะพาไปดู กฎหมายที่เกิดจากคนในวงการบันเทิงเกาหลีใต้กันว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรกันบ้าง
กฎหมาย JYJ ที่ช่วยควบคุมการทำงานของสื่อ
กฎหมาย JYJ หรือ กฎหมายห้ามไม่ให้บุคคลที่สามทำการแบล็กลิสต์บุคคลหรือกลุ่มคนบางกลุ่มในการปรากฏตัวทางสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ กล่าวคือ กฎหมายนี้ห้ามไม่ให้สถานีโทรทัศน์แบนศิลปินหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามคำสั่งของบุคคลภายนอกนั่นเอง
JYJ เป็นกลุ่มบอยแบนด์ที่มีสมาชิก 3 คนด้วยกัน คือ คิมแจจุง พัคยูชอน และคิมจุนซู ทั้งสามคนเป็นอดีตสมาชิกวง TVXQ หรือ ทงบังชินกิ บอยแบนด์ระดับตำนานที่เชื่อว่าหลายคนรู้จักกันดี โดยในเดือนกรกฎาคม 2009 ทั้ง 3 คนนี้ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสมาชิกวง TVXQ ได้ยื่นฟ้องร้องต่ออดีตต้นสังกัด SM Entertainment เพื่อขอยกเลิกสัญญาอันเนื่องมาจากข้อระบุในสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘สัญญาทาส’ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2012 ทั้งสองฝ่ายก็ได้ข้อสรุปของคดีนี้ หลังจากยืดเยื้อกันมานานกว่า 3 ปี
แต่ดูเหมือนจะไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อสมาชิกทั้ง 3 คนที่แยกตัวออกมาทำกิจกรรมในนาม JYJ แล้วนั้น ถูกกีดกันไม่ให้ปรากฏตัวทางโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นรายการเพลงและวาไรตี้ บางรายการที่มีการตกลงเรียบร้อยแล้วก็ถูกยกเลิกในภายหลัง หรือแม้แต่บางรายการที่ถ่ายทำไปแล้วก็ถูกเลื่อนออนแอร์ออกไป ซึ่งหลายคนเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลของต้นสังกัดเดิมอย่าง SM Entertainment ที่เป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างที่เราทราบกันดี
ชเวมินฮี ส.ส. จากพรรค New Politics Alliances for Democracy และ คณะกรรมการมาตรฐานการสื่อสารเกาหลี (KCSC) จึงได้ผลักดัน ร่างกฎหมาย JYJ โดยมีเนื้อหาระบุ ห้ามไม่ให้บุคลที่สามแบล็กลิสต์บุคคลหรือกลุ่มบางกลุ่มในการปรากฏตัวทางโทรทัศน์ อีกทั้งคณะกรรมการมาตรฐานการสื่อสารเกาหลีมีสิทธิในการสั่งปรับบริษัทที่ละเมิดกฎ สูงสุด 2% ของรายได้บริษัท และในที่สุดร่างกฎหมายนี้ก็ผ่านมติเห็นชอบจากรัฐสภาเกาหลีใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015
C-JeS Entertainment ต้นสังกัดของ JYJ กล่าวว่า “พวกเราต่อสู้กับเงื่อนไขที่ไม่ยุติธรรมนี้มาถึง 7 ปี เรารู้สึกขอบคุณที่พวกเราไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว และพวกเรายังหวังว่ากฎหมายนี้จะทำให้การกระทำที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในวงการบันเทิงอีกต่อไป”
อย่างไรก็ตาม เหตุผลของการปรากฏตัวในรายการต่าง ๆ ของศิลปินนั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบได้ เพราะสิทธิในการตัดสินใจเป็นของผู้ผลิตรายการต่าง ๆ จึงอาจจะทำให้ กฎหมาย JYJ ถูกนำมาใช้ได้ยาก แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ผลิตรายการทำงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดข้อกังขาจากบรรดาแฟนคลับ ค่ายของศิลปิน และประชาชน
กฎหมาย BTS ที่ช่วยขยายขอบเขตอายุในการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร
กฎหมาย BTS หรือกฎหมายที่อนุญาตให้ศิลปินในวงการบันเทิงเกาหลีใต้สามารถขยายเวลาผ่อนผันการเกณฑ์ทหารได้จนถึงอายุ 30 ปี จากเดิมอยู่ที่อายุ 28 ปี โดยผู้ที่ได้รับสิทธิผ่อนผันต้องได้ผ่านการพิจารณาจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ (MCST)
จากกฎหมายการเกณฑ์ทหารเดิมของเกาหลีใต้ระบุว่า ชายสัญชาติเกาหลีใต้อายุ 18-28 ปีต้องเข้ากรมเพื่อฝึกฝนและรับใช้ชาติเป็นเวลา 18-20 เดือน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่สังกัด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เนื่องจากความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังคงตึงเครียด ถึงแม้จะลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิง ในปี 1953 แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่ไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ เช่น บุคคลที่ทุพพลภาพ นักกีฬาทีมชาติที่ได้รางวัลโอลิมปิก หรือบุคคลที่มีความสามารถในด้านอื่น ๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ
จากกราฟความโด่งดังของวง BTS ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกเขาสามารถสร้างสถิติใหม่ ๆ อยู่เสมอ บัตรคอนเสิร์ตถูกขายหมดในทุกการแสดง และได้รับรางวัลทั้งในและนอกประเทศมานับไม่ถ้วน ทำให้เกิดคำถามว่า ศิลปินที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศ มีส่วนช่วยเผยแพร่วัฒนธรรม และทำให้ประเทศเกาหลีใต้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วโลกมากขึ้น สมควรได้รับสิทธิพิเศษในการเกณฑ์ทหารด้วยหรือไม่
ในเดือนตุลาคม 2018 ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จของวง BTS ขึ้นไปอีก เมื่อสมาชิกทั้ง 7 คนได้รับเหรียญตราเชิดชูเกียรติจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ด้านการส่งเสริมการพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรี อีนักยอน กล่าวว่า “พวกเขาไม่ได้มีส่วนช่วยในการเผยแพร่กระแสเคป็อปเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเผยแพร่ตัวอักษรเกาหลีไปยังคนหนุ่มสาวทั่วโลกอีกด้วย”
หลังจากนั้นก็เริ่มมีการพูดถึงกฎการเกณฑ์ทหารมากขึ้น และผู้ริเริ่มผลักดัน ร่างกฎหมาย BTS นี้ คือ โนอุงแร สส. จากพรรค Democratic Party of Korea หลังจากที่กฎหมายนี้ไม่ผ่านการพิจารณาในครั้งแรก โนอุงแร ก็ได้เสนอให้พิจารณาร่างกฎหมายนี้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2020 ในที่สุดรัฐสภาก็มีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมาย BTS ในเดือนธันวาคม 2020
หลังจากที่ กฎหมาย BTS นี้ได้รับการอนุมัติ ส่งผลให้ จิน สมาชิกที่อายุมากที่สุดในวงได้รับการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารจนถึงอายุ 30 ปีโดยทันที เขาได้เข้ากรมรับใช้ชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2022 จากเดิมที่มีกำหนดการต้องเข้ากรมเดือนธันวาคม 2020 ต่อด้วย เจโฮป ที่เข้ากรมไปเมื่อเดือนเมษายน 2023 ในวัย 29 ปี และ ชูก้า ที่เข้ากรมไปเมื่อเดือนกันยายน 2023 ในวัย 30 ปี และล่าสุด 4 สมาชิกที่เหลืออย่าง อาร์เอ็ม วี จีมิน และจองกุก ก็ได้เข้ากรมเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ในเดือนธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา
ร่างกฎหมายซอลลี่ ที่ต่อต้านการบูลลี่บนโลกออนไลน์
ร่างกฎหมายซอลลี่ หรือ Sulli Law เป็นกฎหมายที่จัดการกับความคิดเห็นที่เป็นการระรานบนโลกไซเบอร์ หรือที่เรียกว่า Cyberbullying ซึ่งเป็นภัยร้ายรูปแบบใหม่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถประสบได้บนสังคมออนไลน์
อีกหนึ่งข่าวน่าเศร้าที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ทั่วทั้งวงการ เมื่อ ชเวจินรี หรือ ซอลลี่ อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป f(x) ถูกพบเสียชีวิต ในวัย 25 ปี (นับสากล) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2019 โดยเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเธออาจตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากมีภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรง ตลอดจนการต้องแบกรับคำวิพากษ์วิจารณ์และข่าวลือต่าง ๆ บนโลกออนไลน์อย่างไม่ขาดสาย
โดยภายหลังจากการเสียชีวิตของเธอ ก็ได้เกิดร่างกฎหมายที่ถูกเรียกว่า ‘กฎหมายซอลลี่’ หรือ ‘Sulli Law’ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้จำนวนประมาณ 9 คน ได้มีความเห็นตรงกันที่จะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการหามาตรการจัดการอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่คอมเมนต์มุ่งร้ายจำนวนมากมายบนโลกออนไลน์ภายใต้ชื่อที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
ด้านคณะอนุกรรมการจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลในรายละเอียด และเงื่อนไขต่าง ๆ ของ กฎหมายซอลลี่ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะยกข้ึนมาเสนออย่างเป็นทางการ ณ รัฐสภาเกาหลีใต้ ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 49 วันของการจากไปของ ซอลลี่ โดยมีรายการว่า ตัวแทนจากกว่า 100 องค์กร ตลอดจนคนในวงการบันเทิงร่วม 200 คนซึ่งเคยได้รับความเจ็บปวดจากคอมเมนต์มุ่งร้ายในอดีตหรือรู้จักกับ ซอลลี่ ก็จะให้การสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ ‘กฎหมายซอลลี่’ นี้ไม่สามารถผ่านการประชุมเต็มรูปแบบได้ก่อนสิ้นสุดการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 20 และถูกเลื่อนออกไปในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ก็ได้ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้คนได้ตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของความคิดเห็นที่มุ่งร้าย หยาบคาย เสียดสี และระรานแม้ไม่ได้เปิดเผยตัวตน ตลอดจนมีการเรียกร้องให้ Naver ปิดช่องคอมเมนต์ซึ่งเป็นบ่อเกิดหลักของการทำลายสุขภาวะในอุตสาหกรรมบันเทิง
ทั้งนี้ สมาคมนักร้องเกาหลี Korea Singers Association (KSA) ยังเรียกร้องให้รัฐสภาออกกฎหมายเพื่อให้มีการผลิตเนื้อหาบทความข่าวที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และ มีบทลงโทษอย่างจริงจังต่อบทความข่าวมุ่งร้ายและเร้าอารมณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดคอมเมนต์ในแง่ลบ และเรียกร้องไปยังกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และ การท่องเที่ยวควรหามาตรการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปกป้องศิลปินในวงการเพลงอีกด้วย
กฎหมายคูฮารา ที่ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรมรดก
กฎหมายคูฮารา หรือกฎหมายการจัดสรรมรดกอย่างเป็นธรรมของบุตรที่เสียชีวิต โดยที่ผู้เสียชีวิตไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เป็นส่วนหนึ่งใน แผนปฏิบัติการเพื่อการสร้างพื้นฐานครอบครัวที่ดี ฉบับที่ 4 (The 4th Plan of Action for the Basis of a Healthy Family) ซึ่งเป็นโยบายหลักของสมัชชาแห่งชาติของเกาหลีใต้ในปัจจุบันในด้านครอบครัวและที่อยู่อาศัย
โดยกฎหมายการจัดสรรมรดกเดิมของเกาหลีใต้ระบุไว้ว่า หากบุคคลใดไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย หรือบุตรที่เสียชีวิตไปนั้นไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกจะตกเป็นของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด โดยจะแบ่งในสัดส่วนเท่ากันคือ 50:50 ยกเว้นแต่เป็นการเสียชีวิตโดยการฆาตกรรมหรือปลอมแปลงพินัยกรรม
คูฮารา สมาชิกวง KARA เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของเกาหลีใต้ เสียชีวิตลงในวัย 28 ปี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2019 โดยหลังจากที่ ฮารา เสียชีวิต แม่ของเธอได้ยื่นคำร้องต่อศาส อ้างสิทธิในการรับมรดกมากกว่าครึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดของฮารา แต่ คูโฮอิน พี่ชายของ ฮารา ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาล คัดค้านคำร้องของแม่ตนเอง เนื่องจากแม่ทอดทิ้งเขาและน้องสาวไปตั้งแต่ยังเด็ก คนที่เลี้ยงดูทั้งสองคือคุณยายและคุณน้าเท่านั้น ในท้ายที่สุด ศาลได้ตัดสินให้แบ่งทรัพย์สินของคูฮาราแก่บิดามารดาในสัดส่วน 60:40 แทนที่จะได้ส่วนแบ่งกันคนละครึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น คูโฮอิน ก็ได้ผลักดันร่างกฎหมายคูฮารา เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดสรรมรดกอย่างเป็นธรรมมากขึ้น โดยร่างกฎหมายระบุว่า “ในการจัดการมรดก หากบิดามารดามีพฤติกรรมเข้าข่ายการบกพร่องและละเลยหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร รวมไปถึงก่ออาชญากรรม ล่วงละเมิด หรือทารุณกรรมบุตร ญาติสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้ตรวจสอบได้ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น บิดามารดาจะไม่สามารถอ้างสิทธิในทรัพย์สินของบุตรได้” โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อผลักดันร่างกฎหมายนี้กว่า 100,000 คน
ถึงแม้ ร่างกฎหมายฮารา ยังไม่ผ่านการพิจาณาในครั้งแรก แต่ก็ได้มีการยื่นพิจารณาร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง ท้ายที่สุดรัฐสภาเกาหลีใต้ได้มีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายฮารา ในเดือนธันวาคม 2020 และได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2021
น่าเสียดายที่กฎหมายนี้ไม่สามารถใช้ย้อนหลังกับกรณีของฮาราได้ เพราะคดีความถูกตัดสินจบไปก่อนที่กฎหมายนี้จะถูกอนุมัติ อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ก็จะส่งผลดีแก่ผู้ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ กฎหมายฮารา ยังครอบคลุมไปถึงกรณีบุตรบุญธรรมอีกด้วย เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตและครอบครัวมากที่สุด
กฎหมายอีซึงกิ ที่ช่วยปกป้องสิทธิในการได้รับค่าจ้าง
กฎหมายอีซึงกิ หรือกฎหมายที่กำหนดให้ต้นสังกัดเปิดเผยรายได้ของศิลปินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือเปิดเผยตามที่ศิลปินร้องขอ จากเดิมที่มีการเปิดเผยเฉพาะเมื่อมีการร้องขอเพียงเท่านั้น รวมถึงต้องแจ้งรายละเอียดและส่วนแบ่งของรายได้อย่างชัดเจน
ทุกคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากับ อีซึงกิ นักแสดงหนุ่มมากฝีมือกันดีอยู่แล้ว แต่เชื่อว่ายังคงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าเขาได้โลดแล่นอยู่ในวงการเพลงมากว่า 18 ปี เป็นศิลปินเจ้าของผลงานเพลงกว่า 137 เพลง จาก 27 อัลบั้ม แต่ที่น่าเศร้าคือ อีซึงกิไม่เคยได้รับส่วนแบ่งเลยในตลอดระยะเวลา 18 ปีที่เขาได้ทุ่มเทในวงการเพลง
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 อีซึงกิ ได้ฟ้องร้องต้นสังกัดอย่าง Hook Entertainment ให้เปิดเผยรายได้ของเขาในการทำเพลงตลอดระยะเวลา 18 ปี โดยซึงกิได้ระบุว่า เขาไม่เคยได้รับเงินสักวอนเดียวจากการทำเพลง อีกทั้งค่ายยังอ้างว่าเพลงของเขาไม่ทำกำไรให้ค่าย ซึ่งตรงกันข้ามกับความจริงที่ซึงกิมีเพลงฮิตติดชาร์ตจำนวนไม่น้อย
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2022 อีซึงกิ ได้เปิดเผยผ่าน Instagram ส่วนตัวว่า เขาได้รับเงินจำนวน 5 พันล้านวอน (ราว 133 ล้านบาท) จาก Hook Entertainment ซึ่งไม่ทราบว่าจำนวนเงินนี้ได้มาจากการคำนวณอย่างไรบ้าง สาเหตุในการยื่นฟ้องร้องนี้ไม่ใช่เพราะเขาต้องการเงิน แต่เขาไม่ต้องการให้ผลของความพยายามของใครบางคนถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และเขาได้ตัดสินใจนำเงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในชั้นศาลไปบริจาคให้กับสังคมทั้งหมด
จากกรณีนี้ทำให้มีความกังวลว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับศิลปินคนอื่น ๆ ได้ จึงมีการผลักดันร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาหลักในการแก้ไขสัญญาที่ผูกมัดศิลปินมากเกินไปเพื่อป้องกันไม่ให้ศิลปินโดนเอาเปรียบจากสัญญาจ้าง และกำหนดให้บริษัทต้นสังกัดต้องแสดงหลักฐานทางการเงินเพื่อความโปร่งใส
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ (MCST) ได้ประกาศอนุมัติการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาอุตสาหกรรมศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย (Popular Culture and Arts Industry Development Act) ซึ่งครอบคลุมการคุ้มครองสิทธิของศิลปินและไอดอลในหลายด้าน รวมถึง กฎหมายอีซึงกิ ด้วย
นอกจาก กฎหมายอีซึงกิ ที่มีการแก้ไขเกี่ยวกับสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแล้วนั้น บางส่วนของพระราชบัญญัติการพัฒนาอุตสาหกรรมศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย ยังเพิ่ม กฎระเบียบเพื่อการคุ้มครองเหล่าศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยการลดชั่วโมงการทำงานลง จากเดิมกำหนดเพียงแค่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีสามารถทำงานได้สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปีสามารถทำงานสูงสุดได้ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยรายละเอียดใหม่ มีดังนี้
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีสามารถทำงานได้สูงสุด 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 7 ชั่วโมงต่อวัน
- ผู้ที่มีอายุระหว่าง 12-15 ปีสามารถทำงานได้สูงสุด 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 7 ชั่วโมงต่อวัน
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีสามารถทำงานสูงสุดได้ 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 6 ชั่วโมงต่อวัน
นอกจากนั้น ยังออกกฎไม่ให้บริษัทละเมิดสิทธิของศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา เช่น การให้ขาดเรียนหรือการเลิกเรียนกลางคัน ด้านสุขภาพ เช่น การบังคับควบคุมรูปร่างมากเกินไป ด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การทำร้ายร่างกาย การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม และการล่วงละเมิดทางเพศ
ร่างกฎหมายป้องกันอีซอนคยุน เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนในวงการบันเทิง
สมาคมศิลปะและวัฒนธรรมเกาหลีใต้และบุคลกรในวงการบันเทิงแถลงการณ์เรียกร้องให้เร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อปกป้องบุคลากรในวงการบันเทิง หลังสูญเสีย อีซอนคยุน นักแสดงชื่อดัง หลังจากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวนเกี่ยวกับคดียาเสพติด
อีซอนคยุน นักแสดงชื่อดังถูกพบเสียชีวิตในรถยนต์เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 27 ธันวาคม 2023 หลังจากมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องในคดียาเสพติดเป็นเวลากว่า 2 เดือน ซึ่งเขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและอ้างว่าถูกผู้จัดการสถานบันเทิงหลอกลวงว่าเป็นยานอนหลับ และถูกเธอแบล็กเมล์เป็นจำนวนเงินกว่า 300 ล้านวอน (ประมาณ 7.9 ล้านบาท) เขาถูกสอบสวนเกี่ยวกับการใช้กัญชาและสารเสพติด 3 ครั้ง และมีการรายงานว่าในการสอบสวนครั้งสุดท้าย เขาถูกสอบสวนนานกว่า 19 ชั่วโมง พร้อมกับร้องขอให้เป็นการสอบสวนแบบปิด แต่ถูกทางตำรวจปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่ามีสื่อบางสำนักอ้างว่าการสอบสวนนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รับรู้
เขาต้องตกเป็นจำเลยสังคม ถึงแม้ว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่สิ้นสุดและ ผลการตรวจสอบสารเสพติดออกมาเป็น “ลบ” ซึ่งหมายความว่าไม่พบสารเสพติดในร่างกายถึง 3 ครั้ง แต่สื่อก็ตั้งหน้าทำข่าวต่อไปโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนใดๆ มีการปล่อยคลิปเสียงส่วนตัวและข้อมูลการสืบสวนที่เป็นความลับ ทำให้มีการตั้งคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่ออย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา องค์กรที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและศิลปะ 29 องค์กร รวมถึงเหล่าคนดังอย่าง บงจุนโฮ ผู้กำกับภาพยนตร์ Parasite ที่เคยร่วมงานกับอีซอนคยุนและร่วมคว้ารางวัลออสการ์, นักร้องและนักแต่งเพลง ยุนจงชิน, ผู้กำกับ อีวอนแท และนักแสดง ชเวด็อกมุน มีการแถลงข่าวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ อีซอนคยุน โดยมีประเด็นสำคัญได้แก่
- เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างละเอียดและชี้แจงว่าการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและผลการสอบสวนในทั้ง 3 ครั้งของอีซอนคยุนต่อสื่อนั้นเป็นการละเมิดกฎหมายหรือไม่
- เรียกร้องให้ลบบทความที่ไม่เป็นความจริง รวมไปถึงข้อมูลจากแหล่งที่มาที่ไม่ได้รับการยืนยัน หรือไม่ได้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบที่เพียงพอทั้งหมด
- เรียกร้องให้เร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อห้ามการเปิดเผยคดีอาญาและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นไปถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องสงสัยกับสิทธิของประชาชนที่ควรจะได้รับรู้
องค์กรเหล่านี้เรียกร่างกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายป้องกันอีซอนคยุน” โดยมีจะมีการหารือกันต่อไปในอนาคต จุดประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของบุคลกรในวงการบันเทิงในการถูกเปิดเผยข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์น่าเศร้าเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่เกิดจากคนในวงการบันเทิงเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยเหตุและผลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง หรือแม้แต่เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่คนในสังคมก็ตาม ถึงแม้บางคนต้องเจ็บปวดและสูญเสียเพื่อให้เกิดกฎหมายเหล่านี้ แต่เชื่อว่าต่อจากนี้กฎหมายเหล่านี้จะช่วยสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่อาจประสบเหตุการณ์คล้ายกัน รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคตต่อไป
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ชาวเน็ตจับตาหนังใหม่ ถ่ายทอดเรื่องราวข่าวฉาวคนดัง บังเอิญถ่ายที่ Burning Sun ก่อนเป็นประเด็น
KBS ประกาศสั่งแบน คิมแซรน และ ชินฮเยซอง ⋯ ราวี่ ถูกระงับการปรากฏตัวชั่วคราว
อีซอนกยุน ถูกพบเสียชีวิต ⋯ ต้นสังกัดยืนยันข่าวการจากไปอย่างเป็นทางการ
สมาคมนักร้องเกาหลี เรียกร้องให้ Naver ปิดช่องคอมเมนต์ หลังการจากไปของ คูฮารา – ซอลลี่
สื่อรายงาน สมาชิกรัฐสภาเกาหลีเตรียมผลักดัน ‘กฎหมายซอลลี่’ จัดการ Cyberbullying
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage :facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website :korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡
Source (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11)