Burning เป็นภาพยนตร์ที่สร้างดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่องสั้นชื่อ Barn Burning ของ ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนคนดังชาวญี่ปุ่น ที่มีผลงานมากมาย ถูกหยิบมาทำเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Norwegian Wood (2010) งานเขียนของมูราคามิมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง ถ้าใครเป็นแฟนคลับ จะหลงใหลเสน่ห์ปลายปากกาของเขาที่มีทั้งแบบแนวเหนือจริงและแนวสมจริง Barn Burning มีฉบับแปลไทยในชื่อว่า ‘มือเพลิง’ ซึ่งนำมาใช้เป็นชื่อหนังด้วย
เมื่อหนังสือถูกนำมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์และกำกับโดยอีชางดง ช่างเป็นความลงตัวสมศักดิ์ศรีกันอย่างยิ่ง นักเขียนมือทองเจอกับผู้กำกับมือตำนานที่พางานเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) มาแล้วบ่อยครั้ง อย่างเรื่อง Secret Sunshine (2007), Poetry (2010) นอกจากนี้ผลงานเรื่องอื่นๆของผู้กำกับอีชางดงก็กวาดรางวัลไปมากมายหลากหลายเวที ถ้าใครเคยติดตามผลงานก็จะรับรู้ได้ถึงศิลปะเหนือชั้นที่ถ่ายทอดอารมณ์และจุดประเด็นครุ่นคิดให้สังคม จากหนังที่เล่าแบบเรียบๆเรียลๆแต่แยบยลมากเชิง
Burning เป็นหนังที่ได้รับคัดเลือกเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ (2018 Cannes Film Festival) แม้จะไม่สมหวัง แต่ก็คว้ารางวัลขวัญใจนักวิจารณ์ FIPRESCI ของสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติมาได้ มีคะแนน Jury Grid สูงสุดทำลายสถิติเดิมที่เคยมีในปี 2016 ส่วนคะแนน IMDb เรื่องนี้คือ 7.8 เลยค่ะ ตอนนี้ก็ขายลิขสิทธิ์ไปแล้วมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
ถ้าว่ากันให้เข้าใจง่ายๆ Burning ก็เป็นเรื่องราวรักสามเส้าของหนึ่งหญิงสองชาย ซึ่งเป็นตัวแทนของปุถุชนรุ่นหนุ่มสาวในโลกยุคนี้ สะท้อนความแตกต่างของสถานภาพทางสังคม การดำเนินชีวิตและวิถีความคิด ความรักความสัมพันธ์ที่ดูแปลกประหลาด ผ่านการเดินเรื่องในโทนดราม่า และแฝงปริศนาชวนสงสัยระคนความลุ้นระทึก ที่ชวนตีความทั้งจากตัวละครเอง และในมุมมองของผู้ชม
อีจงซู (รับบทโดย ยูอาอิน) หนุ่มบ้านนอกจากย่านเกษตรกรรมติดชายแดนเกาหลีเหนือ มีความฝันอยากเป็นนักเขียน ดำรงชีพด้วยการรับจ้างส่งของในเมือง เขาเป็นคนใช้ชีวิตเรียบๆไปวันๆ ซื่อๆ พูดน้อย เก็บอารมณ์ ความซับซ้อนถูกพับเก็บไว้ในใจ อาจเพราะมีพ่อซึ่งมีความผิดปกติทางอารมณ์ที่ควบคุมความโกรธไม่ได้ ถูกจับและค้างคาคดีขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่ แม่และพี่สาวก็ทิ้งเขาไป เขาจึงต้องเทียวมาแวะดูแลไร่แทนพ่อ
ในวันที่เขาไปส่งของร้านหนึ่ง เขาได้บังเอิญพบกับแฮมี (รับบทโดย จอนจงซอ) เพื่อนเรียนสมัยเด็กและเพื่อนบ้านเก่า แฮมีทำงานเป็นสาวเต้นเชียร์ลูกค้าร้านนั้น จึงทักทายกันและชวนไปกินดื่มต่อเพราะไม่ได้เจอกันมานานมาก แฮมีเป็นสาวรักอิสระ เปิดเผย เข้าถึงง่าย แลดูเหมือนคนไม่คิดอะไรซับซ้อน เธอมีเสน่ห์มากพอที่จูงให้คู่สนทนาเคลิ้มมนต์สนุกตามความร่าเริงของเธอ เธอเล่าความในใจว่าเคยชอบจงซูมาก่อน แต่จงซูไม่สนเพราะเธอขี้เหร่ แฮมีกำลังจะเดินทางล่าฝันอันยิ่งใหญ่คือท่องเที่ยวแอฟริกา จึงขอไหว้วานให้จงซูช่วยมาให้อาหารน้องแมวที่แอบเลี้ยงไว้ในห้องพักเล็กๆของเธอ และแล้ววันนั้นทั้งสองก็จบลงด้วยความสัมพันธ์บนเตียง
ในช่วงที่แฮมีไม่อยู่ จงซูก็ทำหน้าที่มาให้อาหารแมวสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีโอกาสได้พบเห็นหน้ามันสักครั้ง ช่างหลบได้เก่งจริงๆ 555 จงซูยังคงคิดถึงแฮมีและเซ็กส์ของพวกเขา จนถึงขั้นปลดเปลื้องช่วยตัวเองท่ามกลางหลืบแสงที่แฮมีเล่าว่าเป็นแสงเสี้ยวเดียวที่ส่องเข้าห้องนี้ให้มีชีวิตชีวา สาดมาได้เพียงวันละครั้งเพราะห้องอยู่ในมุมอับ ประหนึ่งว่าได้มีความสุขกับแฮมี ผู้จุดประกายความรักและความหวังให้จงซู
ในวันที่แฮมีกลับมา เธอขอให้จงซูไปรับที่สนามบิน ความดีใจของจงซูถูกบั่นทอนด้วยว่าแฮมีแนะนำให้รู้จักกับเพื่อนหนุ่มร่วมทางซึ่งเผชิญปัญหาเครื่องดีเลย์มาด้วยกัน และช่วยเหลือแฮมีอย่างดี คือ เบน (รับบทโดย สตีเฟ่น ยอน) ซึ่งเป็นหนุ่มบุคลิกดี เป็นมิตร มีเพียงรอยยิ้มอาบหน้าซึ่งไม่รู้ว่ามีความซับซ้อนใดในใจหรือไม่ แต่ที่สำคัญกับจงซู คือ แฮมีดูจะสนิทสนมเป็นกันเองกับเบนมาก จนจงซูชักเริ่มไม่แน่ใจว่าแฮมีมีความสัมพันธ์กับเบนถึงขั้นไหน และตัวเองเป็นคนพิเศษของแฮมี เหมือนที่ตนเองคิดกับแฮมีหรือไม่
จากนั้นมา ทั้งสามคน (แฟนของเรา เขาคนนั้น และตัวเรา 555) ก็มักร่วมวงกินดื่มด้วยกัน แม้แต่ร่วมพี้กัญชา จงซูได้มองเห็นแฮมีมากขึ้น รับรู้เรื่องราวของเบนมากขึ้น เห็นบ้านใหญ่ย่านกังนัม (ย่านเศรษฐีของโซล) รถหรู สังคมเพื่อนฝูง ชีวิตชิลๆ ดูฉาบฉวย ทุกอย่างผ่านมาและผ่านไปง่ายๆ แต่ก็น่าอิจฉาอยู่นะ ซึ่งมันแตกต่างคนละชั้นกับจงซูผู้ซอมซ่ออย่างสิ้นเชิง
ชีวิตของจงซู คือ ‘การดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ’ แต่ชีวิตของเบนคือ ‘การเที่ยวเล่นไปวันๆ’ ทุกอย่างในชีวิตคือเรื่องเล่นๆ เพลินๆ ในวัยที่ไล่เลี่ยกัน จงซูรู้สึกถึงความด้อยของตน และคงไม่อยากคิดต่อว่าถ้าแฮมีจะเลือกผู้ชายสักคนระหว่างเขาและเบน ใครจะได้เปรียบ เพราะในที่สุดเขาก็ยังไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่าแฮมีคิดกับเขาอย่างไร หรือคิดอะไรกับเบน จงซูจึงมีแต่ความอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเองในการร่วมสังสรรค์กับเพื่อนฝูงชนชั้นสูงของเบนในแต่ละครั้ง ในขณะที่แฮมีเพลิดเพลินกับพวกเขาได้อย่างไม่เคอะเขิน จงซูจึงต้องอดทนต่อไป แค่เก็บอัดสะสมไว้ในอกอย่างเงียบๆภายใต้สีหน้าเป็นพยายามจะเออออทำตัวเข้าพวกเป็นมิตร
ถ้าไม่มีแฮมี ผู้ชายสองคนนี้คงเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันมาบรรจบคบหาสมาคมกันเป็นแน่แท้ แต่จงซูก็ยังกระเตงติดไปกับทั้งสอง เพราะเขารักแฮมี และก็ตัดสินใจบอกเบนไปอย่างชัดถ้อยชัดคำด้วย
ความอัดอั้นของจงซูเดินมาถึงขีดที่ต้องปลดปล่อยออกมาบ้าง เขาเริ่มติติงแฮมีที่กล้าถอดเสื้อเต้นเริงร่าเปลือยเปล่าหลังพี้กัญชา ต่อตาต่อหน้าทั้งจงซูและเบน และหลังจากวันนั้น จงซูก็ไม่ได้พบแฮมีอีกเลย เธอหายไปไหน?
เบนเคยเล่าให้จงซูฟังว่า งานอดิเรกของเขาคือ วางเพลิงเรือนเพาะชำ เป็นกิจกรรมที่จะทำทุกๆ 2 เดือนครั้ง เป้าถัดไปก็เล็งๆไว้ที่ละแวกบ้านของจงซูแหละ!! Omg! เกิดความเสียววูบตาม ยิ่งหน้าตาเบนเล่าอย่างสบายอารมณ์ด้วย
การหายตัวไปของแฮมี พฤติกรรมของเบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังแฮมีไม่อยู่ แมวที่เพิ่งพบในบ้านเบน ผสมกับเรื่องเล่าเพลินๆของเบน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอดีตของแฮมีตอนเด็กที่ตกบ่อน้ำ และการวางเพลิงเรือนเพาะชำ ทุกเรื่องจากเบนดูชิลๆเย็นๆ แต่เมื่อเข้าหูเข้าตาจงซู กลับแปรเป็นความร้อนรุ่ม ที่สุมลงปั่นหัวจงซูให้แน่นอก ต้องพยายามดิ้นรนหาคำตอบหาทางออกให้ได้ด้วยตัวเอง ปริศนานี้จะได้คำตอบชัดฟันธงไหม ก็อาจไม่ใช่ประเด็นแล้ว เพราะเมื่อถึงจุดที่ความระแวง ความคับข้องใจ ความโกรธ ผสมโรงกันหมักบ่มระอุได้ที่ก็หยุดไม่อยู่ซะแล้ว ความซับซ้อนร้อนลึกในใจต้องถูกระบายออกมา นั่นคือโศกนาฏกรรม ‘มือเพลิง’ ที่น่าสลด
ว่ากันง่ายๆ พล็อตอาจดูดาษๆ แต่รายละเอียดไม่ใช่ ยิ่งมาอยู่ในมือการเล่าเรื่องของผู้กำกับชั้นบรมครูสายคุณภาพเชิงศิลป์ งานหนังที่ออกมาจึงมีดีในตัวอย่างยิ่ง อรรถรสที่ได้จากลีลาการเล่าเรื่องที่เก็บรายละเอียด ปราณีตมาก แต่ละซีน แต่ละบทพูดมีความหมายนัยยะ มีความเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวเนื่องต่อกัน อารมณ์ที่ลื่นไหลตามไปกับการเดินเรื่องที่ค่อยๆไล่จากความผิวๆลงไปลึกมากขึ้น มากขึ้น คำถามจะถูกทยอยปล่อยมาให้ขบคิดชวนสงสัยตามกันไป ความรู้สึกจะถูกตอกย้ำให้อึดอัดแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนอยากจะปลดปล่อยตามตัวละคร ค่อยๆดูไป แล้วจะตกลงสู่ภวังค์ความดราม่าระคนความระทึกที่ ‘ระอุ’ ในอารมณ์มาก งานภาพดี งานซาวน์เยี่ยมมาก ผู้เขียนยังหลงอยู่กับอานุภาพของซาวน์ที่สร้างอารมณ์ ‘ระอุ’ ในหูในอกจนถึงวันนี้เลย
การแสดงของดาราทั้งสามถือว่ายอดเยี่ยมสมบูรณ์มาก เป็นการแสดงแบบที่ชอบเลย คือ เล่น ‘น้อยๆ’ แต่ได้ ‘มากๆ’ ทุกคนสามารถทำให้คนดูมองเห็นมิติ มีภาพภายนอก และภาพภายในที่ชวนค้นหา ทึ่งในความลงตัวของบททุกคนเลย แม้แต่นางเอกใหม่แกะกล่อง เธอก็เล่นได้ธรรมชาติสุดๆ วันนี้เธอ ‘เกิด’ ในวงการแล้ว เหมือนสมัยที่มุนโซรีได้เกิดเพราะผู้กำกับอีชางดงคนนี้เช่นกัน ในผลงาน Peppermint Candy และ Oasis
โดยรวม หนังดีจนผู้เขียนอยากยกให้เป็น masterpiece ของงานผู้กำกับชางดงเลย ถ้าใครดูแล้วชอบ แนะนำเรื่องอื่นๆของผู้กำกับเดียวกัน Peppermint Candy (1999), Oasis (2002), Secret Sunshine (2007), Poetry (2010) ดีทุกเรื่องค่ะ แต่ผู้เขียนชอบ 2 เรื่องแรกมากเป็นพิเศษ
Trailer :