พฤษภาคมวนมาอีกครั้ง ปีนี้ครบรอบ 2 ปี Youth Of May ซีรีส์เมโลดราม่าอิงประวัติศาสตร์ในดวงใจของใครหลายคน นำแสดงโดย อีโดฮยอน โกมินชี กึมแซรก และ อีซังอี ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจู ในปี 1980 เราจะขอมาย้อนเหตุการณ์การชุมนุมนี้ว่าที่มีมาที่ไปอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นบ้าง รวมไปถึงเหตุการณ์หลังจากนั้น ไปจนถึงการเลือกตั้งที่เป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งของเกาหลีใต้ในทุกวันนี้
ย้อนรอยเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู
หลังจากนายพลพัคจุงฮี ประธานาธิบดีที่มาจากการทำรัฐประหาร และดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 18 ปี โดนลอบสังหาร ในปี 1979 ต่อมา นายพลชอนดูฮวาน และนายพลโนแทอูก็ทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 1980 และในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึก สั่งปิดมหาวิทยาลัย จำกัดสิทธิของสื่อ และสั่งปราบปรามการชุมนุม ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ จนในที่สุด วันที่ 18 พฤษภาคม 1980 นักศึกษาและประชาชนในเมืองกวางจูนับหมื่นคน ได้ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ นานนับ 10 วัน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘Gwangju Uprising’ ต่อมารัฐบาลได้สั่งให้มีการปราบปรามการชุมนุม และมีการสังหารหมู่ประชาชน มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตราว 200 ราย และบาดเจ็บอีกนับพันราย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้วจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอาจมีมากกว่านั้นหลายเท่า ซึ่งนับว่าเป็นการสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้เลยก็ว่าได้
ถึงแม้ว่าประชาชนจะไม่ได้รับชัยชนะในการชุมนุมครั้งนี้ แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านเผด็จการทหาร และเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าหากมีการเอ่ยถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ เหตุการณ์ที่ถูกสลักไว้ในความทรงจำของคนเกาหลีนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างแน่นอน
รัฐบาลหลังจากการสังหารหมู่กวางจู
หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู รัฐบาลของชอนดูฮวาน ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแทนกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยพวกพ้องตัวเองและเอื้อประโยชน์ให้กันเอง โดยกำหนดว่าประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่ง 7 ปีต่อ 1 วาระ และไม่มีการเลือกตั้งโดยตรง ท้ายที่สุดชอนดูฮวานได้เป็นประธานาธิบดี ในเดือนกันยายน 1980 การเมืองแบบเผด็จการทหารก็ยังคงดำเนินต่อท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่ถึงอย่างนั้นคนรวยก็กระจุกอยู่แค่กลุ่มเดียว คือกลุ่มแชบอล (재벌) หรือกลุ่มเจ้าสัวนายทุน ส่วนชนชั้นกลางและชนชั้นล่างไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลับสวนทางกัน จึงมีการชุมนุมเรียกร้องค่าแรงอยู่บ่อยครั้งควบคู่ไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตย
จุดแตกหักของประชาชนต่อรัฐบาล
ในระหว่างที่ชอนดูฮวานดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นก็มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ร่วมชุมนุมมีตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ชนชั้นแรงงาน รวมไปถึงชนชั้นกลาง การชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ‘พัคจงชอล’ นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล หนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและแกนนำการชุมนุม เสียชีวิตหลังถูกตำรวจควบคุมตัวไปสอบสวนในเดือนมกราคม 1987 โดยตำรวจระบุว่าเขาเสียชีวิตจากอาการช็อกระหว่างการสอบสวน แต่ภายหลังผลชันสูตรพบว่าเขาถูกทรมานโดยการจับกดน้ำจนเสียชีวิต ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ และออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกันเป็นจำนวนมาก
ประชาชนเกิดความไม่พอใจมากขึ้นไปอีก เมื่อ ‘อีฮันยอล’ นักศึกษามหาวิทยาลัยยอนเซ ถูกตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าที่ศีรษะในระหว่างการชุมนุมประท้วงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยยอนเซ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 1987 มีนักข่าวจับภาพที่เขาอยู่ในอาการบาดเจ็บสาหัสและถูกประคองโดยผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นไว้ได้ ภาพดังกล่าวถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์และเผยแพร่เป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนเกิดความโกรธแค้นรัฐบาลถึงขีดสุด และได้ออกมาร่วมขบวนชุมนุมนับล้านคนตลอดเดือนมิถุนายน และท้ายที่สุด อีฮันยอลก็เสียชีวิตจากพิษบาดแผลในหนึ่งเดือนให้หลัง
โดยการชุมนุมตลอดเดือนมิถุนายน 1987 นี้ รู้จักกันในชื่อ ‘June Democratic Struggle’ (6월 민주항쟁) ไม่เพียงแต่เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อการสูญเสียของเหล่าประชาชนและนักศึกษาจากการสลายการชุมนุมของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงอีกด้วย
เหตุการณ์ไม่คาดคิด
ในขณะที่การชุมนุมกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเตรียมประกาศใช้กฎอัยการศึก และสลายการชุมนุมอย่างที่เคยทำมา แต่แล้วในเดือนเดียวกันนี้ โนแทอู ผู้ชิงตําแหน่งประธานาธิบดีของพรรคฝ่ายรัฐบาล ผู้ที่ถูกวางตำแหน่งให้สืบทอดอำนาจต่อจากชอนดูฮวานก็ได้ออกมาประกาศ 8 ข้อ ยอมรับข้อเรียกร้องของประชาชน หนึ่งในประกาศนั้นคือ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง และประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งเพียง 5 ปีต่อ 1 วาระ โดยการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
ผลการเลือกตั้งที่ผิดคาดแต่นำมาซึ่งประชาธิปไตย
ทุกอย่างดูกำลังจะไปได้ดี เกาหลีใต้กำลังจะหลุดพ้นจากบ่วงของเผด็จการทหาร แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นไปตามที่คาด สาเหตุเป็นเพราะตัวแทนฝ่ายต่อต้านเผด็จการอย่าง ‘คิมยองซัม’ และ ‘คิมแดจุง’ ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีพร้อมกันทั้ง 2 คน กลายเป็นว่าแย่งคะแนนกันเองครึ่งต่อครึ่ง ส่งผลให้ โนแทอู เป็นฝ่ายชนะไปด้วยคะแนนเพียง 36% และสามารถสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ
โนแทอู ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนครบวาระ แต่ผลการเลือกตั้งครั้งต่อมาก็ยังน่าผิดหวัง เมื่อ คิมยองซัม หนึ่งในตัวแทนฝ่ายค้านที่ต่อต้านเผด็จการมาโดยตลอด กลับรวมพรรคเข้ากับ โนแทอู และสามารถเอาชนะ คิมแดจุง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1992 ไปได้
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก กองทัพก็ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีกเลยนับจากนั้น จะเรียกได้ว่าประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ค่อย ๆ เริ่มผลิบานในช่วงนี้ก็ว่าได้ รัฐธรรมนูญเอื้อให้ได้มาซึ่งนักการเมืองที่มีความสามารถและมาจากการเลือกของประชาชนไม่ใช่การแต่งตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจกันเอง การต่อสู้ของประชาชนที่ไม่ย่อท้อต่อเผด็จการและการทุจริตต่าง ๆ ของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ส่งผลให้เกิดประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งมาจนถึงวันนี้
หลายคนคงเคยได้ยินว่าประโยคที่ว่า ชาวเกาหลีใต้หวงแหนประชาธิปไตย นั้นก็ดูจะไม่เกินจริงนัก เพราะประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้เกิดจากการที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นมา และกว่าจะได้มาก็ต้องแลกมากับความยากลำบากและความสูญเสียจำนวนไม่น้อย หนึ่งในการแสดงออกทางการเมืองการชาวเกาหลีใต้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั่นก็คือ การเดินขบวนชุมนุม อย่างที่เราเห็นกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การเดินขบวนชุมนุมของชาวเกาหลีใต้
เชื่อว่าคนที่ติดตามข่าวการเมืองเกาหลี ติดตามวงการบันเทิงเกาหลี หรือแม้แต่คนทั่วไปคงจะเคยได้เห็นภาพการลงถนนชุมนุมของชาวเกาหลีใต้กันมาบ้าง ไม่ว่าจะในข่าว ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่อิงมาจากเหตุการณ์จริงก็ตาม
การเดินขบวนชุมนุมประท้วงที่เกาหลีใต้มีมาอย่างยาวนาน ถ้าให้พูดถึงเหตุการณ์แรกๆ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีก็คือเหตุการณ์ April 19 Movement หรือการชุมนุมประท้วง ‘รีซึงมัน’ ผู้นำเผด็จการ และประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจตัวเอง กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้อย่างไม่มีกำหนด ประชาชนไม่พอใจและลุกขึ้นมาต่อต้านครั้งใหญ่ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการชุมนุมได้ ทำให้รีซึงมันต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ฮาวาย และเสียชีวิตไปในที่สุด
การชุมนุมประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา อีกหนึ่งเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่เชื่อว่าหลายคนรู้จักกันดีคือ การชุมนุมประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีพัคกึนฮเย ที่จตุรัสกวังฮวามุน ในเดือนมิถุนายน 2016 จากประเด็นที่พัคกึนฮเยมีคนสนิทอยู่เบื้องหลัง คอยชักใยในการทำงาน และกำหนดแนวทางการบริหารประเทศของเธอ ซึ่งมีเหล่าคนดังได้เข้าร่วมการชุมนุมนี้ด้วย บางสำนักข่าวรายงานว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมนี้ถึง 1 ล้านคน สุดท้ายพัคกึนฮเยก็พ้นจากตำแหน่งจากการลงมติถอดถอนของรัฐสภา
ชาวเกาหลีใต้ไม่เพียงแต่เพื่อชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมือง แต่รวมถึงการเรียกร้องสิทธิของตนเอง เช่น การชุมนุมเรียกร้องของแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานมากเกินไปในช่วงเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 1980
การชุมนุมของชาวเกาหลีใต้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นและการเป็นประชาคมที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังถูกยอมรับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตย และถูกนำมาเป็นตัวอย่างให้กับหลายประเทศที่กำลังต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
The May 18 Foundation
มูลนิธิ 18 พฤษภาคม หรือ The May 18 Foundation (5·18기념재단) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่กวางจู วันที่ 18 พฤษภาคม 1980 และยังมีเป้าหมายในการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เช่น จัดทำโครงการ สนับสนุนด้านการวิจัย มอบทุนการศึกษา และดูแลช่วยเหลือครอบครัวของนักเคลื่อนไหวที่ได้รับผลกระทบ
มูลนิธินี้ไม่แม้แต่ดำเนินการภายในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือการเรียกร้องประชาธิปไตยในต่างประเทศด้วย เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2021 มูลนิธิ 18 พฤษภาคม ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัว ทนายอานนท์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทย และได้มอบรางวัล กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ให้กับทนายอานนท์อีกด้วย
ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจอย่างมาก ที่ นักแสดงสาว โกมินชี ผู้รับบทนำในซีรีส์ Youth of May ได้บริจาคเงินเป็นจำนวนกว่า 10 ล้านวอน (หรือคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 260,000 บาท) ให้แก่มูลนิธินี้ ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังปิดท้ายบทสุนทรพจน์ขณะขึ้นรับรางวัลนักแสดงหญิงดีเด่น (Excellence Award) บนเวทีงานประกาศรางวัลปลายปีช่อง KBS ‘2021 KBS Drama Awards’ อย่างงดงาม ว่า “ฉันอยากจะอุทิศรางวัลนี้แด่ทุกคนที่ทำให้เดือนพฤษภาคม ปี 1980 สว่างสไวขึ้นมานะคะ”
อุทยานอนุสรณ์สถาน 5•18 (5·18 기념공원)
อนุสรณ์สถานนี้ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจู เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 บริเวณโดยรอบมีหอสมุด สวนสาธารณะ อนุสาวรีย์นักศึกษาประชาธิปไตย ศูนย์การศึกษาและวัฒนธรรมนักศึกษากวางจู และนิทรรศการอื่นๆ มากมาย ตั้งอยู่ที่ 152 Naebang-ro, Seo-gu, Gwangju (Ssangchon-dong) ใครสนใจก็สามารถไปเยี่ยมชมกันได้
ถึงแม้เกาหลีใต้จะได้สัมผัสกับคำว่าประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้เพียง 30 ปีซึ่งเป็นเวลาที่อาจจะดูไม่นานนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้นั้นแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก สิทธิเสรีภาพที่โตตามหลังระบบเศรษฐกิจในวันนั้น กลับโตทันกันแล้วในวันนี้ มองกลับกันก็ใช้เวลาเพียง 30 ปีเท่านั้น และดูท่าว่าจะเติบโตต่อไปได้อีกแน่นอน
ทิ้งท้าย ทำไมต้องดู Youth of May
สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี คือ การที่เขาหยิบยกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มาเป็นฉากหลังของเรื่องราวในซีรีส์มากมาย อย่างเช่นเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู ที่ไม่เพียงแค่ทำให้คนรุ่นหลังยังคงตระหนักถึงความสำคัญของเหตุการณ์ ยังเป็นเหมือนเป็นหนังสือบันทึกทางประวัติศาสตร์ฉบับย่อที่ให้เราได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของช่วงเวลาเหล่านั้นไม่มากก็น้อย
เรื่องราวในซีรีส์เรื่องนี้ แม้จะดำเนินด้วยหนุ่มสาวคนธรรมดา ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น แต่ท่ามกลางฉากหลังของเหตุการณ์ที่แสนวุ่นวายนี้ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความรักของพวกเขา ที่ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่า แม้เราจะไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง แต่การเมืองก็มาเกี่ยวข้องกับเราได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี
บทความที่เกี่ยวข้อง
อีโดฮยอน – โกมินชี นำทีมเหล่านักแสดง เผยความในใจ ก่อนถึงตอนจบซีรีส์ Youth of May
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡