เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้คงรับชม ‘The Glory พาร์ต 2’ เป็นที่เรียบร้อย หลังจากนับวันรอคอยอย่างใจจะขาดทันทีที่ดูพาร์ตแรกจบ ซึ่งทิ้งท้ายเนื้อเรื่องไว้ชวนน่าติดตามอย่างมาก หรือสำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูเรื่องนี้ ก็มักจะพบเห็นชื่อของ ‘มุนดงอึน’ หรือ ‘พัคยอนจิน’ เต็มฟีดไทม์ไลน์ในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์จนทำให้หลายคนงุนงงว่าพวกเขาเป็นใครกันแน่?
***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน***
แน่นอนว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้รับการจับตามองในเชิงบวกจากสังคมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การนำนักแสดงระดับท็อปอย่าง ‘ซงฮเยคโย’ และ ‘อีโดฮยอน’ มาปะทะฝีมือกัน รวมไปถึงเนื้อหาบางส่วนของพาร์ตแรก ซึ่งทำให้ผู้คนต่างพูดถึงจนกลายเป็น Talk of the town อย่าง ‘ประเด็นการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน’ เช่น ‘ฉากที่หนีบผม’ ที่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงในเกาหลีใต้ อีกทั้งยังมีผู้ชมจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงเนื้อหาในเรื่องกับประเด็นดราม่าในสังคมไทย ยิ่งกว่านั้น ตอนจบของเรื่องนี้ก็ได้รับการพูดถึงไปไม่ยิ่งกว่ากัน โดยเฉพาะจุดจบของ ‘ผู้กระทำในเรื่อง’ อย่างพัคยอนจินและเพื่อนพ้องของพวกเธอที่ทำให้หลายคน ‘ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ’ เลยสักนิด หากเทียบกับสิ่งที่พวกเขากระทำกับมุนดงอึนหรือเหยื่อคนอื่น ๆ ในพาร์ตแรก ซึ่งผู้เขียนต้องยอมรับตามตรงว่ารู้สึกคลื่นไส้ตลอดการรับชมเลยทีเดียว
‘คังฮยอนนัม’ ภาพตัวแทนอุดมคติของเหยื่อจากปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคม
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาที่ถูกพูดถึงแล้ว The Glory ยังสอดแทรกประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจอย่าง ‘ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว’ (Domestic Violence) ในเนื้อเรื่องผ่านตัวละครหนึ่ง ซึ่งก็คือ คุณป้า ‘คังฮยอนนัม’ หนึ่งในทีมล้างแค้นของมุนดงอึนที่ต้องพบเจอความรุนแรงในครอบครัวมาโดยตลอด ใครจะรู้ว่าท่ามกลางภาพลักษณ์ที่คนภายนอกมองในฐานะ ‘แม่บ้านของครอบครัวเศรษฐี’ หรือ ‘แม่ที่แสนดีต่อลูก’ แต่แท้จริงแล้ว เธอคือ ‘เหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัว’ ผู้หญิงที่ยอมทนถูกสามีตบตีและทำร้ายร่างกายมาเป็นเวลานับ 10 ปี เพื่อความสุขของลูกเพียงหนึ่งเดียว โดยมีเครื่องยืนยัน คือ ภาพบาดแผลตามร่างกายและรอยช้ำบนใบหน้าของเธอที่ไม่เหลือเค้าโครงเดิม คังฮยอนนัมเป็นอีกตัวละครที่น้อยครั้งนักเราจะเห็นเธอยิ้มอย่างสดใสและใช้ชีวิตที่ควรจะเป็น จนอดเอาใจช่วยไม่ได้ให้เธอมีชีวิตที่ดีและมีความสุขในฐานะ “คนหนึ่งคน” เหมือนอย่างที่มุนดงอึนบอกกับเธอเลยทีเดียว
“ตอนนี้คุณไปอยู่ในโลกที่อยากใช้ชีวิตเถอะ ไม่ใช่ในฐานะคุณป้าที่ทำงานให้ฉัน แต่ใช้ชีวิตในฐานะ “คังฮยอนนัม” เถอะค่ะ”
– มุนดงอึน, 2023
แม้ว่าคังฮยอนนัมสามารถใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นได้หลังจากนี้ แต่เธอต้องแลกอิสรภาพมากับความตายของผู้กระทำ แน่นอนว่ามันผิดโดยไม่สามารถหาข้ออ้างใดมารองรับการกระทำได้ ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้สนับสนุนการกระทำของเธอ รวมถึงเชื่อว่าไม่มีเหยื่อคนไหนอยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ซึ่งก็สะท้อนด้วยภาพของคังฮยอนนัมที่แสดงความรู้สึกปนเปด้วยการร้องไห้ปนหัวเราะ หลังจากสามีของเธอเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม หากย้อนมองความคิดเห็นของผู้คนบางส่วนต่อเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความเพิกเฉย’ ของสังคมทำให้เรื่องราวโศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะมายาคติ ‘ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องภายใน คนนอกไม่เกี่ยว’ และเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ มักทำให้หลายคนไม่อยากเข้าไปยุ่งหรือให้ความช่วยเหลือ เมื่อพบเจอเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งก็รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐบางส่วน จนมักมีคำพูดทำนองว่า
“เป็นเรื่องของผัวเมีย เดี๋ยวตีกันก็จบแล้ว”
“ไม่ต้องไปยุ่งหรอก พอเขาดีกัน เราก็เป็นหมา”
คังฮยอนนัมจึงนับว่าเป็น ‘ภาพตัวแทนในอุดมคติ’ ที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หากพิจารณาถึงเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมี ‘มุนดงอึนในชีวิตจริง’ คอยชี้แนะแนวทาง ให้กำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป หรือหาทางออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ได้ ซึ่งในหลายครั้ง ก็น่าเศร้าที่เราต้องพบเห็นการเสียชีวิตของเหยื่อทั้งจากน้ำมือของผู้กระทำความผิด หรือการตัดสินใจของพวกเธอเองเพื่อจบความโหดร้ายที่กำลังเผชิญ
ปัญหาที่ทุกคนมองข้ามอย่าง ‘การทำร้ายจิตใจ’ : เมื่อความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้หมายถึงแค่การทำร้ายร่างกายเสมอไป
ไม่ใช่แค่คังฮยอนนัมที่เป็นเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัว แต่ตัวละครหลักอย่าง ‘มุนดงอึน’ ต่างก็พบเจอความรุนแรงในครอบครัวในรูปแบบ ‘การทำร้ายจิตใจ’ (Emotional Abuse) นับตั้งแต่ยังเด็ก เธอถูกผู้เป็นแม่ทอดทิ้งและได้รับการเพิกเฉยต่อเหตุการณ์การถูกใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา โดยแม่ของเธอเห็นเงินสำคัญกว่าความถูกต้องมาโดยตลอด มิหนำซ้ำ เมื่อดงอึนโตขึ้นมา แม่ของเธอก็ยังเป็นเหมือนเดิม จนทำให้เธอต้องเดือดร้อนจนถึงขั้นลาออกจากโรงเรียน ซีนระเบิดของอารมณ์ของดงอึนเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าจิตใจของเธอผุพังและแหลกสลาย เพราะคนที่ได้ชื่อว่า ‘เป็นผู้ให้กำเนิดของเธอ’ เสียแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมมักเพิกเฉยประเด็นการใช้ความรุนแรงด้วยการทำร้ายจิตใจ ซึ่งอันที่จริงแล้ว สามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องจำกัดเพียงครอบครัวหรือคนรักอย่างเดียว ความรุนแรงด้วยการทำร้ายจิตใจครอบคลุมมากกว่าการทำร้ายด้วยคำพูด แต่รวมไปถึงการทำให้อับอายขายหน้า การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การทอดทิ้งให้อีกฝ่ายโดดเดี่ยว ฯลฯ
มากกว่านั้น ปัญหานี้รุนแรงกว่าที่คิด เพราะหลายคนมักมองว่าการทำร้ายจิตใจไม่รุนแรงเท่าการทำร้ายร่างกายและเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่และเด็กภายใต้ค่านิยมแบบเอเชียอย่าง ‘ผู้ใหญ่ถูกต้องเสมอ’ หรือ ‘การสั่งสอนคือการให้ความรัก’ เสมือนสุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ที่ทำให้เด็กหลายคนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือบอกสังคมต่อสิ่งที่พบเจอได้อย่างเต็มปาก ความรุนแรงดังกล่าวนี้ยังทิ้ง ‘บาดแผลที่มองไม่เห็น’ และแทรกซึมลึกไปถึงจิตใจของเหยื่อที่เมื่อรู้ตัวอีกครั้ง ก็ไม่สามารถควบคุมตนเองจนต้องจบด้วยการหาหนทางเยียวยาในทางการแพทย์ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น บ้างก็จบชีวิตเพื่อยุติความเจ็บปวดของตนเอง
เจาะลึกประเด็น ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในเกาหลีใต้: หนึ่งในต้นตอของความรุนแรงในครอบครัวที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
บ่อเกิดของความรุนแรงในครอบครัวของสังคมเกาหลีใต้นั้นหลากหลายมาก แต่หนึ่งในสาเหตุที่ละเลยไม่ได้ คือ สังคมชายเป็นใหญ่ (Patriachy) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมเกาหลีนับตั้งแต่อดีตถูกหล่อหลอมด้วยแนวคิดขงจื๊อใหม่ (Neo-confucianism) ที่ให้คุณค่าต่อความเป็นชายด้วยมายาคติการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของเพศ กล่าวคือ ผู้ชายถูกวางบทบาทในฐานะหัวหน้าครอบครัวที่คอยควบคุมภรรยาและลูก มีหน้าที่ทำงานนอกบ้าน และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องในบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงจะต้องทำหน้าที่ดูแลงานบ้าน ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกิจการนอกบ้านได้ มีหน้าที่ต้องเชื่อฟังหรือปฏิบัติตามคำสั่งของสามี อีกทั้งพวกเธอจะถูกตีตราแค่ 2 ฐานะเท่านั้น คือ “แม่” และ “ภรรยา” ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อผู้หญิงหลายคนในเกาหลีจะถูกเรียกว่า “แม่ของ…” มากกว่าชื่อของพวกเธอจริง ๆ
แม้ว่าสังคมเกาหลีใต้พัฒนาในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในช่วงศตวรรษที่ 20 นับตั้งแต่การส่งเสริมแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะยุคของประธานาธิบดี ‘คิมย็องซัม’ (김영삼) และ ‘คิมแดจุง’ (김대중) ไปจนถึงการยกเลิกระบบโฮจู (호주) ในปี 2005 โดยศาลรัฐธรรมนูญเกาหลี ซึ่งมีเนื้อหา คือ ผู้หญิงไม่สามารถเป็นทายาทของครอบครัวหนึ่งได้ หากมีผู้ชายสืบสกุลอยู่ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดชายเป็นใหญ่ยังฝังรากลึกในเกาหลีใต้ เมื่อมีรายงานว่าคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ที่ผู้ชายกระทำกับผู้หญิงมักถูกผ่อนปรน เช่น คดีกระทำชำเรา เพราะกระบวนการตัดสินถูกครอบงำด้วยผู้ชายและมุมมองแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งนั่นรวมไปถึงอาชญากรรมความรุนแรงในครอบครัวด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากนั้น งานวิจัย Domestic Violence and South Korean Women: The Cultural Context and Alternative Experiences ยังค้นพบว่าเพราะกระแสความคิดขงจื๊อที่เน้นย้ำความสำคัญของผู้ชายเป็นศูนย์กลาง ทำให้เหยื่อผู้หญิงในฐานะภรรยาหลายคนมองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ โดยพวกเธอมักโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุที่สามีใช้ความรุนแรงกับตน เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามความคาดหวังของสามีได้ และหากเหยื่อตัดสินใจหาทางออกจากปัญหาอย่าง ‘การหย่าร้าง’ ก็จะถูกตัดสินและเป็นที่รังเกียจด้วยอคติจากคนรอบตัวในสังคมชายเป็นใหญ่ในฐานะ “ภรรยาที่บกพร่องและล้มเหลว” อีกทั้งการหย่าร้างนำมาสู่ความเปราะบางทางด้านการเงิน โดยเฉพาะการเลี้ยงดูตนเองและลูก เมื่อสังคมชายเป็นใหญ่ให้คุณค่ากับการจ้างงานผู้ชาย ให้เงินเดือนที่เยอะกว่า รวมถึงเสี่ยงโดนไล่ออกน้อยกว่า นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้หญิงหลายคนจึงทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งข้อสันนิษฐานข้างต้นก็สอดคล้องกับความเป็นจริง สำนักข่าว Hankyoreh (한겨레) รายงานถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ในปี 2021 มีการเก็บสถิติแล้วค้นพบว่าผู้หญิงเกาหลีใต้นับ 1 ใน 3 ของประชากรที่ทำการสำรวจ ต้องเผชิญปัญหาการถูกทำร้ายร่างกายจากคนรักของตนเองด้วยสาเหตุที่หลากหลายกันออกไป ทั้งในการเดตหรือในระหว่างคู่สมรส โดยเหยื่อมักจะไม่กล้ารายงานอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าพวกเขาจะเจ็บปวดจากการถูกทำร้ายก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น Hankyoreh ยังอธิบายความจริงที่น่าตกใจ คือ รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็ไม่ได้สนใจที่จะอธิบายผลการศึกษาดังกล่าวให้กับสื่อมวลชนอย่างแจ่มแจ้ง โดยดำเนินการแค่การโพสต์ผลสำรวจในเว็บไซต์ของกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว (Ministry of Gender Equality and Family) สถานการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยิ่งกังวลต่อการวิกฤตการณ์ในข้างต้นมากขึ้น
เพราะสุดท้ายแล้ว หากคาดหวังให้ซีรีส์เป็นเครื่องมือสร้างความยุติธรรม ที่นับว่าเป็นเพียงแค่ ‘กระจก’ สะท้อนเหตุการณ์สังคมทั้งหมด ซึ่งปกติแล้ว ธรรมชาติของกระจกมักจะส่องความจริงที่เกิดขึ้นกลับด้าน หรือมองเห็นประเด็นทั้งหมดไม่ครอบคลุม หากเทียบกับ ‘คนธรรมดา’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจ’ ที่สามารถได้ยิน ‘เสียงขอความช่วยเหลือ’ หรือเห็น ‘บาดแผล’ ของเหยื่อที่ถูกใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจนนั่นเอง
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡