“การลักพาตัว องค์หญิงซูคยอง ผิดในครั้งนี้
ราวดั่งโชคชะตานำพาให้ บาอู ได้มาพบกับตำนานรักบทใหม่“
Bossam: Steal the Fate โปรเจกต์ฉลองครบรอบ 10 ปีช่อง MBN ซีรีส์ย้อนยุคคลาสสิคที่มีพระราชา องค์หญิง และเรื่องราวของชาวบ้าน ประเด็นที่ใครบางคนเข้าไปเกี่ยวพันกับปมเบื้องหลังในการบ้านการเมือง แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่ค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้จากครอบครัวจอมปลอมกลายเป็นครอบครัวที่แท้จริง
แม้จะเป็นซีรีส์จากช่องเคเบิ้ลที่อาจจะไม่ได้เป็นกระแสในไทยเท่ากับช่องหลัก แต่ต้องบอกก่อนเลยว่า ตอนจบของซีรีส์เรื่องนี้ส่งท้ายเรตติ้งสูงสุดถึง 9.759% ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ของช่อง MBN เป็นซีรีส์อีกเรื่องที่ Korseries อยากชวนทุก ๆ ท่าน มาร่วมลุ้นไปกับการขโมยโชคชะตาที่กำลังจะเริ่มขึ้น
เรื่องราวถูกเล่าผ่านมุมมองของ บาอู (รับบทโดย จองอิลอู) พระเอกผู้ทำงานรับจ้างทุกอย่างหาเลี้ยงครอบครัว วันดีคืนดีก็รับจ้างแต่งตัวเป็นบัณฑิต ไปร่ายกวีในหอนางโลม สักพักก็จับหญิงม่าย ใส่ถุงแบกวิ่งหนียามเมืองไปรอบหมู่บ้าน ซึ่งงานนี้เองที่เป็นพาร์ทสำคัญของเรื่อง กับการทำ ‘โพซัม (Bossam | 보쌈)’ หรือการลักพาตัวหญิงม่าย นำไปส่งให้กับผู้ชายคนใหม่ ซึ่งงานนี้ในยุคสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นงานที่ไม่ดีนัก เพราะในยุคโชซอนยังมีกฎหมายที่ห้ามหญิงสาวแต่งงานซ้ำอยู่ ทำให้บาอูต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ และปิดบังตัวตนที่แท้จริง
แต่แล้วชีวิตของบาอูก็กลับตาลปัตรเมื่อเขาดันไปโพซัมผิดคน และคนที่ถูกลักพาตัวมาก็ดันเป็นคนสำคัญอย่าง องค์หญิงซูคยอง (รับบทโดย ควอนยูริ) นางเอกที่มีฐานะเป็น ‘องจู’ องค์หญิงยุคโชซอนที่เกิดจากพระราชา องค์ชายควังแฮ และสนม (ส่วนลูกของพระราชากับพระมเหสีจะเรียกว่า ‘กงจู’)
การแต่งงานขององค์หญิงซูคยองนั้นเป็นไปตามเกมการเมือง เธอต้องออกจากวังมาแต่งงานกับลูกชายบ้านขุนนางใหญ่ เข้าเป็นสะใภ้ของเสนาบดีอีชอม ซ้ำสามีที่เธอต้องเข้าพิธีอภิเษกสมรสด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็ยังมีสถานะเป็นพี่ชายของอดีตคนรักที่เธอรักอีก และเรื่องราวยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีก เมื่อในวันอภิเษกสมรส สามีจำเป็นของเธอกลับเสียชีวิตลง จนเธอกลายเป็นหญิงม่ายทันทีที่ออกเรือนและต้องไว้ทุกข์แต่งชุดขาวมายาวนานถึง 3 ปี
ความตลกร้ายอีกอย่างที่เป็นจุดน่ารัก สานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระเอก-นางเอกก็คือ พระเอกเป็นพ่อม่ายลูกติด มีลูกชายน่ารักจอมขี้ทึกทัก พอรับงานโพซัมไปลักพาตัวหญิงม่ายมา แต่ดันเกิดเหตุผิดพลาด หยิบมาผิดฝาผิดตัว ไปลักเอาองค์หญิงเข้าแทน ก็เลยต้องพาเขามาบ้านตัวเองก่อน ลูกชายก็เลยคิดเอาเองว่าพ่อไปลักเมีย เอ้ย! ไปลักแม่มาให้ตนซะงั้น
แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่นี้ แต่จะมีเรื่องอื่นใดอีกบ้าง ก็ขอให้ทุกคนมาติดตาไปพร้อมกันเลย
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์*
เดินเรื่องด้วยแง่มุมแปลกในสมัยโชซอน
ในซีรีส์ได้ถ่ายทอดให้เห็นสังคมโชซอนที่ยึดหลักขงจื๊อใหม่ ผู้ชายเป็นใหญ่ ครอบครัวก็ฝั่งสามีเป็นใหญ่ หญิงที่แต่งงานจะกลายเป็นสมบัติของบ้านฝั่งชาย หากสามีตาย ภรรยาก็ควรต้องตายตาม แต่ในเมื่อตายไม่ได้ ก็ต้องทนเป็นตราบาป บาปที่ทำให้สามีตาย บาปต่อวงศ์ตระกูล ต้องอยู่อย่างอดสู ยิ่งเป็นชนชั้นสูงยิ่งอับอาย ต้องเก็บตัวไม่ข้องแวะสังคม เพื่อไม่ให้ดูว่าอยู่ดีมีสุขทั้งที่สามีตายไปแล้ว ใครที่มีลูกชายถือว่าได้รับสิทธิ์ให้อยู่ต่อเพื่อเลี้ยงดูแลลูกชายของตระกูลให้ประสบความสำเร็จ แต่หากไม่มีลูกก็ถือเป็นความอับอายยิ่งของตระกูลที่ไม่สามารถทำประโยชน์ใด ๆ ได้เลย
ดังนั้นในสมัยโชซอนจึงมีการทำ โพซัม (보쌈) เป็นการลักหญิงม่ายตอนกลางคืน เพื่อไปส่งให้กับผู้ชายใหม่อีกคน บางบ้านจ้างคนมาโพซัม เพื่อจะได้นำหญิงม่ายออกจากบ้านตนไปไกล ๆ โพซัมเพื่อให้ได้ออกเรือนใหม่ไปกับชายอื่นที่ต้องการอนุภรรยาเพิ่ม หรือเพื่อแต่งงานอีกครั้งกับพ่อม่ายเหมือนกัน ถึงจะดูเป็นวิธีแปลก ๆ แต่ก็เป็นทางออกของสถานการณ์ที่ทำให้หญิงม่ายได้ออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกครั้ง มุมหนึ่งก็อาจทำให้หญิงม่ายได้ออกจากสถานะอันน่าอดสู และอีกมุมก็เป็นทางตระกูลเอง ที่ไม่ต้องทนมีแม่ม่ายตราบาปอยู่ในบ้านด้วย
ยิ่งสำหรับหญิงชนชั้นสูงการเป็นหญิงม่ายถือเป็นตราบาปหนักมาก จนมีผู้หญิงที่เลือกฆ่าตัวตายตามสามีไป เพื่อเป็นทางออกของความน่าอดสูนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่องกับการตัดสินใจที่กล้าหาญของพวกเธอ หญิงม่ายที่ฆ่าตัวตายจะได้รับการตั้งอนุสรณ์ เป็นศาลเล็ก ๆ ประตูสีแดง เรียกว่า ยอล-รยอ-มุน (열녀문) เพื่อสรรเสริญคุณธรรมของผู้เป็นภรรยาที่ดี เป็นเกียรติต่อวงศ์ตระกูล (อนุสรณ์นี้เป็นการเชิดชูผู้เป็นภรรยาและมารดาที่ดีตามหลักขงจื๊อใหม่ ไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวตายตามสามีเท่านั้น สรรเสริญได้ทุกการกระทำในแง่การเป็นสตรีที่ดีตามหลักขงจื๊อใหม่)
และจากการปฎิบัติในรูปแบบแปลก ๆ นี้เอง จึงกลายเป็นที่มาของเรื่อง Bossam: Steal the Fate ที่นำจุดเด่นของการโพซัมนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ตามชื่อเรื่อง
ซีรีส์อิงบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ – นำจุดเด่นด้านการแข่งขันทางการเมืองมาผูกเป็นปมเนื้อเรื่อง
ตัวซีรีส์ดำเนินเรื่องอิงยุคสมัยพระราชาโชซอนองค์ที่ 15 องค์ชายควังแฮ หรือ ควังแฮกุน ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ในบทของนางเอก นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่มีตัวตนจริงและเป็นคนสำคัญของยุคอีก อย่าง คิมแกชี คิมซังกุงผู้ลือชื่อ ผู้อยู่เคียงข้างพระราชาเสมอ และ อีอีชอม (이이첨) ขุนนางทหารผู้สนับสนุนหล้กของควังแฮกุน (ในเรื่องอีอีชอมเป็นเสนาบดีซ้าย) และควังแฮกุนในประวัติศาสตร์เองก็มีลูกสาวที่ไม่มีชื่อจริงระบุไว้ ซึ่งเกิดกับ สนมโซอีสกุลยูน ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของนางเอกในเรื่องนี้เอง
ตามข้อประวัติศาสตร์ในยุคนี้ ว่ากันว่า ควังแฮกุน มีหอกข้างบัลลังก์เป็น องค์ชายยองชัง น้องชายที่เกิดจากพระเจ้าซอนโจและพระนางอินม๊ก ซึ่งมีศักดิ์เป็นมเหสีขแงพระเจ้าซอนโจ พระองค์เป็นน้องชายที่อายุห่างจากควังแฮกุนมาก ๆ จนแทบไม่น่ามีพิษภัย แต่มีสิทธิ์ครองบัลลังก์โดยชอบเพราะเกิดจากมเหสี ด้วยควังแฮกุนมีศักดิ์เป็นเพียงลูกสนม ดังนั้นแม้ว่าควังแฮกุนจะได้ขึ้นเป็นพระราชาแล้ว แต่ก็เหมือนขุนนางหลายฝ่ายจะไม่ยอมรับเพราะมีคนที่มีฐานะเหมาะสมกว่าเกิดมาแล้ว ซึ่งคำว่า ‘ขุนนางหลายฝ่าย‘ นี้ ก็มีหลายฝ่ายจริง ๆ สืบต่อมาตั้งแต่รุ่นพ่อของควังแฮกุน
ตั้งแต่ยุคสมัยพระเจ้าซอนโจ พระราชาโชซอนองค์ที่ 14 พ่อของควังแฮกุน ก็มีการแบ่งพรรคอำนาจฝั่งบัณฑิตที่เรียกว่า ซาริม ออกเป็นฝ่ายตะวันตก ซออิน และฝ่ายตะวันออก ทงอิน ต่อมาได้เกิดการแยกออกเป็นฝ่ายใต้ นัมอิน เพื่อคานทวนอำนาจฝ่ายทงอินอีกที และยังมีฝ่ายเหนือ พุกอิน ที่เข้ามามีบทบาทในรัชกาลควังแฮกุนในยุคถัดมา โดยมีแบ่งอีกเป็นฝ่ายเหนือใหญ่ แทบุ๊ก และฝ่ายเหนือเล็ก โซบุ๊ก ซึ่งการพรรคแบ่งฝ่ายนี้ก็ถือว่าเป็นความหนักใจที่สร้างเกมการเมืองที่ดุเดือดให้ยุคสมัยนั้นไม่น้อยเลย
ผู้สนับสนุนฝั่งควังแฮกุนคือ อีอีชอม ผู้นำฝ่ายแทบุ๊ก (ฝ่ายเหนือใหญ่) ส่วนขุนนางที่สนับสนุนฝั่งองค์ชายยองชังคือ ฝ่ายโซบุ๊ก (ฝ่ายเหนือเล็ก) อีอีชอมผู้นี้ เชื่อกันว่าเป็นผู้อยู่ทุกเบื้องหลังในการกำจัดทุกอิทธิพลที่เป็นหอกข้างแคร่ของควังแฮกุน เช่นการกำจัดพระนางอินม๊กและองค์ชายยองชัง
[หลังจากนี้ในบทความจะใช้คำว่า ‘พระราชาควังแฮ’ เพื่อให้ตรงตามบทบาทในซีรีส์ แต่จริง ๆ พระยศสุดท้ายคือ ‘ควังแฮกุน’ หรือ ‘องค์ชายควังแฮ’ หลังควังแฮกุนถูกรัฐประหาร ถอดยศพระราชา และถูกเนรเทศไปอยู่เกาะคังฮวา]
Bossam: Steal the Fate ดำเนินเรื่องในช่วงที่พระราชาควังแฮกักบริเวณพระพันปีอินม๊ก พระมารดาขององค์ชายยองชัง ที่พระราชวังตะวันตก (ซอกุง) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือจับขังไม่ให้พระนางอินม๊กได้ใช้อำนาจได้อย่างอิสระนั่นเอง ซึ่งคำว่า ซอกุง ใช้เรียกสั้น ๆ เป็นคำขานลำลองนัยถึงพระพันปีอินม๊กตรงตามในเรื่อง พระนางอินม๊กเป็นลูกของ คิมแจนัม ชื่อขุนนางอีกคนที่ถูกเอ่ยถึงในเรื่องนี้
ดังนั้น จากจุดสำคัญของยุคสมัยที่แสดงให้เห็นถึงความคลอนแคลนของบัลลังก์พระราชานี้เอง ทำให้นางเอกกลายเป็น ‘หมากบนกระดานการเมืองโชซอน‘ นางเอกต้องแต่งงานกับลูกชายของอีอีชอม กลายเป็นปมดราม่า ที่แอบผูกปมไว้สองชั้น ไม่ใช่แค่ตัวละครนางเอกดราม่าฝ่ายเดียว แต่ยังฝ่ายพระราชาอีกด้วย
นอกจากอีอีชอมแล้ว ข้างกายของพระราชาควังแฮยังมีซังกุงคนสนิทอีกคน เป็นซังกุงพิเศษผู้มีตัวตนจริงในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า คิมแกชี ในวังหลังโชซอนก็มีคิมซังกุงหรือคิมแกชีคนนี้นี่แหละที่คอยคัดง้างกับพระนางอินม๊กมาโดยตลอด
ว่ากันตามฐานะแล้ว คิมแกชี เป็นภรรยาคนหนึ่งของพระราชาควังแฮ เข้ามาเป็นนางในของพระองค์ตั้งแต่สมัยยังเป็นองค์ชาย แต่เพราะเป็นที่ถูกใจของพระเจ้าซอนโจ พ่อของควังแฮ ได้เป็น ซึงอึนซังกุง หรือนางในถวายตัวในพระเจ้าซอนโจด้วย
คิมซังกุงมีบทบาทอยู่ข้างกายควังแฮมานาน โดยชื่อ แกชี นั้น ปรากฏในบันทึกของควังแฮกุนเอง แต่ในบันทึกอื่นที่เกี่ยวกับราชวงศ์ ก็มีบันทึกทั้งชื่อ กาฮี, แกฮี และ กาชี แต่ชื่อที่รู้จักและถูกหยิบยกนำมาใช้ในซีรีส์บ่อย ๆ ก็มักจะเป็น แกชี และ กาฮี ซึ่งในซีรีส์ย้อนยุคเกาหลีที่อิงยุคเดียวกันแทบทุกเรื่องจะมีบทของคิมซังกุง และตัวบทล้วนแสดงออกอย่างชัดเจนว่า คิมซังกุงผู้นี้ อยู่เคียงข้างและทำได้ทุกอย่างเพื่อพระราชาควังแฮเสมอ
ในเรื่อง Bossam: Steal the Fate เอง พระราชาควังแฮก็ไม่ลงรอยกับอีอีชอมเรื่องภาษีที่ดิน เห็นชัดเจนว่าพระราชาเองก็เกรงและกังวลกับอิทธิพลของอีอีชอม แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะเคยร่วมมือกันมาก่อน แถมยังส่งลูกสาวไปเป็นสะใภ้เขาอีก พระราชาจึงรับคำแนะนำจากคิมซังกุงที่พยายามจะดึงขุนนางต่างฝ่ายเข้ามาในวิถีปกครอง เพื่อคานอำนาจอีอีชอม
บทของพระราชาควังแฮในเรื่องนี้ นับว่าตีความได้แปลก แหวกกว่าตัวละครควังแฮกุนในซีรีส์เรื่องอื่นที่ผ่านมา เนื่องจากบทควังแฮกุนในซีรีส์เรื่องอื่นมักเป็นบทพระราชาที่ดี แต่เรื่องนี้เป็นพระราชาที่ …ใช้ลูกสาวเป็นหมากทางการเมือง
มีกิมมิคที่เป็นเกร็ดของยุคสมัยตลอดเรื่อง
นอกจากปมเรื่องการแบ่งฝ่ายทางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์จริง ที่นำมาผูกเป็นปมสายหลักของเรื่องแล้ว จริง ๆ ยังแอบมีอีกหลายเกร็ดหลายมุมในประวัติศาสตร์ที่ซีรีส์แอบใส่มาตลอดทั้งเรื่อง เช่นในยุคพระเจ้าซอนโจและควังแฮกุน มีหมอหลวงคนดังอยู่คนหนึ่งที่มีตัวตนจริงชื่อว่า หมอฮอจุน ผู้มีนามปากกาว่า กูอัม (และมีซีรีส์ชื่อตัวหมอเองเรื่อง ‘คนดีที่โลกรอ หมอโฮจุน / The Legendary Doctor Hur Jun’ ด้วย) หมอฮอจุนเองก็ถูกพูดถึงในเรื่อง เป็นกิมมิคแวบ ๆ แบบแวบเดียวจริง ๆ แต่แสดงให้เห็นเลยว่าซีรีส์เรื่องนี้ เขียนบทอย่างตั้งใจอิงยุคนี้อย่างแท้จริง ต้องลองไปสังเกตให้เจอกันนะคะ
นอกจากการเป็นม่ายไร้คู่เพราะฝ่ายหนึ่งตายจากไปแล้ว ในอีกทางก็สามารถเป็นม่ายจากการตกลงหย่าร้างได้ แม้ว่ากฎหมายโชซอนจะให้แต่งงานได้ครั้งเดียว แต่ในสมัยนั้นก็สามารถทำเรื่องแยกทางกันได้ในลักษณะที่ฝ่ายชายทำเรื่องหย่าอย่างถูกต้อง และต้องได้รับอนุญาตจากทางการด้วย เพื่อให้ฝ่ายหญิงสามารถแต่งงานใหม่ได้โดยไร้ครหา
แต่ช่างน่าเสียดาย ที่การเขียนจดหมายหย่าร้างแจ้งต่อทางการนั้น มีแต่ชนชั้นสูงที่รู้การเขียนหนังสือเท่านั้นที่สามารถทำได้ วิธีการยุ่งยาก แถมการหย่าร้างก็ผิดหลักจารีตตามยุคนั้น การหย่าร่างจึงไม่นิยมทำกันอย่างเปิดเผยให้ถูกติฉินนินทา ชาวบ้านทั่วไปจึงใช้ ‘การตัดชายเสื้อ’ เป็นสัญลักษณ์การหย่าร้าง และตัดสายผูกเสื้อเป็นสัญลักษณ์แทนการแยกทางโดยรับรู้กันเอง การตัดเสื้อผ้าแบบนี้จึงหมายถึง ‘การตัดความสัมพันธ์ชีวิตคู่’
ฉากตัดเสื้อเพื่อตัดความสัมพันธ์ยังปรากฏในซีรีส์เรื่องอื่นด้วย และฉากตัดเสื้อนั้นมักสื่อความหมายเชิงบวก หรือเป็นฉากที่ตราตรึงใจมาก ๆ ถึงแม้ว่าฉากตัดเสื้อในซีรีส์จะดูโรแมนติก แต่ความจริงถ้าไม่ได้ตกลงกัน คนตัดเสื้อได้ก็มีแต่ผู้ชาย การทำแบบนี้ก็เพราะฝ่ายชายไม่ชอบใจแล้ว หรือเพราะฝ่ายหญิงให้ลูกชายไม่ได้ ในบางครั้งก็เป็นเรื่องเศร้าใจมากกว่า
นอกจากนี้ในเรื่องยังเอ่ยถึง “ลูกเมียรอง/ลูกเมียไพร่สอบราชการไม่ได้” นั่นเพราะว่าในยุคโชซอน กำหนดสถานะลูกที่ชนชั้นแม่ ต่อให้พ่อเป็นชนชั้นสูง แต่หากแม่ไม่ได้เป็นชนชั้นสูงที่เรียกว่า ยังบัน เหมือนกัน ก็จะไม่ได้รับการยอมรับในสังคมระดับเดียวกัน
ส่วนการสอบราชการในที่นี้ หมายถึงการสอบเป็นขุนนางในวัง เป็นการสอบวัดความรู้และจริยธรรรมที่เรียกว่า มุน-กวา ไม่ใช่การสอบเป็นทหาร มู-กวา หรือส่วนราชการสำนักเฉพาะทางอื่น ๆ อย่างหมอหรือล่ามจะเรียกว่า ชับ-กวา
การสอบมุนกวานี้จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงที่มีคุณสมบัติครบถ้วน แม้พ่อจะเป็นชนชั้นสูง มีตำแหน่งขุนนางใหญ่มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ใช่ลูกภรรยาเอก เป็นเพียงลูกเมียรอง ลูกเมียทาส ลูกของกบฏหรือนักโทษการเมืองในอดีต ล้วนถูกคัดออกทั้งสิ้น ดังนั้นในซีรีส์เรื่องนี้จึงมีบทของการพยายามซื้อขายหนังสือ (ปลอม) แสดงความเป็นภรรยาเอกผู้เป็นคู่สมรสที่ถูกต้อง และการซื้อป้ายชื่อ ซื้อหนังสือเชื้อสายตระกูล เพื่อให้ได้สวมรอยเป็นยังบันที่แท้จริงได้
เหมือนซีรีส์การเมือง แต่จริงเป็นซีรีส์หนุบหนิบใจ สายครอบครัว
เรื่องนี้มีตัวละคร ชาดล ลูกชายของพระเอก เป็นตัวละครกาวใจรวมความน่ารักในเรื่องไว้แต่ผู้เดียว น้องชาดลคุยเก่ง ดึงสติพ่อเก่ง เรียกได้ว่าหากไม่มีชาดลคงไม่เกิดความรักระหว่างพระเอก-นางเอกเป็นแน่ ส่วนบทตัวละครอื่น ๆ ก็เล่นได้สมบทบาท พระรองฉลาดไม่แพ้ใคร พระราชา ขุนนาง คนในวัง ชาวบ้านชาวตลาดก็ล้วนแสดงได้น่าชื่นชม แคสต์มาเป็นอย่างดี
ส่วนบทโรแมนติกเป็นความรักแบบผู้ใหญ่ที่หนุบหนิบหัวใจเหลือเกิน พระเอกเขาหยอดนางเอกตลอด ชวนกลับบ้าน เปย์ของให้ แอบมองเขา แต่ก็ทำเนียนทำปากแข็งใส่ ก็พระเอกเป็นหนุ่มใหญ่มีลูกชายแล้วเนอะ จะมีรักเร่งด่วนเหมือนพบรักครั้งแรกก็คงไม่ได้ บทโรแมนติกพระ-นางจึงละมุนมาก ไม่มีความจูบ หวีดวาย จิกหมอน เรียบ ๆ แต่กลมกล่อม
ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชาและนางเอกก็น่าสนใจ แต่อยากให้ดูเองในซีรีส์โดยตรงมากกว่า โดยเฉพาะบุคลิกของนางเอก ซึ่งเป็นองค์หญิงในวัง มีกรอบของขนบธรรมเนียมควบคุมความคิดและการกระทำ แต่จริง ๆ เป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า ฉลาด กล้าเรียนรู้ ซึ่ง ควอนยูริ สามารถสื่อสารออกมาผ่านเรื่องราวออกมาได้ดีเลย ดูเป็นผู้หญิงโชซอนผู้ยึดมั่นในธรรมเนียม เชื่อฟังพ่อ แต่ก็ยังเด็ดเดี่ยว เห็นถึงความคิดฉบับหัวใหม่ และแสดงออกถึงความเข้มแข็ง เป็นนางเอกที่ดูธรรมดา แต่เมื่อดูจนจบถึงฉากสุดท้ายแล้ว นางเอกงดงามมาก งามสมบทบาทในเรื่องจริง ๆ
บทสรุปรีวิว
ซีรีส์เรื่องนี้ แม้ปมหลักของเรื่องอยู่ที่การเมือง แต่บทการเมืองไม่ได้พลิกแพลงฟาดฟันมันสมองนัก เพราะอิงไปตามหน้าประวัติศาสตร์เลย จึงไม่ใช่ซีรีส์เครียดหนักหัว และแม้จะไม่ได้เน้นโรแมนติกจ๋า ๆ แต่สิ่งที่พระ-นางถ่ายทอดออกมาก็ละมุนอุ่นใจมาก ๆ โดยรวมเห็นถึงความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละคร แม้แต่ตัวละครเล็ก ๆ ก็แบ่งบทบาทให้ความสำคัญได้ลงตัวทุกตัว ไม่หลงลืมตัวละครไหนไป บทพูดระหว่างตัวละครก็สวยงาม
เนื้อเรื่องแต่ละตอนดูเหมือนจะเฉื่อย แต่เนื้อหาที่เสิร์ฟเข้ามาใหม่แต่ละตอนนั้นกลับรู้สึกว้าวอย่างคาดไม่ถึง มีการปูเรื่องเข้าไปสู่แต่ละตัวละครน่าสนใจมาก ด้วยบทอาจจะไม่ได้ใส่รูปแบบความคิดสมัยใหม่ลงไปโดยสมบูรณ์ อย่างเรื่องค่านิยมยุคปัจจุบัน ทำให้การตัดสินใจของตัวละครบางตัว คนดูอาจจะ เอ๊ะ? อ๊ะ? ทำไมตัวละครทำแบบนั้นนะ? หรือมีบางส่วนที่ค่อนข้างดูเป็นอุดมคติไปบ้าง แต่ถ้ามองด้วยมุมคิดของคนโบราณที่ยึดจริยธรรมยึดจารีตมันก็พอเป็นไปได้ (ในละคร) นะ
สรุปแล้วก็คือเป็นซีรีส์ช่องเล็กที่โปรดักชันใหญ่ ภาพสวย บรรยากาศสวย ดูสมจริงไปหมด นักแสดงสมบทบาท แม้จะดึงนำเอาแง่มุมประวัติศาสตร์มาเป็นหลักหลายส่วน แต่ละครก็ยังเป็นละคร ไม่ได้กลายเป็นสารคดี อยากให้ทุกคนได้ดู เหมือนได้ค้นหาไข่อีสเตอร์ แต่ถึงจะไม่ได้ค้นพบความรู้จำเป็นอะไร แต่ก็จะได้อรรถรสความบันเทิง ไม่มีความขาดเกินในแง่เป็นซากึก มีเรื่องในรั้ววังให้ซุบซิบ แต่ก็มีความชาวบ้านให้เข้าถึง เป็นม้ามือในกลุ่มซีรีส์ย้อนยุคเกาหลีในช่วงปีเดียวกันเลย มี 20 ตอนดูเพลิน ๆ ให้ใจนุ่มนวล ~
บทความที่เกี่ยวข้อง
เรื่องย่อซีรีส์ : Bossam: Steal The Fate (2021)
ซีรีส์ Bossam: Steal the Fate สร้างสถิติใหม่! ทำเรตติ้งนำเป็นอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ช่อง MBN
Bossam: Steal The Fate ทำลายสถิติตัวเอง! ส่งท้ายตอนจบด้วยเรตติ้งอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ช่อง MBN
สรุปไทม์ไลน์ราชวงศ์โชซอน ผ่านซีรีส์เกาหลีย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ที่แนะนำให้ไปดู (Part 1/2)
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡