หลายครั้งที่เรามักได้ยินชื่อ ‘อาชีพ’ แปลกใหม่ไม่คุ้นหูจากซีรีส์เกาหลี ไม่ว่าจะเป็น ‘ผู้ตรวจการลับ’ จาก Royal Secret Agent ในปี 2020, ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกวาดทำความสะอาดสถานที่เกิดเหตุ’ จาก Move to Heaven และ ‘เรนเจอร์’ จาก Jirisan ในปี 2021 ส่วนในปี 2022 นี้ เราขอพาคอซีรีส์ทุกคนไปรู้จักอาชีพ ‘โปรไฟเลอร์’ จากซีรีส์ Through the Darkness (2022) กัน
Through the Darkness เป็นซีรีส์ที่ตีแผ่เรื่องราวและวิธีการทำงานของ โปรไฟเลอร์ หรือ ผู้วิเคราะห์พฤติกรรมของอาชญากรผ่านวิธีการทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงของ ควอนอิลยง โปรไฟเลอร์คนแรกของประเทศเกาหลีใต้ และสร้างโดยอิงมาจากนิยายเรื่อง 악의 마음을 읽는 자들 ซึ่งคนที่มารับหน้าที่ถ่ายทอดบทบาทนี้ คือ คิมนัมกิล นักแสดงมากความสามารถ ที่เราเองในฐานะแฟนคลับผู้ติดตามมานาน ขอยกให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา
ติดตามซีรีส์ Through the Darkness ได้ที่ <VIU>
ย้อนกลับไปช่วงก่อนปี 2000 ในยุคนั้น กรมตำรวจเกาหลียังใช้การสอบสวนหาคนร้ายด้วยวิธีดั้งเดิม คือการระดมกำลังเหล่าสายสืบหลายร้อยนาย ปูพรมค้นหาทุกซอกมุมของเมือง บ้างก็ใช้วิธีประกาศจับตามสื่อ แม้จะโชคช่วยจนจับคนร้ายเข้าคุกได้ แต่เหตุอาชญากรรมกลับเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีใครเข้าใจเบื้องหลังจิตใจอำมหิตของคนร้าย ปัญหาทั้งหลายจึงไม่เคยถูกแก้ไข ด้วยเหตุนี้ โปรไฟล์เลอร์จึงเป็นความหวังที่จะมาสนับสนุนทั้งในการสืบสวน ให้ตำรวจกำหนดขอบเขตการจับกุมได้ครอบคลุมขึ้น ไปจนถึงจำกัดวงปัญหาที่ส่งผลให้ปีศาจร้ายในสังคมก่อตัว เป็นหน้าที่ที่จะช่วยทั้งคลี่คลายคดีและลดอัตราการเกิดเหตุซ้ำ
ในซีรีส์ Through the Darkness ใช้ฉากหลังเป็นคดีสืบสวน อาชญากรรม และจิตวิทยา โดยหยิบยกคดีจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมาผูกโยงกับกระบวนการทำงานตั้งแต่ขั้นต้น กว่าจะมีการตั้งหน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากร (Criminal Profiling) ขึ้นมา และเล่าถึงความยากลำบากของผู้ที่ทำหน้าที่เข้าถึงวิธีคิดและจิตใจของอาชญากร ว่าการที่ต้องศึกษาและจมอยู่ท่ามกลางอาชญากรรมอันโหดร้าย พวกเขาจะรับมือและดึงตัวตนออกจากสิ่งนั้นได้อย่างไร
หากคุณเคยรับชมซีรีส์สืบสวน-สอบสวน หรือคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดในประเทศเกาหลีใต้ เช่น Signal (2016), Taxi Driver (2021) หรือสารคดีเรื่อง The Raincoat Killer: Chasing a Predator in Korea (2021) รูปคดีและรายชื่อฆาตกรที่ปรากฏอยู่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นจริง ได้กลับมาปรากฏอยู่ในซีรีส์ Through the Darkness อีกครั้ง โดยเป็นการเล่าผ่านมุมมองการวิธีวิเคราะห์ทางพฤติกรรมและจิตวิทยาของโปรไฟเลอร์ ตั้งแต่การวิเคราะห์วิธีคิด การดำเนินชีวิต ไปถึงขั้นความหลังฝังใจ อันเป็นเหตุที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นปีศาจ
ในมุมหนึ่ง ซีรีส์ Through the Darkness ถ่ายทอดความน่าติดตาม ตามแบบฉบับซีรีส์สืบสวนได้เป็นอย่างดี ส่วนอีกมุม ความรู้สึกพิเศษที่เกิดขึ้นควบคู่กันกลับเป็นความสงสารและเห็นใจที่เรามีต่อทั้งฆาตกร เหยื่อ ญาติผู้สูญเสีย ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เหตุที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ส่งต่อความรู้สึกเพิ่มเติมมาถึงผู้ชม อาจเป็นเพราะในสื่ออื่น ๆ เรามักได้ชมภาพของฆาตกรในมุมที่รุนแรง หรือไม่ก็โดนสังคมตัดสินโทษว่า เขาคือคนผิดที่ไม่สมควรได้รับการให้อภัย แต่กับ Through the Darkness ซีรีส์จะพาเราย้อนกลับไปดูภูมิหลังอันเจ็บปวด กว่าที่เด็กชายไร้เดียงสาคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมา ทั้งสังคมที่โหดร้าย ผู้ใหญ่รอบกายที่ไร้ความปรานี รวมไปถึงการไม่มีใครอยู่เคียงข้าง ทั้งหมดล้วนส่งเขา ‘เลือก’ ทำร้ายคนบริสุทธิ์ แม้จะรู้ว่าสุดท้ายต้องลงเอยกับชีวิตที่สูญสิ้นอิสรภาพก็ตาม ดังเช่นข้อขบคิดของ ซงฮายอง ที่ว่า
“ไม่รู้ว่าเพราะโลกนี้ให้กำเนิดปีศาจ หรือโลกนี้ต่างหากที่สร้างปีศาจขึ้นมา”
ซงฮายอง (รับบทโดย คิมนัมกิล) เติบโตมาในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว แม้เขาจะได้รับความรักและการเอาใจใส่จากแม่เป็นอย่างดี แต่นั่นกลับไม่สามารถทลายกำแพงความเฉยชาที่เขามีต่อโลกใบนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็ก ส่งผลให้เด็กชายผู้มองทะลุจิตใจของผู้อื่นได้ดีเป็นพิเศษ เติบโตมาด้วยการแสร้งทำเป็นมองข้ามปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว แต่แท้จริงข้างใน เขากลับเจ็บปวดและพยายามต่อสู้กับความรู้สึกผิดที่มากกว่าใคร ๆ อยู่เสมอ
ซงฮายองเริ่มต้นชีวิตข้าราชการด้วยตำแหน่ง ‘สายสืบ’ ซึ่งแน่นอนว่าเขาปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เขาขึ้นชื่อเรื่องความพยายามในการตามจับคนร้าย โดยใช้วิธีเอาตัวเองลงไปเกี่ยวข้อง และสืบหาหลักฐานพยานแวดล้อมอย่างไม่มีตกหล่น แม้ว่าบางครั้งวิธีทำงานของเขาจะถูกมองว่าเป็นการล้ำเส้นเพื่อนในทีมไปบ้าง แต่เมื่อซงฮายองหยิบยกความรู้สึกผิดที่มีต่อ ‘เหยื่อ’ เป็นที่ตั้ง ก็ไม่มีอะไรสามารถขัดขวางความมุ่งมั่นของเขาได้
และเมื่อเริ่มมีการจัดตั้ง หน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากร ขึ้นมา ซงฮายองที่มีผลงานเข้าตาจึงได้เข้ามาร่วมทีม และมีโอกาสสนับสนุนทีมสายสืบให้ไขคดีดังระดับประเทศมากมาย ตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นจริงและมีการหยิบมาเล่าในซีรีส์ ได้แก่
คดียูยองชอล
ฆาตกรต่อเนื่องที่ก่อเหตุในช่วงปี 2003 – 2004 เริ่มต้นจากการฆ่าผู้สูงอายุและคนรวย เพราะความคับแค้นวัยเด็ก ประกอบกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทำให้ชีวิตของเขายากลำบาก เมื่อเริ่มมีตำรวจตามล่า เขาจึงเปลี่ยนรูปแบบการฆาตกรรมโดยมุ่งเป้าไปที่โสเภณี เพราะเป็นกลุ่มคนที่ต่อให้หายไปก็จะไม่มีใครออกตามหา สุดท้ายยูยองชอลถูกจับกุมและยอมรับสารภาพ พร้อมทั้งชี้จุดที่นำชิ้นส่วนเหยื่อไปฝัง ความน่ากลัวและโหดร้ายของคดีนี้ก็คือ เขาศึกษาเรื่องกายวิภาคมนุษย์จนเชี่ยวชาญ ถึงขั้นเอาฟิล์มเอกซเรย์ของตัวเองมาเป็นแบบ เพื่อจัดการหั่นและทำลายศพให้สมบูรณ์แบบที่สุด
คดียูยองชอลถือเป็นคดีดังที่สะเทือนขวัญและได้รับการเล่าผ่านซีรีส์ สารคดี รวมถึงภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น สารคดี The Raincoat Killer: Chasing a Predator in Korea (2021) ทาง Netflix และภาพยนตร์ The Chaser (2008)
คดีจองนัมกยู
ฆาตกรต่อเนื่องผู้ปลิดชีวิตเหยื่อไปได้มากถึง 13 ศพ และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 20 ราย ในช่วงปี 2004 – 2006 เขาปรับเปลี่ยนวิธีฆ่าให้รุนแรงมากขึ้น และทรมานเหยื่อยิ่งขึ้นเพื่อสนองสุขของตนเอง แต่หนึ่งสิ่งที่ปรากฏในทุกครั้งของการลงมือ คือเขาจะทำร้ายเหยื่อในที่ที่มีแสงไฟส่อง เพื่อจะได้มองดูความทรมานของเหยื่อไปในระหว่างลงมือ เมื่อถูกจับกุม จองนัมกยูไม่แสดงความรู้สึกผิดหรือละอายต่อการกระทำของตนแม้แต่น้อย และเมื่อทีมพิสูจน์หลักฐานไปค้นบ้านของเขา นอกจากจะพบอาวุธสังหารแล้ว ยังได้พบกับสมุดบันทึกวิธีดูแลสุขภาพ ที่ระบุทั้งอาหาร วิธีออกกำลังกาย ไปจนถึงวิธีทรมานเหยื่อที่เขาศึกษาทั้งจากหนังสือ ภาพยนตร์ หรือแม้แต่ข้อมูลการสืบสวนของฆาตกรรายก่อนหน้า ทั้งนี้เขาให้การว่า ทั้งหมดทำไปเพราะจะได้มีชีวิตยืนยาวและฆ่าคนได้อีกเยอะ ๆ
คดีจองนัมกยูเคยปรากฏอยู่ในซีรีส์เรื่อง Taxi Driver (2021)
คดีคังโซฮุน
ฆาตกรต่อเนื่องที่ก่อเหตุในช่วงปี 2005 – 2008 ความโหดร้ายของชายคนนี้มีทั้งการข่มขืน ฆ่า และวางเพลิง แต่ข้อแตกต่างจากฆาตกรสองคนก่อนหน้าคือ เขาล่อลวงเหยื่อที่เป็นหญิงวัยตั้งแต่ 19 – 52 ปีด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดีมีระดับ เช่น การใช้รถหรู และวางรูปของตนคู่กับสุนัขไว้ในรถเพื่อหลอกให้เหยื่อตายใจ แม้วิธีการลงมือจะทารุณ และระยะเวลาในการก่อเหตุแต่ละคดีก็ห่างกันไม่นาน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่สามารถจับกุมเขาได้ ถึงขนาดที่คังโซฮุนเคยทิ้งศพไว้แบบไม่ฝัง จนในที่สุดคังโซฮุนก็ถูกจับกุมได้ในปี 2009 และถูกตัดสินโทษประหารชีวิต
เชื่อว่าแฟน ๆ คอซีรีส์สืบสวนสอบสวน น่าจะเคยได้รับชมการนำคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญข้างต้น มาเล่าผ่านรูปแบบและมุมมองต่าง ๆ กันบ้างแล้ว พอมาถึงในซีรีส์ Through the Darkness คดีเหล่านี้ จะถูกการเล่าในมุมการทำงานของ โปรไฟเลอร์ ด้วยการวิเคราะห์ลงลึกไปยังเบื้องลึกจิตใจที่มีผลต่อพฤติกรรมของฆาตกร นำเสนอผ่านกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงไปถึงการร่วมสืบสวนพร้อม ทีมสายสืบ และการลงพื้นที่ร่วมกับ หน่วยพิสูจน์หลักฐาน
ที่สำคัญ นอกจากความเข้มข้นในมุมการตามหาตัวคนร้าย พร้อมกับหาหลักฐานมัดตัวแล้ว ประเด็นเรื่องการดูแลรักษาสภาพจิตใจของ ‘คนทำงาน’ ที่ต้องคลุกคลีอยู่กับสารพัดความโหดร้ายที่ฆาตกรทำเอาไว้ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนดูอย่างเรา ๆ ตามลุ้นตามเชียร์ให้ ซงฮายอง เอาชนะสิ่งเหล่านั้น ดึงตัวเองออกมาสู่โลกความเป็นจริงให้ได้ และอย่าเผลอตัวเผลอใจกลายเป็นปีศาจไปอีกคนเช่นกัน
จุดหนึ่งที่เราประทับใจมาก ๆ ในซีรีส์เรื่องนี้ คือการเฉลยที่มาว่า ทำไมโปรไฟล์เลอร์ถึงแต่งตัวจัดเต็มทั้งใส่สูท ผูกเน็กไท ก่อนจะเข้าไปสัมภาษณ์ผู้ต้องหา ที่ครั้งหนึ่งเคยก่อเหตุสะเทือนขวัญอันไม่น่าให้อภัย นั่นเป็นเพราะว่า ไม่ว่าเขาจะเคยทำความชั่วร้ายมามากแค่ไหน สุดท้ายแล้วมนุษย์ทุกคนก็ต้องการการให้เกียรติ การให้คุณค่า และยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ไม่ว่า ณ ขณะนั้น คนร้ายจะกลับตัวกลับใจ และสำนึกในการกระทำของตนเองได้หรือไม่ก็ตาม
นอกจากรับชมกระบวนการกว่าจะมาเป็นโปรไฟเลอร์ หรือหน้าที่ซึ่งเป็นความหวังของกระบวนการสืบสวนของประเทศเกาหลีผ่านซีรีส์แล้ว คิมนัมกิล ยังได้ชวน ควอนอิลยง โปรไฟร์เลอร์คนแรกตัวจริงมาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานของเขาอีกด้วย
ใครสนใจสามารถรับชมได้ที่คลิปด้านล่างนี้ได้เลย
ติดตามซีรีส์ Through the Darkness ได้ที่ <VIU>
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡