ใครที่ตามวงการซีรีส์-ภาพยนตร์เกาหลี มาหลายๆ ปี สังเกตเหมือนกันมั้ยคะว่า ช่วง 1-2 ปีมานี้กระแสซีรีส์เกาหลีคึกคักสุด ๆ จากที่หลายปีก่อนจะซื้อนิตยสารหรือมีรูปดาราเกาหลี ก็ต้องแอบ ๆ ไม่ให้เพื่อนรู้เดี๋ยวจะโดนแซวว่า “บ้าเกาหลี” (ซึ่งพอมาคิดในวันนี้ก็รู้สึกขำว่า บ้าเกาหลีแล้วมันยังไง วันนี้คนที่แซวยังนั่งดูซีรีส์เกาหลีเลย) กระแสระลอกใหญ่ปีนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย หรือในเอเชีย แต่คลื่นฮันรยูเวฟ ยังโหมกระหน่ำไปทั่วโลกอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Squid Game ที่ขึ้นแท่นซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกทาง Netflix , ภาพยนตร์ Parasite ขึ้นรับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสก้าร์ 2020 หรือซีรีส์ Hellbound ก็มีโอกาสได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต ในรายการ “เมาท์เกาเมาท์กัน” Ep.3 ทาง YouTube ช่อง Netflix Thailand พี่ลูกหว้า bluesherbet กับน้องซอฟ Korseries ได้พาแฟนซีรีส์เกาหลีไปเมาท์มอย ไข 5 รหัสความสำเร็จที่ทำให้ซีรีส์เกาหลีไปไกลระดับโลกมาแล้ว แต่มีคนบอกว่ายังไม่จุใจ วันนี้เราเลยมีบทความภาค Spin-Off เก็บตกและล้วงลึกกันให้หนำใจไปเลยค่ะ
รหัส 1 : ซีรีส์เกาหลีกับบทปังๆ
มีหลายปัจจัยเลยที่ “ตก” คนเข้าสู่วงการซีรีส์เกาหลี บางคนก็สะดุดตาความหล่อความสวยนักแสดง บางคนก็อยากสัมผัสบรรยากาศเมืองหนาวหิมะปุยๆ แต่ถ้าลองได้เข้าวงการนี้ซักพักหนึ่งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คุณอาจถามถึงเวลาเห็นซีรีส์เรื่องใหม่ก็คือออ “เรื่องนี้ใครเขียนบทอ่ะ?” ซีรีส์เกาหลีให้ความสำคัญกับการเขียนบทมาก ๆ ค่ะ โดยนักเขียนจะทำงานเป็นทีม มีการรีเสิร์ชข้อมูลอย่างเข้มข้น ซึ่งถ้าเป็นซีรีส์แนวอาชีพ เช่น การแพทย์ กฎหมาย ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมเขียนบทและช่วยกำกับในกองเลย เราจะเห็นว่า ซีรีส์บางเรื่องได้นักแสดงระดับแม่เหล็กมารับบทนำ แต่ดูไปดูมาเรตติ้งกลับน้อยลง เพราะบทไม่สนุกก็มี กลับกัน ซีรีส์บางเรื่องได้เรตติ้งสูงมากกก จากคำบอกเล่าปากต่อปากว่าพล็อตอย่างเจ๋ง ยิ่งถ้าเป็นซีรีส์ที่ได้นักเขียนบทชื่อดังมาร่วมงานด้วยแล้ว คนก็ตั้งตารอดูโดยไม่สนเลยว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร หรือดาราคนไหนแสดงนำ เพราะเชื่อใน “รสมือ” คนเขียนบท อะไรแบบนี้จะเรียกว่าเป็น “โอมากาเสะ” ของจักรวาลซีรีส์เกาหลีก็ได้นะคะ
พูดถึง “ภาพจำ” ของซีรีส์เกาหลีในอดีต ก็คงหนีไม่พ้นซีรีส์โศกนาฏกรรมรัก ที่จบด้วยการตายจากกัน ถัดมาอีกก็เป็นยุคนางเอกแก่นเซี้ยวแสนซน ซึ่งซีรีส์แนวที่ว่าก็ยังหาดูได้ในยุคนี้นะ แต่ว่ายุคนี้มีซีรีส์ให้เลือกหลากหลายมากขึ้น จนบางทีเราก็อดขนลุกไม่ได้ว่า แนวทางการเขียนบทของเค้าก้าวหน้าจริง ๆ ซีรีส์เรื่องหนึ่งที่เราชมแล้วชมอีกในปีนี้ก็คือ D.P ที่เล่าเรื่องราวของหน่วยตามล่าทหารเกณฑ์หนีทัพ อย่างเข้าอกเข้าใจสถานการณ์ประเทศค่ะ โดยตอกย้ำอีกมุมหนึ่งว่า ถ้าการเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้มี “มนุษยธรรม” อย่าสร้างปีศาจในค่ายทหารรุ่นต่อรุ่นเลย หรือซีรีส์อย่าง Move To Heaven ก็เผยภาพให้เห็นชีวิตผู้คนที่อยู่ตามลำพัง กดดันกับหน้าที่การงาน หรือเป็นผู้สูงวัยที่ถูกทอดทิ้งและตายอย่างโดดเดี่ยวในห้อง ซีรีส์เรื่องนี้ก็จะพาผู้ชมไปฟัง “ความในใจจากศพ” ที่ไม่เคยได้ยินจากที่ไหน , Hellbound ก็เป็นซีรีส์ทริลเลอร์เหนือธรรมชาติ ซึ่งตั้งคำถามเรื่องลัทธิความเชื่อ ที่ฝังรากและกัดกินสมองคนเกาหลีในสังคมจริงๆเช่นกัน และนอกจากจะมีซีรีส์ตีแผ่สังคมแล้ว ซีรีส์เกาหลีก็ยังตั้งคำถามกับสังคมในประเด็นที่ก้าวหน้า อย่าง LGBTQ และเฟมินิสต์อย่างเช่นในซีรีส์ Mine และ Run On ซึ่งในเกาหลี การผลักดันเรื่องนี้ดูเหมือนจะยากเย็น แต่วงการซีรีส์ก็เลือกที่จะยืนหยัดอยู่ข้างมนุษยธรรม
นอกจากนี้จะเห็นว่าเกาหลีใช้ซีรีส์หลายๆ เรื่อง กรุยทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น Start Up หรือ Itaewon Class ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวยุคใหม่หันมาลงทุน หลังคนเกาหลีหมดไฟกับการทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทยักษ์ใหญ่ , Hospital Playlist ทำให้ยอดบริจาคอวัยวะในเกาหลีเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 11 เท่า และยังมี Law School ทำให้สังคมกลับมาฉุกคิดอีกครั้งว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ มีความเที่ยงธรรมสำหรับทุกคนหรือเปล่า
มารู้จักนักเขียนบทคนดังของเกาหลี
- คิมอึนซุก – เจ้าแม่ซีรีส์ฟินจิกหมอน
ผลงานซีรีส์ : Secret Garden , Descendants of the Sun , Goblin , Mr.Sunshine , The King : Eternal Monarch
- คิมอึนฮี – เจ้าแม่ซีรีส์ระทึกขวัญ
ผลงานซีรีส์ : Signal , Kingdom
- ฮงจองอึน+ฮงมิรัน (ฮงซิสเตอร์) – เจ้าแม่ซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้ ที่ชอบดัดแปลงนิทานพื้นบ้าน
ผลงานซีรีส์ : You’re Beautiful , Master’s Sun , A Korean Odyssey , Hotel Del Luna
รหัส 2 : นักแสดงที่ไม่ยึดติดกับบทบาทเดิมๆ
พาดหัวข่าวบันเทิงบ้านเรา เรียกนักแสดงว่า “พระเอก” “นางเอก” “นางร้าย” เป็นเสมือน “ยี่ห้อ” ที่ติดตัวคนนั้นๆ ไปเลย เดบิวต์เป็นนางเอกก็ต้องรับบทคนดีตลอด เดบิวต์เป็นนางร้ายจะเล่นบทคนดีก็มีคนบอกไม่ชิน แต่นักแสดงเกาหลีนั้นถูกเรียกเหมือนๆ กันว่า “แพอู” (배우 : นักแสดง) เพราะคำจำกัดความทางภาษาแบบนี้ด้วยมั้ง นักแสดงเกาหลีก็เลยไม่ยึดติดกับบทบาท หลายครั้งเราจะเห็นนักแสดง “แปลงร่าง” จนน่าตกใจ ชนิดที่ไม่บอกไม่รู้เลยค่ะว่าคนเดียวกัน อย่างเช่น ยูอาอิน ที่รับบทบาทผู้นำลัทธิสัจธรรมใหม่ใน Hellbound ก็เป็นคนเดียวกับเกมเมอร์ผมทองที่หนีซอมบี้ในภาพยนตร์ #ALIVE , อีจองแจ คุณลุงมอซอที่เข้าร่วมแข่งขัน Squid Game ก็คือพระเอกสุดหล่อสูทเนี้ยบในซีรีส์ Chief of Staff , หรือจะ ฮันโซฮี เจ้าของบทบาท ยูนาบี หญิงสาวผู้หวั่นไหวไปกับอารมณ์รัก ใน Nevertheless ก็ยังพลิกบทบาทมาเป็นสาวนักสู้ใน My Name
ปกติถ้าพูดถึง “ซีรีส์/ละคร” แล้ว หลายคนอาจมีคอนเซ็ปต์ว่าเป็น Love Story ความรักของหนุ่มสาวใช่ไหมคะ ซึ่งช่วงวัยที่กำลังผลิบานที่สุดของการมีความรักก็คงไม่พ้นช่วง 20-30 ปี หากนางเอกอายุมากกว่านั้นก็จะเป็นพล็อต “พานางลงจากคานทอง” หรือไม่ก็ “สามีมีเมียน้อย” ซึ่งก็นั่นแหละค่ะ แต่อย่างที่บอกไปในข้อ 1 ว่าซีรีส์เกาหลีมีพล็อตที่หลากหลายมาก อาจจะไม่เกี่ยวกับความรักเลยก็มี หรืออาจจะเน้นเรื่องราวชีวิตหน้าที่การงาน แล้วมีความรักเป็นน้ำจิ้มเสริมก็ได้ เมื่อ Jailbreak ตรงนี้สำเร็จ เราก็จะเห็นว่าซีรีส์เกาหลีมีนักแสดงนำในหลายช่วงอายุเลยค่ะ ตั้งแต่หนุ่มน้อย ม.ต้น ใน Racket Boys ไปจนถึงเรื่องราวของคุณปู่คุณย่า ใน Dear My Friends หรือการเรียนรู้ของคนต่างวัยใน Navillera ความที่นักแสดงนำเกาหลีมี Range อายุกว้าง ก็ทำให้มีช่วงเวลารับบทนำได้นาน เราจะเห็นฝีมือการแสดงที่เคี่ยวกรำเป็นอย่างดีของเหล่าดาวค้างฟ้า ไม่ว่าจะ คิมฮีแอ นางเอกตลอดกาล ในซีรีส์ The Worlds of Married Couple , อียองแอ คุณแม่แดจังกึม ที่กลับมารับซีรีส์ Inspector Koo , โคฮยอนจอง เจ้าแม่เรตติ้งตลอดกาล กับซีรีส์ Reflection of You , คิมฮเยซู นักแสดงเจ้าบทบาทใน Hyena , คิมมยองมิน ดาราสุดเก๋ากับบทบาทอาจารย์กฎหมาย ใน Law School หรือถ้าปังยกแก๊งเลย ก็ต้องยกให้เหล่าคุณพ่อคุณแม่ ในซีรีส์ SKY Castle และ The Penthouse ค่ะ เชือดเฉือนอารมณ์กันแบบฟาดได้ฟาด
นักแสดงเกาหลีไม่มีระบบ “คู่ขวัญ” นะคะ เพราะพวกเขาสังกัดเอเยนซี่ ไม่ได้สังกัดช่อง เมื่อได้รับข้อเสนอก็จะไปแคสติ้งบท และเวียนเล่นได้ทุกช่อง ซึ่งการมาถึงของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ อย่างเช่น Netflix ก็เปิดโอกาสการรับงานของพวกเขาให้กว้างขึ้นไปอีก เราจะเห็นนักแสดงที่ปกติรับงานภาพยนตร์เป็นหลัก อาทิ กงยู , อีจองแจ , อีบยองฮอน , ยูอาอิน , โจซึงอู , แบดูนา , คิมแทริ ฯลฯ รีเทิร์นมารับงานซีรีส์ เพราะโปรดักชั่นและบทโดนใจ แถมฉายที่เดียวก็ยังโปรโมตได้ไกลทั่วโลกไม่ต่างจากงานภาพยนตร์ หรือแม้แต่เจ้าแม่ละครเวที จอนมีโด ก็ยังอดใจไม่ไหว ขอมาชิมลางซีรีส์เรื่องแรกในชีวิต Hospital Playlist
มารู้จัก นักแสดงสมทบรุ่นใหญ่แปลงร่างเก่ง
- คิมแฮซุก เจ้าของฉายา “คุณแม่แห่งชาติ”
ผลงาน : คุณย่า Start Up , คุณแม่หมอจองวอน Hospital Playlist , ผู้อำนวยการยง Inspector Koo
- คิมยองอ๊ก เจ้าของฉายา “คุณย่าแห่งชาติ”
ผลงาน : แม่พระเอก Squid Game , คุณยายกัมรี Hometown Cha-Cha-Cha , โนซังกุง The King : Eternal Monarch (หมายเหตุ : ได้ฉายาคุณย่าแห่งชาติเพราะเล่นเป็นคุณย่ากงยู ในซีรีส์ Coffee Prince)
- คิมซอนยอง นาตาชาฝ่ายหญิง (ปลอมตัวเก่งสุดดด)
ผลงาน : เจ๊คิ้วเขียว When The Camellia Blooms , เจ๊ร้านไก่กระสุน Vagabond , ชาวบ้านเกาหลีเหนือ Crash Landing on You , แม่ซอนอู Reply 1988
- ยูแจมยอง นาตาชาฝ่ายชาย
ผลงาน : ประธานชางกา Itaewon Class , พ่อนางเอก Vincenzo , พ่อดงรยง Reply 1988 , อัยการอีชางจุน Stranger
รหัส 3 : วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ที่สมจริง
องค์ประกอบเล็กๆ อันหนึ่งที่รู้สึกว่ามันทำให้การรับชมซีรีส์เกาหลีมีอรรถรสมาก ๆ เลย ก็คือ ฉากที่กินอาหารอย่างจริงจังค่ะ นางเอกซีรีส์เกาหลีแทบไม่เห็นใครบ่นว่าอยากไดเอ็ตเลยใช่มั้ยคะ แถมการกินของเค้าก็ดูเอร็ดอร่อยและเรียลมากๆ ด้วย ดูแล้วก็อยากตามรอยของกินหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น สารพัดของกินหลังเลิกเรียนของเด็กๆ Racket Boys เมนูคุณหมอใน Hospital Playlist หรือจะเป็นเมนูของกินยามราตรีใน Itaewon Class และ Mystic Pop Up Bar
ช่วงที่ผ่านมา มีซีรีส์เรื่องนึงที่ขายที่กินที่เที่ยวหนักมากกก นั่นก็คือ Hometown Cha-Cha-Cha ค่ะ ดูแล้วอยากกินซีฟู้ด แต่ในซีรีส์บอกว่า ซีฟู้ดสด ๆ ต้องกินตอนจับขึ้นมาจากทะเลเลย เห็นมั้ยคะว่าไม่ใช่แค่ของกินอย่างเดียว ซีรีส์เกาหลียังกระตุ้นการท่องเที่ยวไปอีก อะไรแบบนี้มีให้เห็นมา 20 ปีแล้วนะคะ อย่างเช่นซีรีส์ในตำนาน Winter Love Song ก็ทำให้คนอยากไปเที่ยวเกาะนามิหน้าหนาว (ซึ่งก่อนหน้านั้น เกาะนามิยุค 80-90 เคยขึ้นชื่อเรื่องเทศกาลดนตรีฤดูร้อน) อันนี้ก็เหมือนกันค่ะ ปกติพอคิดถึงทะเล คนเกาหลีก็อยากไป ปูซาน คังวอนโด เกาะเชจู แต่ซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha กับ When the Camellia Blooms กระตุ้นให้คนอยากไปเที่ยว “ทะเลเมืองโพฮัง” ส่วน Hotel Del Luna กับ Do Do Sol Sol La La Sol ก็ถ่ายทำที่เมืองมกโพ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ยิ่งช่วงนี้ Social Distancing แยกกันไปเที่ยวไม่กระจุกตัว ดีที่สุดเนอะ
อีกสาเหตุที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ในซีรีส์เกาหลีดูสมจริง ก็เพราะระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนเกาหลีด้วยละค่ะ เกาหลีมีรถไฟใต้ดินเชื่อมต่อไปถึงจังหวัดใกล้เคียง และมีรถไฟใต้ดินในทุกหัวเมืองใหญ่ รถไฟความเร็วสูงก็มี รถเมล์ก็มีทุกที่ไม่เว้นเขตชนบท ทางเท้าก็ดี สัญญาณไวไฟฟรีก็มีให้ใช้ มีสวนสาธารณะน่าเดินเล่น มีแม้กระทั่งนิทรรศการศิลปะติดตามเสา ดูแล้วก็เกิดความรู้สึกอยากลองไปใช้ชีวิตแบบนั้นบ้าง อย่างน้อยๆ รถเมล์สะอาดและตรงเวลาก็ดีใจจะแย่แล้ว
รหัส 4 : โปรดักชั่นปังจริง ไม่จกตา
ต้นปีมีซีรีส์ดังเรื่องนึงคือ Vincenzo ดูเผินๆ ก็เป็นซีรีส์แนวตลก เปิดเรื่องมาก็เล่าถึงปูมหลังพระเอก ว่าเคยเป็นที่ปรึกษาแก๊งมาเฟียอิตาลี ก็ถ่ายทำที่อิตาลี ฉากหลังเป็นทุ่งนาสุดลูกหูลูกตาในอิตาลี เดินผ่านสถาปัตยกรรมชื่อดังในอิตาลี อืมๆๆ ก็เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนอิตาลีไง ก็เลยถ่ายทำในอิตาลี แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ!!! ช่วงที่ถ่ายทำโควิดกำลังระบาดหนัก แล้วจะยกกองไปถ่ายทำในอิตาลีได้ไง พอรู้เฉลยก็ถึงกับอึ้งว่า เขาเอาผ้ากรีนสกรีนขนาดใหญ่เท่าตึกคลุมไว้ แล้วใส่ CG ลงไป คุณหลอกดาว!! อิตาลีทิพย์!!! นี่ขนาดซีรีส์แนวขายความฮา CG ยังอลังการขนาดนี้ แล้วซีรีส์แนวไซไฟจะอลังการขนาดไหน
ก็ต้องพูดถึงผลงานอีกเรื่องของ ซงจุงกิ ในภาพยนตร์ Space Sweeper ค่ะ เนื้อหาเกี่ยวกับคนในยุคอนาคตที่ต้องย้ายไปอยู่บนดาวดวงอื่น เป็นครั้งแรกเลยที่เราได้เห็น “อวกาศ” ในจินตนาการของคนเกาหลี มีการใช้เทคนิคการถ่ายทำแพรวพราว แถมยังมี Easter Egg เด็ดด้วยนะคะ ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่า ภายใต้เจ้า “หุ่นกระป๋อง” นั้น มีนักแสดงชื่อดังซ่อนอยู่ เขาก็คือคุณ ยูแฮจิน เป็นการสร้างตัวละครด้วยวิธี Motion Capture หรือจะเป็นบท “ทูตสวรรค์แจ้งประกาศิตคนบาป” ในซีรีส์ Hellbound ก็มีสาวน้อยคนเก่ง จองจีโซ แสดงบทนี้โดยใช้เทคนิค Motion Capture เช่นกัน (ใครที่ไม่คุ้นชื่อ จองจีโซ น้องคือคนที่เล่นเป็นลูกสาวบ้านคนรวย ในภาพยนตร์ Parasite นั่นเองค่ะ) ซึ่งใครที่อยากดูงาน CG แนวปังๆ แนวอวกาศ เร็วๆ นี้ Netflix ก็จะมีซีรีส์ The Silent Sea มาให้ดูกัน ขนทีมนักแสดงซุปตาร์มาเพียบ ตั้งแต่ แบดูนา , กงยู และ อีจุน
กลับกันซีรีส์บางเรื่องเหมือนจะแฟนตาซี แต่ผู้กำกับกลับตั้งใจใช้ CG ให้น้อยที่สุดซะงั้น ใช่แล้วเรากำลังพูดถึง Squid Game ค่ะ อย่างฉากบันไดทางเดินสีขาว ก็เป็นฉากที่เซ็ตขึ้นมาจริงๆ อีกฉากที่เราชอบมากๆ คือ ตอนแข่งเกมลูกแก้ว ที่เค้าเนรมิตโรงถ่ายให้เหมือนละแวกบ้านสมัยก่อน (คล้ายย่านซังมุนดง ในซีรีส์ Reply 1988) โจทย์คือ ต้องสร้างฉากให้เหมือนกลางแจ้ง แต่ก็ต้องทำให้รู้สึกว่าจัดฉากไว้ในร่ม ต้องมีแสงอาทิตย์อยู่ในฉากที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยม ต้องทำให้ดูสมจริง แต่ก็ปลอมด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ทำให้เห็นว่า ใช่เพียงแต่งาน CG ที่เกาหลีจริงจัง แต่งานฉากจริงๆ ก็ทำออกมาได้อย่างปังปุริเย่ ต้องชื่นชมทั้งเรื่องการจัดแสง การเลือกคู่สี ไปจนถึงเพลงที่ใช้ประกอบ บิลด์อารมณ์ได้ดีเหลือเกินค่ะ
รหัส 5 : การสนับสนุนจากรัฐบาล
ช่วงที่เกาหลีใต้อยู่ถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ กำลังใจของคนทำงานบันเทิงก็ฝ่อไปเหมือนกันนะคะ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎกำหนดให้โรงภาพยนตร์ฉายหนังเกาหลีมากกว่าหนังฮอลลีวู้ด แต่หนังที่ทำออกมาส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นแนวปลุกใจรักชาติ ก็เลี่ยงไปทำหนังเรตอาร์ปลุกใจเสือป่าไปเลย แต่หลังจากที่เกาหลีใต้ได้ประชาธิปไตยเต็มใบ วงการภาพยนตร์เกาหลีก็เฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ แต่ไปควบคุมการกำหนดเรตอายุผู้ชมอย่างจริงจังแทน นั่นเท่ากับว่าผู้ผลิตมีอิสระในการทำผลงาน นอกจากนี้รัฐยังส่งเสริมให้ภาพยนตร์เกาหลีไปไกลถึงเวทีโลกค่ะ อย่างภาพยนตร์ Parasite มีเนื้อหาเปิดเปลือยความเหลื่อมล้ำของคนจนในกรุงโซลแท้ๆ แต่รัฐก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร หนำซ้ำพอได้รางวัลจากเวทีออสการ์ รัฐบาลก็ยังรับลูกต่อ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย “ห้องเช่ากึ่งใต้ดิน” ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย
เราชอบความที่ผู้ผลิตซีรีส์/ภาพยนตร์เกาหลี พากันเปิดให้เห็นช่องโหว่ในสังคม และรัฐบาลก็ไม่ดูดาย ไม่ดุด่าคาดโทษ ทั้งยังลงมือแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปีนี้ก็คือ D.P เพราะหลังจากซีรีส์ออนแอร์ไป ก็มีประกาศออกมาว่า ทางกองทัพเกาหลีได้ยกเลิกหน่วย D.P เนื่องจากขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน (ซึ่งทางกองทัพเกาหลีแจ้งว่า ต้องการยกเลิกหน่วย D.P มาระยะหนึ่งแล้ว แต่มีผลบังคับใช้คาบเกี่ยวในช่วงที่ซีรีส์ออนแอร์พอดี) ส่วนตอนนี้ก็กำลังแอบคิดๆ อยู่ว่า ผลพวงความดังระเบิดของซีรีส์ Squid Game กับ Hellbound จะสร้างแรงกระเพื่อมรัฐบาลเรื่องสวัสดิการแรงงานต่างด้าว และมิจฉาชีพในรูปแบบลัทธิเทียมเท็จ ที่มีอยู่เกลื่อนเกาหลีมั้ยหนอ นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีก็ยังมีหน่วยงาน KOCCA (Korea Creative Content Agency) ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ ซีรีส์ KPOP เว็บตูน ไปจนถึงเกมอีกด้วยค่ะ ความช่วยเหลือเหล่านี้ทำให้เหล่าต้นกล้าบันเทิง เติบโตกลายเป็นไม้ใหญ่ เป็นร่มเงาในการพัฒนาประเทศต่อไป
จะเห็นได้ว่า ซีรีส์เกาหลีปังระดับโลก ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่เสกได้ชั่วข้ามคืนนะคะ หากแต่มาจากความพยายาม สร้างสรรค์ วางแผนเป็นระบบ และการส่งเสริมจากภาครัฐ ส่วนตัวมองว่า ความสำเร็จของซีรีส์เกาหลีในระดับโลกปีนี้ เป็นแค่ปฐมบทเท่านั้นเอง ในปี 2022 และปีถัดๆ ไป ยังมีอะไรเด็ด ๆ ที่รอพวกเราอีกเพียบค่ะ
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡