อย่างที่รู้กันว่า 2 ประเทศใหญ่ในเอเชียอย่างญี่ปุ่น และเกาหลี เป็น 2 ประเทศที่มักจะมีความขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งชนวนความขัดแย้งนั้นจะต้องย้อนไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในปีค.ศ. 1910 ญี่ปุ่นได้เดินหน้าเข้ายึดครองเกาหลีซึ่งกินระยะเวลานานกว่า 35 ปี สร้างความเจ็บปวดและรอยบาดแผลฝังลึกไว้ให้กับชาวเกาหลีมากมายเกินจะประเมินค่า ท่ามกลางการถูกควบรวมประเทศในขณะนั้นก็ได้ก่อกำเนิดวีรบุรุษที่ถูกยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เกาหลี อย่าง ยูกวานซุน อันจุงกึน และ จูชีกยอง 3 บุคคลสำคัญในเหตุการณ์การประกาศอิสรภาพเกาหลี ที่ถูกหยิบขึ้นมาเชิดชูอีกครั้งบนธนบัตรที่ถูกใช้ร่วมกันใน Money Heist: Korea – Joint Economic Area บ่งบอกถึงบาดแผลใหญ่ที่มีร่วมกันของคนเกาหลีที่ไม่ว่าจะเป็นเหนือหรือใต้
ในซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area ฉากหลังการปล้นสุดช็อกโลกได้เกิดขึ้นในพื้นที่สมมติอย่าง ‘เขตเศรษฐกิจร่วม’ (Joint Economic Area) ที่จะมีการสร้าง ‘โรงกษาปณ์คาบสมุทรเกาหลี’ ขึ้นมาเพื่อผลิตเงินสกุลเดียวกันของ 2 ประเทศอย่างเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ซึ่งการผลิตเงินในทุกๆประเทศก็มักจะใช้คนสำคัญ สถานที่สำคัญ ของประเทศนั้นๆให้ขึ้นมาอยู่บน ‘เงิน’ สิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตของมนุษย์ชาติ
ซึ่งภายในเรื่องจะเห็นว่าธนบัตรที่ถูกใช้จะมีรูปร่างหน้าที่แตกต่างไปจากเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ธนบัตรภายในเรื่องเราจะเห็นอยู่ 3 มูลค่าคือ 100,000 วอน 50,000 วอน และ 10,000 โรงกษาปณ์เราจะเห็นส่วนที่
ยูกวานซุน (유관순) โจน ออฟ อาร์กแห่งเกาหลี – ธนบัตร 100,000 วอน
วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1919 หลังจากญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลีได้ 9 ปี ในกรุงโซลก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างดุเดือดเพื่อต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่น โดยการเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีชื่อว่า 1st March of Movement (삼일운동) และในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีแกนนำทั้งหมด 33 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ยูกวานซุน’ เด็กสาวจากโรงเรียนสตรีอีฮวา (ที่ในขณะนั้นโรงเรียนถูกสั่งปิด จากคำสั่งของทางการญี่ปุ่น) ในวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น โดยเธอได้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดหลังจากถูกปล่อยตัวในการชุมนุมที่นัมแดมุน เมื่อกลับมาถึงบ้านเกิดเธอก็ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลายจุดในกรุงโซล จนทำให้เกิดการรวมตัวชุมนุมถึง 3,000 คน
ซึ่งยูกวานซุนได้มีการขึ้นปราศัยต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่นว่า “เกาหลีจะเป็นอิสรภาพ” แต่แล้วทหารญี่ปุ่นกลับเปิดฉากสลายการชุมชนอย่างรุนแรงด้วยการกราดยิงประชาชนจนเสียชีวิตถึง 19 คน รวมไปถึงพ่อและแม่ของยูกวานซุนด้วย ส่วนตัวเธอก็ถูกจับไปคุมขังที่คุกซอแดมุน ในเรือนจำหญิงห้องหมายเลข 8 ในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเธอถูกทรมาณด้วยวิธีต่างๆนับไม่ถ้วน เป็นการบีบเค้นให้เธอซักทอดไปยังผู้ร่วมขบวนการคนอื่นๆ แต่เธอกลับปิดปากเงียบจนร่างกายของเธอไม่สามารถทนต่อการถูกทรมาณได้อีกต่อไป ในวันที่ 28 กันยายน 1920 ยูกวานซุนก็ได้เสียชีวิตลงในวัย 18 ปี และก่อนเสียที่จะชีวิตเธอได้ทิ้งคำสั่งเสียไว้ว่า
“แม้ว่านิ้วของฉันจะหลุดออก จมูกและหูของฉันจะขาดวิ่น แขนและขาของฉันจะหักลง แต่ความเจ็บปวดทางร่างกายนี้ไม่อาจเทียบได้กับความเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียชาติ ฉันเสียใจเพียงอย่างเดียวคือไม่อาจมีชีวิตเพื่ออุทิศให้ประเทศต่อไปได้อีกแล้ว”
เมื่อยูกวานซุนได้เสียชีวิตลง ก็เหมือนเป็นการโหมกระพือความโกรธแค้นของชาวเกาหลี จนทำให้มีการลุกฮือต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่นเป็นระยะ ๆ จนสุดท้ายเกาหลีก็สามารถปลดแอกจากญี่ปุ่นได้สำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม ปีค.ศ. 1945 เรื่องราวของยูกวานซุน ได้มีการนำไปบอกเล่าในภาพยนตร์เรื่อง A Resistance (2019) และได้มีการทำอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูเกียรติของเธอไว้ที่เมืองชอนอันอีกด้วย
อันจุงกึน (안중근) – ธนบัตร 50,000 วอน
อันจุงกึน หนึ่งในผู้นำต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่น ที่มีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้ากองทัพฝ่ายขวาของเกาหลี เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนชอนจู และได้ทำธุรกิจค้าถ่านหินจนประสบความสำเร็จ แต่แล้วในปีค.ศ. 1905 ทางการญี่ปุ่นก็ได้แต่งตั้งให้นายอิโต ฮิโรบูมิ (Ito Hirobumi) มาเป็นข้าหลวงใหญ่คนแรกประจำเกาหลี ซึ่งนโยบายและการกระทำของนายฮิโระบุมิ เต็มไปด้วยความแข็งกร้าวและความโหดร้าย เขาได้ล่มบัลลังก์ของพระเจ้าโคจง (กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โชซอน) สังหารราชินีมยองซองอย่างเลือดเย็น สังหารหมู่ชาวเกาหลีผู้บริสุทธิ์มากกว่า 1 หมื่นคน บังคับเรียนภาษาญี่ปุ่นและอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งนั่นทำให้ชาวเกาหลีไม่พอใจเป็นอย่างมากจนเกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้าน จนนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อขับไล่กองกำลังญี่ปุ่น และอันจุงกึนก็เป็นหนึ่งในขบวนการใต้ดินนี้ด้วยเช่นกัน
เขาได้วางแผนลอบสังหาร นายอิโต ฮิโรบูมิ ที่กำลังจะเดินทางไปที่ฮาร์บินเพื่อเจรจากับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของรัสเซียถึงผลประโยชน์ในแมนจูเรีย ในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1909 อันจุงกึนจึงวางแผนที่จะลอบสังหารนายอิโตลงที่นี่ เพื่อแก้แค้นให้กับประเทศชาติของเขาและเซ่นไหว้ให้กับเหล่าดวงวิญญาณของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ได้เสียชีวิตลงจากการใช้ความรุนแรงของกองกำลังญี่ปุ่น โดยฮันจุงกึนได้ลั่นไกสังหารนายอิโต ฮิโรบูมิ 3 นัดและเขายังได้ลั่นไกใส่กงศุลใหญ่จากญี่ปุ่น คาวากามิ โทชิฮิโกะ, เลขาสำนักพระราชวัง โมริตะ จิโร่ และ นายสถานีรถไฟ ทานากะ เซอิทาโร อีกด้วย
หลังลอบยิงได้สำเร็จ อันจุงกึนก็ได้เปล่งวาทะ “เกาหลีจงเจริญ” เป็นภาษารัสเซีย พร้อมโบกธงชาติ แต่แล้วเขาก็ถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุและถูกประหารชีวิตลงด้วยการยิงเป้าในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1910
การกระทำของอันจุงกึนถือเป็นการกระทำที่ถูกคนเกาหลียกย่องให้เป็น นักต่อสู้เพื่อประเทศอย่างแท้จริง เป็นวีรบุรุษผู้เสียสละ จนทำให้อันจุงกึนได้รับรางวัล Order of Merit for National Foundation ของเกาหลีใต้ในปี 2505
จูชีกยอง (주시경) – ธนบัตร 10,000 วอน
จูชีกยอง หนึ่งในผู้ผลักดันภาษาศาสตร์เกาหลีสมัยใหม่ เขาเกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.1876 ที่จังหวัดฮวังแฮ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเกาหลีเหนือ โดยจูชีกยองได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงโซลในปี ค.ศ. 1887 ด้วยความสนใจในภาษาจีน จึงเป็นแรงจูงใจให้เขาเลือกศึกษาด้านภาษา
โดยจูชีกยองได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำหนังสือพิมพ์ The Independent หรือ Tongnip Sinmun (독립신문) หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของเกาหลี และเขายังทำหน้าที่เป็นผู้สอนภาษาเกาหลีให้กับ Mary F. Scranton มิชชันนารีชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา อีกด้วย
ท่ามกลางการอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ที่มีนโยบายเพื่อลบล้างเอกลักษณ์ประจำชาติเกาหลี ทั้งการไม่ให้ใช้ภาษาเกาหลีในที่สาธารณะ การเพิ่มชั่วโมงการสอนภาษาญี่ปุ่น ลดชั่วโมงการสอนเกาหลี จูชีกยองได้ก่อตั้งสมาคมโครงสร้างภาษาเกาหลีขึ้นในปี ค.ศ. 1897 และสมาคมภาษาเกาหลีในปี ค.ศ. 1908 เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ภาษาเกาหลีไม่เลือนหายไป
การพยายามผลักดันในด้านภาษาของจูชีกยองทำให้เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณสำหรับการสร้างชาติ โดยประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1980 และมหาวิทยาลัยแพแจ ได้สร้างอาคารอนุสรณ์จูชีกยอง เพื่อเป็นอนุสรณ์เชิดชูเกียรติแก่ความพยายามของเขา “เมื่อภาษาก้าวหน้า ประเทศเองก็เช่นกัน และเมื่อภาษาตกต่ำ ประเทศเองก็ไม่ต่าง”
บทความโดย โชว์มีเดอะซีรีส์ สามารถติดตามการวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นต่างๆในซีรีส์และการวิเคราะห์ตอนต่อตอนได้ทางเพจ โชว์มีเดอะซีรีส์
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡