ใครที่เพิ่งรับชมซีรีส์สืบสวน-อาชญากรรม ที่บ้าระห่ำและพลิกล็อกถล่มทลายเรื่อง Mouse จบไป คงจะคุ้นเคยกับศัพท์คำว่า ‘ไซโคพาธ’ (Psychopath) เป็นอย่างดี เพราะในเรื่องเล่าถึงฆาตกรผู้มีความผิดปกติของดีเอ็นเอ ทำให้เติบโตมาเป็นมนุษย์ผู้ล่า และต้องฆ่าคนอื่นเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง ซึ่ง Mouse ก็ไม่ใช่ซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่หยิบยกพล็อตนี้มาใช้ เพียงแต่ให้น้ำหนักและขยี้ปมได้เด่นชัดกว่าเรื่องอื่นมากเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุนี้ เราเลยรวบรวมรายชื่อซีรีส์เรื่องอื่น ๆ ที่ดำเนินเรื่องโดยใช้ความผิดปกติแบบต่อต้านสังคมหรือไซโคพาธ มาเป็นจุดเปิด จุดปิด หรือแม้แต่เพื่อคลายปมให้กับฆาตกรในเรื่องนั้น ๆ เผื่อว่าใครสนใจจะตามไปศึกษาพฤติกรรม หรือเสพความโหด ดิบ เถื่อน ก็เชิญจดไปได้ตามสมควร
เสริมความเข้าใจเกี่ยวกับไซโคพาธสักนิด ไซโคพาธ (Psychopath) เป็นหนึ่งในกลุ่มความผิดปกติของบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยผู้ที่มีภาวะนี้ จะขาดความรู้สึกที่คนปกติทั่วไปพึงมี ได้แก่ ขาดความสำนึกผิด ขาดความเอาใจใส่ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่เกรงกลัวต่อความผิดบาป และต้องการการสนใจจากคนรอบข้างมากเป็นพิเศษ
สาเหตุของภาวะไซโคพาธเกิดได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่
1) จากความผิดปกติของสมองส่วนหน้าและส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อุบัติเหตุทางสมอง พันธุกรรม
2) จากการถูกกระทำที่ส่งกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การถูกทารุณกรรม อาชญากรรม-ความแตกแยกในครอบครัว ไปจนถึงสภาพสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโต
และต้องขอชี้แจงก่อนว่า รายชื่อผลงานต่อไปนี้เป็นการรวบรวมเพียงบางส่วนเท่านั้น หากใครมีฆาตกรไซโคพาธเรื่องไหนอยากแนะนำให้เรารู้จัก ทักมาบอกกันได้เลย
***บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์***
1. Mouse (2021)
เริ่มเรื่องแรกด้วยซีรีส์ที่บทพลิกไปพลิกมา ตีลังกาหลายตลบ ซีรีส์เรื่อง Mouse เปิดเรื่องด้วยการค้นพบวิธีตรวจสอบดีเอ็นเอว่าทารกในครรภ์มีภาวะไซโคพาธ หรือความผิดปกติที่อาจนำสู่การเป็นฆาตกรหรือไม่ ซึ่งจากจุดนั้น ก็นำไปสู่เรื่องวุ่น ๆ และการอำพรางความผิดอีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนสะท้อนว่า การสภาพแวดล้อมที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมานั้น มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรม ความคิด และวิธีที่เขาจะปฏิบัติเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
2. Flower of Evil (2020)
เรื่องต่อไปเป็นซีรีส์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่อย่าง Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 57 มากถึง 5 สาขา ซึ่งหนึ่งในนั้น อีจุนกิ ผู้รับบทเป็น โทฮยอนซู ผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมก็ได้รับการเสนอชื่อในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม สืบเนื่องมาจากการถ่ายทอดบทบาทในเรื่องอย่างไร้ที่ติ โดยเฉพาะฉากที่ผู้ป่วยไซโคพาธอย่างเขาต้องฝึกฝนการใช้ชีวิตเฉกเช่นคนปกติ ทั้งการยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตกับครอบครัวด้วยความอ่อนโยน
ในเรื่องนี้ โทฮยอนซู คือบุคคลต้องสงสัยว่าอาจเป็นคนร้ายในคดีฆาตกรรม เพราะเขามีวัยเด็กที่เป็นปริศนา แถมยังเติบโตมาด้วยพ่อที่เป็นฆาตกรในคดีสะเทือนขวัญชื่อดัง สังคมจึงตั้งคำถามว่า แล้วลูกชายคนเดียวของฆาตกรจะรอดพ้นการเป็นปีศาจไปได้อย่างไร
3. Voice (2017)
ถ้าถามถึงฆาตกรที่เป็นไซโคพาธ โมแทกู (รับบทโดย คิมแจอุค) จาก Voice (2017) ซีซั่นแรกคือคนแรก ๆ ที่เรานึกถึง ด้วยปูมหลังที่ส่งผลให้เด็กชายคนหนึ่งกลายเป็นคนผิดปกติ ประกอบกับการแสดงแสดงที่ดูกี่ทีก็หลอนตาม แต่การแสดงสมบทบาทมาก ๆ นี้ กลับทำให้คิมแจอุคต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังแสดงฉากที่ต้องฆ่าคน เขามักจะตัวสั่น หายใจไม่สะดวก ไปจนถึงการที่เขาน้ำหนักลดลงอย่างมากหลังจากถ่ายทำจบ
4. Voice 2 (2018) และ Voice 3 (2019)
ต่อเนื่องมาถึงซีซั่นที่ 2 ของเรื่อง Voice (2018) และ Voice 3 (2019) ในคราวนี้ ซีรีส์ได้นำเสนอผู้ป่วยไซโคพาธคนใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในคราบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้ อีจินอุค มารับบทเป็น โดคังอู ที่ปรากฏตัวทั้งสองซีซั่น นอกจากคงเส้นเรื่องหลักอย่างการช่วยเหลือเหยื่อผ่านการติดต่อทางสายด่วนแล้ว ในซีซั่นนี้ยังเพิ่มปมอาการผิดปกติของโดคังอูเข้ามา แถมยังขยี้ประเด็นการต่อสู้ภายในจิตใจของเขาว่า ระหว่างหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ กับอาการป่วยที่รุกคืบเข้ามาทุกโสตประสาท โดคังอูจะสามารถเอาชนะและรอดพ้นจากการกลายร่างเป็นฆาตกรได้หรือไม่
ตอนนี้แฟน ๆ ก็ได้แต่รอลุ้นกันว่า ใน Voice 4 ที่มีกำหนดออกอากาศให้ได้ชมกันในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการหยิบประเด็นผู้ป่วยไซโคพาธที่ซีรีส์เรื่องนี้เคยเล่าได้ดีมาตลอด 3 ซีซั่นมาพูดถึงอีกครั้งหรือไม่
5. Psychopath Diary (2019)
ขอพักเบรกความดาร์กจากเรื่องก่อน ๆ สักเล็กน้อย ตัวฆาตกรไซโคพาธใน Psychopath Diary (2019) ซีรีส์ที่เราว่าเล่าเขาเล่าประเด็นนี้ได้ซอฟต์กว่าใคร (ไม่มากก็น้อย) เริ่มเรื่องด้วย ยุกดงชิก (รับบทโดย ยุนชียุน) ชายขี้ขลาดที่เกิดเหตุให้ความจำเสื่อมชั่วขณะ และฟื้นมาพร้อมหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเขาคือฆาตกรไซโคพาธ ซึ่งแอบสปอยล์ให้ฟังว่า หลักฐานเหล่านั้นไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของ ซออินอู (รับบทโดย พัคซองฮุน) คนร้ายตัวจริงที่ยังหลบอยู่หลังม่านได้อย่างแนบเนียนต่างหาก
6. Strangers From Hell (2019)
แม้จะออกตัวว่าชอบดูซีรีส์ดิบ ๆ ดาร์ก ๆ มากขนาดไหน แต่เราก็ยกให้ซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นแท่นนัมเบอร์วันเรื่องความหลอน Strangers From Hell (2019) เล่าเรื่องของหอพักราคาถูกในมุมอับแห่งหนึ่งของกรุงโซล ซึ่งประกอบไปด้วยเพื่อนข้างห้องที่หาความปกติได้ยากยิ่งกว่าหางานทำในเกาหลี ด้วยงบที่จำกัด ยุนจงอู (รับบทโดย อิมซีวาน) จึงจำใจพักอาศัยอยู่ที่นี่
เขาจึงได้พบกับ ซอมุนโจ (รับบทโดย อีดงอุค) ทันตแพทย์ผู้เป็นเพื่อนร่วมหอที่ (น่าจะ) ปกติที่สุด แต่ว่านั่นคือความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะเขาคือหัวหน้าแก๊งไซโคพาธที่คอยกำกับการฆาตกรรมในหอพักนี้ให้สมบูรณ์แบบและแยบยลที่สุดต่างหาก
7. The Girl Who See Smells (2015)
ลำดับต่อไป ขอเรียนเชิญเจ้าพ่อแห่งความดิบ เถื่อน และซาดิสม์ อันดับต้น ๆ ของวงการอย่างคุณพี่ นัมกุงมิน โดยผลงานแรกที่จะแนะนำให้รู้จักคือเรื่อง The Girl Who See Smells (2015) ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเว็บตูนเรื่องยอดนิยมในเกาหลี เล่าเรื่องของหญิงสาวที่มีความสามารถพิเศษในการรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ จากกลิ่น พร้อมกับตำรวจหนุ่มผู้สูญเสียน้องสาวไปจากคดีฆาตกรรมบาร์โค้ด ชื่อเรียกเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องที่ยังตามรอยฆาตกรไม่เจอ ทั้งสองคนจึงมาร่วมมือกันเพื่อใช้ทักษะที่มีสะสางคดีนี้
ในเรื่องนี้ นัมกุงมิน รับบทเป็น ควอนแจฮี เชฟหนุ่มหน้าตาสดใส แต่แฝงไปด้วยการมีงานอดิเรกเป็นฆาตกร แถมยังเป็นฆาตกรที่วางแผนแนบเนียน เยือกเย็น และไร้ร่องรอย ไม่ปล่อยให้ตำรวจตามเจอ ซึ่งในเรื่องนี้ นัมกุงมินโดดเด่นมากเรื่องการแสดงออกทางสีหน้าและแววตา ในขณะที่เป็นเชฟกับฆาตกร เขาถ่ายทอดออกมาได้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรียกได้ว่าถึงร้ายก็รักค่ะเชฟ!
8. Remember (2016)
ผลงานต่อไป นัมกุงมิน ก็ยังคงครองตำแหน่งฆาตกรต่อเนื่องประจำวงการซีรีส์เกาหลีได้อย่างไม่มีใครมาโค่น กับผลงานเรื่อง Remember (2016) เรื่องราวของหนุ่มอัจฉริยะที่มีความสามารถพิเศษคือการจดจำภาพเหตุการณ์ได้ชัดเจน เมื่อถึงคราวที่พ่อแท้ ๆ ถูกใส่ร้ายว่าเป็นฆาตกร เขาจึงต้องรับหน้าที่ทนายความทวงคืนความยุติธรรม พร้อมกันนั้นก็ต้องเร่งสืบหาคนร้ายตัวจริงมารับโทษ เพราะความทรงจำของเขาจะค่อย ๆ หายไปพร้อมกับอาการอัลไซเมอร์ที่รุนแรงขึ้น
ในเรื่องนี้ นัมกุงมิน รับบทเป็น นัมคยูมัน ทายาทธุรกิจที่มีเบื้องหลังคือความผิดปกติทางจิตใจ ทำให้เขาโหดร้ายและเกรงกลัวพ่อตัวเองมากกว่ากฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่า นัมกุงมินถ่ายทอดบทบาทของฆาตกรในคราบลูกชายตระกูลใหญ่ออกได้อย่างดีเยี่ยม
9. Hello Monster หรือ I remember you (2015)
รายชื่อต่อไป อาจเป็นนักแสดงที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าเขาจะรับบทเป็นฆาตกรโรคจิตได้ นั่นก็คือ พัคโบกอม ใช่ค่ะ น้องโบกอมคนดีคนเดิมของพวกเรานั่นแหละ ครั้งหนึ่งเขาเคยรับบทเป็น อีมิน น้องชายผู้มีพี่ชายเป็นนักวิเคราะห์อาชญากรรม ซึ่งในวัยเด็ก พ่อของพวกเขาถูกฆาตกรรม และฆาตกรก็นำตัวน้องชายไปด้วย เมื่อกลับมาเจอกันตอนโตเป็นผู้ใหญ่ เรื่องราวและปมฝังใจในอดีตจึงค่อย ๆ ย้อนกลับมาหาพวกเขา
สำหรับตัวละครอีมินที่พัคโบกอมแสดงนั้น เป็นตัวอย่างของผู้ป่วยไซโคพาธที่เกิดจากปัจจัยภายนอก คือความทรงจำอันโหดร้ายในอดีตที่ไม่ได้รับการเคลียร์ใจให้กระจ่าง มิหนำซ้ำ เขายังถูกเลี้ยงดูโดยฆาตกรท่ีมุ่งแต่ทำลายความเชื่อและศรัทธาที่เขามีต่อพี่ชาย ทั้งหมดจึงส่งให้อีมินเป็นตัวละครฆาตกรที่น่าสงสารมาก ๆ อีกคนหนึ่ง
แน่นอนว่า พัคโบกอม ถ่ายทอดมันออกมาได้ดีมาก และซีรีส์เรื่องนี้เป็นผลงานที่ทำให้โบกอมได้รับรางวัล KBS Award Supporting Actor Award ปี 2015 ซึ่งเป็นรางวัลแรก ๆ ในฐานะนักแสดงของเขาอีกด้วย
เป็นยังไงกันบ้างกับทั้ง 10 เรื่องที่เรารวบรวมมา หวังว่าหลายคนที่ชอบการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับฆาตกรไซโคพาธจะไปตามเก็บเรื่องต่าง ๆ กันนะ
ติดตามข่าวสารและสิ่งที่น่าสนใจจากเราได้ที่
Facebook Fanpage : facebook.com/korseries
Twitter : twitter.com/korseries
Website : korseries.com
Youtube : Korseries
ขอความกรุณาไม่คัดลอก-ดัดแปลงบทความไปโพสต์ลงในเพจ-สำนักข่าวอื่น รวมถึงไม่นำบทความไปอ่านลง YouTube หรือแพลตฟอร์มใด ๆ โปรดช่วยแชร์เป็นลิ้งก์นะคะ ♡